ประชาไท 1 มิถุนายน 2555 >>>
"ขอขอบคุณประชาชน ที่รักความถูกต้องจำนวนมาก ที่ออกมาแสดงออกทางความคิดภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์อยากให้ประชาชนทุกคนที่รักความถูกต้องออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อแสดงให้เสียงข้างมากและรัฐบาลได้รับทราบว่า ประชาชน คนไทย และสังคมไทย ไม่ต้องการกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ"
31 พ.ค. เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 17.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ห้องอาหาร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 เพื่อกำหนดท่าทีหลังจากที่สภาฯ มีมติเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นพิจารณา วาระ 1 ในวันที่ 1 มิ.ย. โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงผลการประชุมว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่ควรเป็นกฎหมายปรองดอง จะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะเนื้อหาของกฎหมายเป็นการล้มล้างอำนาจตุลาการ ล้างให้คนโกง ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะเดินหน้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและคัดค้านในสภาฯ อย่างถึงที่สุด ขณะเดียวกันพร้อมให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านนอกสภา และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ดังกล่าวกับประชาชนอย่างเต็มที่
“ขอขอบคุณประชาชน ที่รักความถูกต้องจำนวนมาก ที่ออกมาแสดงออกทางความคิดภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์อยากให้ประชาชนทุกคนที่รักความถูกต้องออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อแสดงให้เสียงข้างมากและรัฐบาลได้รับทราบว่า ประชาชน คนไทย และสังคมไทย ไม่ต้องการกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ดังนั้นการเดินหน้าในการคัดค้านก็จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในขั้นตอนรับหลักการ ขณะเดียวกันเราพร้อมสนับสนุนเคลื่อนไหวต่อต้านที่ชอบด้วยกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับผ่าน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนทราบดีว่า 2 วันที่ผ่านมาอาจมีพฤติกรรมในสภาที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ แต่ขอบอกว่าถ้าภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียหาย แต่สามารถสกัดกั้นกฎหมายที่ทำลายชาติได้ เราก็ยอมรับที่จะเสียภาพลักษณ์ และต้องขอโทษประชาชนในขณะนี้ว่าเราไม่สามารถสกัดกั้นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบและผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ได้มุ่งล้มล้างรัฐบาล หรือให้กระทบต่อระบบรัฐสภา แต่มุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศ คัดค้านในกรอบของกฎหมาย ไม่มีประโยชน์แอบแฝงในเรื่องนี้ ตรงข้ามกับผู้ที่ผลักดันกฎหมาย ทั้งผู้มีส่วนร่วมในการก่อการจลาจล การก่อการร้าย การทำผิดกฎหมายต่างๆ การทุจริตจนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนที่ถูกยึดทรัพย์ แต่มีตั้งแต่คนในครอบครัว และหัวหน้ารัฐบาล ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับกฎหมายนี้ จึงเป็นเหตุให้รวบรัดไม่ให้เป็นกฎหมายการเงินเพื่อให้นายกฯ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต้องเข้ามาเซ็นรับรอง ที่ผ่านมาเสียงข้างมากพยายามเอาเรื่องเล็กมาบดบังเรื่องใหญ่ ทั้งที่ความจริงคนสุดท้ายที่ควรจะเรียกร้องเรื่องนี้คือพรรคเพื่อไทย เพราะสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องผลักดันกฎหมายนี้เนื่องจากได้กระทำผิดไว้มากมายทั้งแผ่นดิน จึงต้องขอนิรโทษกรรมให้กับตนเอง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของยื่นตีความ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้นคงต้องรอให้กฎหมายผ่านสภาในวาระที่ 3 เสียก่อน เรียกร้องให้นายกฯ เข้ามานั่งฟังการพิจารณากฎหมายนี้และขอให้ตอบว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มีนโยบายชูธงให้มีความปรองดองหมายความว่าอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาช่วง 2 วันที่ผ่านมา ไม่ใช่ความรุนแรงแต่พฤติกรรมหลายอย่างเกิดจากบรรยากาศที่เกิดขึ้น หากประธานฯทำหน้าที่ตามปกติก็จะไม่เกิดปัญหาที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภา ส่วนใครจะรับผิดชอบในความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น ตนคิดว่าคนที่ทำอะไรลงไปต้องรับผิดชอบ พรรคก็ระวังให้สมาชิกได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ในการกระทำของตนเอง ใครที่เป็นต้นตอของปัญหาต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นกบฏ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากถามว่าพรรคเพื่อไทยอยากให้พวกตนออกไปยืนข้างนอกและตะโกนให้เผาบ้านเมืองเลยใช่หรือไม่ มาตรฐานของตนไม่ต่ำอย่างนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปิดกั้นทุกวิถีทาง เราจึงต้องปกป้องบ้านเมือง ซึ่งอาจจะมีอะไรที่กระทบกระทั่งเกินเลยไปบ้างแต่ไม่ถึงขั้นกบฏ เพราะไม่มีใครเผาบ้านเผาเมือง ตั้งกองกำลังติดอาวุธ พรรคเพื่อไทยน่าจะย้อนดูพฤติกรรมของตนเองมากกว่า ส่วนที่ระบุว่ามีการขัดขวางการทำหน้าที่ของประธานสภานั้น ไม่ทราบว่าขัดขวางอย่างไร เพราะขณะนี้เห็นอยู่ว่าสามารถเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ได้แล้ว ส่วนกรณีการสนับสนุนมวลชนในการคัดค้านนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้สนับสนุนมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้ในการอภิปรายในวาระ 1 ส่วนใหญ่จะเน้นประเด็นในเรื่องของความไม่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดรัฐธรรมนูญ การขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยมิชอบ และ พ.ร.บ. นี้มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และจะเปิดโอกาสให้ ส.ส. ทุกคนในพรรคได้มีสิทธิในการอภิปรายอย่างเต็มที่