ออง ซาน ซูจี ฝากทางการไทยดูแลแรงงานข้ามชาติ

ประชาไท 1 มิถุนายน 2555 >>>




ด้าน "เฉลิม" ยืนยันรัฐบาลไทยร่วมมือดูแลแรงงานชาวพม่าตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ ส่วนภารกิจช่วงบ่ายออง ซาน ซูจีไปสมุทรสาครวันที่สอง เยี่ยมศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า เผยห่วงปัญหาแรงงานที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน-นายหน้าเรียกเก็บเงินค่าทำบัตร

"ซูจี" เข้าพบ "เฉลิม" หารือเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ภายหลังจากภารกิจเยี่ยมแรงงานชาวพม่าที่มหาชัยเมื่อ 30 พ.ค. นั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า นางออง ซาน ซูจี ส.ส.พม่า และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับการดูแลแรงงานชาวเมียนมาร์ในไทย
โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยินดีเนื่องในโอกาสที่นางออง ซาน ซูจี ได้เดินทางมาเข้าร่วมงาน World Economic Forum on East Asia ในประเทศไทย รวมทั้งแสดงความยินดีที่มีชาวพม่าที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ไปร่วมต้อนรับการเดินทางมาเยือนไทยของนางซูจีเป็นจำนวนมาก
ซึ่งทางรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการไทย ในฐานะที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานชาวพม่า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฏหมาย ให้สามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ด้วยการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการขอรับการตรวจลงตราให้สามารถทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฏหมาย นอกจากนี้จะได้มีการพิจารณาอนุญาตให้แรงงานชาวพม่าสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในไทย ในลักษณะไปเช้าเย็นกลับตามบริเวณชายแดน
ซึ่งในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลเรื่องสวัสดิการของแรงงานชาวพม่า หากเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติและจดทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะสามารถรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้เช่นเดียวกับแรงงานไทย นอกจากนี้ รัฐบาลจะได้เร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาร์ ทั้งการมอบทุนการศึกษา และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข
ส่วนนางออง ซาน ซูจี ได้ขอให้ฝ่ายไทยดูแลแรงงานชาวพม่าที่ทำงานในไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลไทย และพร้อมร่วมมือกับนางซูจีในการดูแลแรงงานชาวพม่าตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานพึงได้รับ อาทิ ค่าจ้าง การรักษาพยาบาล และการศึกษาของบุตร
ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันการให้ความสำคัญในการดูแลผู้หนีภัยจากประเทศพม่าที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย เนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำในพม่า โดยจะให้การดูแลกลุ่มชาวพม่าดังกล่าวตามหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้มาตรฐานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ จนกว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยจะมีความพร้อมทั้งด้านการศึกษาและการอาชีพและสามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างภาคภูมิ

เยี่ยมศูนย์พิสูจน์สัญชาติฯ พร้อมขอทางการไทยแก้ปัญหาเรื่องนายหน้า

ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. นางออง ซาน ซูจี ได้เดินทางมายังศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ในโครงการเคหะเอื้ออาทรท่าจีน ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีชาวพม่าหลายพันคนรอต้อนรับ ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจี ได้เข้าหารือกับนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 20 นาที ก่อนไปเยี่ยมชมจุดบริการทำพาสปอร์ตแก่แรงงานพม่า ซึ่งมีผู้มายื่นขอทำพาสปอร์ตไม่ต่ำกว่าวันละ 500 คน
โดย สำนักข่าวไทย รายงานคำปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี กับแรงงานชาวพม่าที่มารอต้อนรับว่า ที่มาวันนี้ทราบว่าแรงงานพม่ามีจำนวนไม่น้อยที่ถูกเอาเปรียบจากนายหน้าทำบัตรหรือพาสปอร์ตสูงเกินจริง เรื่องนี้จะเร่งหารือกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ขอให้แรงงานพม่าที่มาทำงานในประเทศไทยตั้งใจและขยันขันแข็งทำงาน และรู้ดีว่าทุกคนอยากกลับประเทศ แต่ขณะนี้สถานการณ์ในพม่ายังไม่สงบ ขอให้ทุกคนอยู่ที่ประเทศไทยทำงานให้เต็มที่ เป็นแรงงานที่ดีและรักประเทศไทย อีก 3 ปีข้างหน้าหากพม่ามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ทุกคนจะกลับบ้านได้อย่างอุ่นใจ
คำปราศรัยดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งสร้างความดีใจให้กับแรงงานพม่าอย่างมาก ต่างส่งเสียงเรียกชื่อนางอองซาน ซูจี และปรบมือด้วยความชื่นชม จากนั้นนางออง ซาน ซู จี ขึ้นรถยนต์ส่วนตัวเดินทางกลับ
ด้านผู้ว่าฯ สมุทรสาคร กล่าวว่า นางออง ซาน ซู จี เป็นห่วงมากที่สุดคือ ปัญหาจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และนายหน้าเรียกเก็บเงินค่าทำบัตรแรงงาน จึงขอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแก้ปัญหา