1 ใน 7 นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ "ปูนเทพ ศิรินุพงศ์" ย้ำอำนาจ"สถาปนารัฐธรรมนูญ"

มติชน 12 มิถุนายน 2555 >>>




เป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไม่น้อย เมื่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้รับ 5 คำร้องไว้วินิจฉัยว่าการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
พร้อมกันนี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ยังมีคำสั่งแจ้งไปยังรัฐสภาให้รอการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าจะศาลจะมีคำวินิจฉัย
"สภา" ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ถูกกล่าวหาที่ว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
การตีความมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความเห็นทางกฎหมาย 2 ขั้วอย่างได้ชัด
เมื่อฝ่ายหนึ่ง "ชูธง" ว่าต้องให้ "อัยการสูงสุด" (อสส.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเท่านั้น หาก "อสส." เห็นว่ามีมูลก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง "โต้แย้ง" ว่า มาตรา 68 บัญญัติให้ผู้ทราบการกระทำล้มล้างการปกครองดำเนินการยื่นเรื่องได้ 2 ทาง คือ
1. "อสส." และ
2. ยื่นคำร้องต่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" โดยตรงได้
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 1 ใน 7 นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ "มติชน" หลังจาก "คณะนิติราษฎร์" ออกแถลงการณ์กระตุก "รัฐสภา" ให้ปฏิเสธคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งการขยายเขตอำนาจของศาล
"นักวิชาการหนุ่ม" จากรั้วแม่โดม อธิบายปรากฏการณ์ตาชั่ง "ตุลาการ" สั่นสะเทือนครั้งนี้ ภายใต้การประลองกำลังกันระหว่าง "นิติบัญญัติ" และ "ตุลาการ" ว่าส่งผลอะไรต่อการบังคับใช้กฎหมายสูงสุด

การตีความตามมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้กำลังเป็นวิกฤตต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่

ครั้งนี้ชัดเจนว่าผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยปกติเวลามีการถกเถียงกฎหมายจะขัดหรือไม่ขัด จะมีองค์กรตุลาการคอยชี้อยู่ แต่กรณีนี้ปัญหาเกิดจากศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเอง สิ่งที่ทำได้คือเราต้องตีความเบื้องต้นโดยประกาศว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่ชอบ ไม่มีผลผูกพัน กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของตัวเอง

โดยหลักการมาตรา 68 มีไว้บังคับใช้กรณีใด

มาตรา 68 เป้าหมายหลักคือเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เมื่อรู้ว่าจะมีคนใช้กำลังยึดอำนาจ ให้ผู้ทราบเรื่องร้องต่อ อสส.แล้วตรวจสอบความจริงก่อนจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกบฏ ถ้ามีการตระเตรียม ถือว่าเป็นกบฏแล้ว บางขั้นตอนอาจไม่ชัดเจนว่าทำผิดอาญา แต่การวางแผนหรือสมคบคิดกัน สามารถยื่นเรื่องต่อ อสส. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หาก อสส. เห็นว่ามีมูล สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด อสส. เห็นแย้งว่ากรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามมาตรา 68 แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังรับวินิจฉัยอยู่


ถ้าเริ่มจากหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องได้ตั้งแต่ต้น คนที่จะฟ้องได้คือ อสส. เท่านั้น ซึ่งเราต้องยอมรับว่า อสส.มีดุลพินิจว่าการร่างรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ โดย อสส. มีสิทธิไม่ยื่นต่อศาลได้ ทุกองค์กรของรัฐมีอำนาจการตัดสินใจเท่ากัน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ากรณีนี้หาก อสส. เห็นว่ามีข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่าไม่เข้า ถือว่าที่สุดที่ศาล เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินต้องเคารพ แต่การตัดสินต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายด้วย กรณีปัญหาศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยไม่มีอำนาจตั้งแต่ต้น

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังถูกมองว่าใช้อำนาจตุลาการเข้ามาล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติ

กรณีนี้ไม่ใช่องค์กรตุลาการเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญจะกำหนดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ 3 อำนาจถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่กรณีนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เหนือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยสามารถแก้ตัวบทของอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการได้ทั้งหมด ทฤษฎีวิชากฎหมายอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เหนืออำนาจที่รับมาจาก 3 อำนาจ การที่ตุลาการเข้ามาล่วงล้ำนั้นไม่ใช่ล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้ามาล่วงล้ำอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งสูงกว่าอำนาจตุลาการเอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในทางทฤษฎีจะมีคำที่ใช้กันว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" จะใหญ่ที่สุด เพราะเชื่อมโยงกับอำนาจประชาชนผู้ให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้ามาล่วงล้ำฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ศาลเข้ามาล่วงในแดนที่สูงกว่าตัวเอง ซึ่งภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้องค์กรตุลาการเข้ามาคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

แสดงว่าตุลาการไม่มีอำนาจในการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะเป็นอำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสนอให้ประมุขของรัฐรับรอง ถ้ารัฐธรรมนูญจะประสงค์ให้ศาลเข้ามาควบคุม ต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมสูงกว่าอำนาจตุลาการ ดังนั้น อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถอาศัยอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบอำนาจที่สูงกว่าได้ การที่ศาลเข้ามาคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีข้อโต้แย้งว่าจะขัดต่อลำดับชั้นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

รัฐสภาสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

ทางกฎหมายถือว่าทำได้ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบและขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยสถานะไม่มีผลทางกฎหมาย ถ้าเราดูโครงสร้างจะหมายถึงคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น คำวินิจฉัยที่ไม่ชอบจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ เมื่อไม่สามารถบังคับใช้ได้ก็ไม่มีคำวินิจฉัย อย่างนี้รัฐสภาสามารถดำเนินการตามปกติที่ค้างอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ต่อให้สุดท้ายศาลสั่งออกมา ก็เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่กระทบต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ขณะนี้ อีกทั้ง กรณีนี้เป็นการฟ้องโดยรัฐสภา ไม่ใช่การกระทำของบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด โดย ส.ส. ลงมติในรัฐสภา แยกจากสมาชิกพรรคการเมือง เขาทำหน้าที่ เขาไม่ได้ดำเนินการตามการครอบงำพรรคการเมือง เป็นการทำงานในนามรัฐสภาไม่ใช่พรรคการเมืองไม่ได้เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง
การแก้ไขทำได้อย่างเดียวคือต้องรัฐสภา สุดท้ายรัฐสภาต้องประกาศว่าคำสั่งศาลไม่ชอบไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา ส่วนรัฐสภาจะปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ หรือจะลงมติเลย เป็นเรื่องของรัฐสภา การตัดสินใจยังเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วนๆ ที่ถือเสมือนว่าคำสั่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐสภาอาจไม่ลงมติในวันนี้ก็ได้ แต่รัฐสภาจะรอลงสมัยหน้า ซึ่งเราถือว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาไม่เกี่ยวอะไรกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลจะทำอย่างไรเพื่อลดกระแสต่อต้านคำสั่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบ โดยให้เหตุผลว่าไม่เข้ามาตรา 68 เงื่อนไขการฟ้องมิชอบ เพราะว่ากรณีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาล การฟ้องไม่ชอบสุดท้ายรับคดีนี้ไว้พิจารณาไม่ได้

ดูแล้วศาลคงไม่กล้าเพิกถอนคำสั่งตัวเอง

ถ้าผิดจริงก็ต้องกล้ายอมรับผิด

แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้ผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญมาให้สัญญาประชาคมต่อศาลว่าจะไม่มีการล้มล้างการปกครอง

ปกติผมไม่เคยเห็นศาลที่ไหนมาพูดเพื่อให้คนมายืนยันกับศาล สาบานกับศาล หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ สมมุติกรณีมาตรา 68 เกิดขึ้น ศาลต้องไต่สวนบนสิ่งที่มีอยู่แล้ว ว่าตัวร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอว่ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ไม่ใช่ศาลต้องล้วงลึกหรือหาข้อมูล องค์กรตุลาการต้องวินิจฉัยสิ่งที่มีอยู่ กรณีนี้เป็นการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ชัดเจนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองและไม่เปลี่ยนรูปแบบของรัฐ บทบาทศาลที่ออกมาแถลงข่าวเชิงรุก สุดท้ายศาลกังวลอะไรหรือเปล่า มีข้อเท็จจริงที่ศาลคิดเอาเองหรือรับรู้เอง แต่ศาลไม่ได้แถลงทั้งหมด ประธานศาลรัฐธรรมนูญเอาตรงไหนมาคิดว่าจะมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นว่าจะมีการล้มล้างการปกครอง มาตรา 291 ไม่เข้าเกณฑ์มาตรา 68 ที่ห้ามไว้เลย

ฝ่ายตุลาการอาจกังวลในอนาคตที่จะถูกฝ่ายการเมืองจ้องรื้ออำนาจศาลหรือไม่จึงสั่งให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ศาลกังวลได้ ความกังวลต้องแยกออกจากเขตอำนาจตามกฎหมาย กังวลว่าจะล้มล้างการปกครองต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ที่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ เรื่องการรื้อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ทำได้ไม่ต้องห้ามหากเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือศาลปกครองไม่มีประสิทธิภาพ จะยุบไปตั้งเป็นแผนกคดีในศาลยุติธรรมก็ได้ เราจะรื้อปรับเขตอำนาจศาล รื้อที่มาตุลาการ สร้างความชอบธรรมประชาธิปไตยก็ทำได้เลย ไม่มีข้อห้ามว่าองค์กรตุลาการจะแตะต้องไม่ได้