"มานิตย์" เล็งฟ้อง 9 ตลก. สมรู้ร่วมคิด "บังธิ" ทำปฏิวัติ 19 ก.ย.

แนวหน้า 12 มิถุนายน 2555 >>>




ที่รัฐสภา นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาใต้ แถลงข่าวกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชั่วคราวให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ3 โดยนายมานิตย์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเป็นศาลที่ตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งป็นรัฐธรรมนูญของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติ หรืออีกนัยหนึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน เพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ตราโดยสภาของ พลเอกสนธิ ซึ่งเรียกว่า "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ซึ่งมิใช่สภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข
นายมานิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลจำนวน 9 คน จึงไม่ได้มีอำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจของพลเอกสนธิที่กำหนดขึ้นเองตามสภาพบังคับ จึงทำให้ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีใดๆ
นายมานิตย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามวันนี้ (12 มิ.ย.) จะให้ทางทีมงานไปแจ้งความที่สน.ดุสิตกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้อหาแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานผิดประมวลกฏหมายอาญามาตรา 145 และข้อหากบฏ หากตรวจสอบพบว่า ได้สมรู้ร่วมคิดกับพลเอกสนธิในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และมีการตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ทั้งนี้ เห็นด้วยหรือไม่กับความคิดของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ที่ระบุว่าการลงมติวาระ 3 เลื่อนออกไปสมัยประชุมหน้า ว่า เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของพลเอกสนธิที่ไม่มีใครยอมรับ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องถามประชาชนโดยการทำประชามติว่าควรจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญของพลเอกสนธิหรือไม่ หากยกเลิกก็ค่อยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่