มองทะลุโหวตแก้ รธน. วาระ 3

ข่าวสด 11 มิถุนายน 2555 >>>


แม้นักวิชาการจำนวนมากเห็นว่าคำสั่งให้ระงับการโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีถึงรัฐสภาเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ พ้องกับความเห็นของกฤษฎีกา รวมถึงคำแถลงของอัยการที่มีขึ้นล่าสุด
กระนั้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็ขอเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบอีก 2-3 วัน ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือยอมรับคำสั่งศาลฯ
ท่ามกลางกระแสกดดันจากพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงที่ต้องการให้โหวตวาระ 3 เร็วที่สุด
ขณะที่ฟากพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมยืนยันเจตนาไม่ร่วมโหวต ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว
การทิ้งช่วงเวลาโหวตออกไปอีกจากที่เลื่อนมาแล้วเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (5) จะระบุเพียงให้การโหวตวาระ 3 ต้องทิ้งช่วง 15 วันจากวาระ 2 โดยไม่กำหนดกรอบเวลาต้องเสร็จสิ้นเมื่อไร
แต่การทอดเวลาออกไปอีก ผิดจากประเพณีปฏิบัติหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอย่างไร

นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติฯ จุฬาฯ


การโหวตวาระ 3 ที่กฎหมายกำหนดให้ทิ้งช่วงจากวาระ 2 นาน 15 วัน มีความหมายว่าจะโหวตก่อน 15 วันไม่ได้ เพราะต้องการให้คนที่จะโหวตวาระ 3 คิดกันอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ ก่อนโหวต เพราะถ้าจะโหวตวันเดียวกับวาระ 2 ก็จะขาดความรอบคอบ และอาจกลายเป็นพวกมากลากไป
การโหวตหลัง 15 วันไปแล้ว ทำได้ ไม่มีปัญหา ที่กฎหมายกำหนด 15 วัน เพื่อไม่ให้มีการโหวตก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายกำหนดไว้ 15 วัน ปกติแล้วก็ไม่ควรไปทำหลังจากนี้อีก ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็น เช่น น้ำท่วมเป็นเดือน
เรื่องนี้อาศัยหลักกฎหมายทั่วไปที่เคยมีกฤษฎีกาตีความ เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ใช้เวลายาวนาน หรือการตั้งอธิการบดี ม.รามคำแหง ก็มีคนพยายามโต้ว่าทำไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็หมายความว่าไม่ต้องมีอธิการบดีหรือ
ดังนั้นเมื่อกฎหมายไม่ได้ตีกรอบให้เสร็จ ไม่เสร็จก็น่าจะได้ มีปัญหาก็หารือกฤษฎีกา แต่โดยหลักอย่างไรแล้วก็ต้องทำ ให้เสร็จ แต่กรณีนี้ท้าทายประธานรัฐสภาเมื่อชัดเจนว่าต้องโหวตเมื่อพ้นไป 15 วัน ถ้าเกินไปจากเหตุผลน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือมีม็อบมาปิดหน้าสภาเป็นเดือนก็เลื่อนออกไปได้
แต่หากประธานไม่บรรจุวาระให้มีการโหวตเอง เป็นเรื่องไม่สมควร วันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้คำสั่งและการดำเนินการของประธานสภาในการเข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐสภา กฎต้องเป็นกฎ หากพ้นจาก 15 วันมาแล้วยังโหวตไม่ได้ก็ควรรีบ เพราะยิ่งทิ้งช่วงสังคมก็จะเกิดปัญหา
คนเป็นอาจารย์ก็สอนหนังสือลำบาก เพราะตำราบอกอำนาจสูงสุดในการจัดทำรัฐธรรมนูญใครยับยั้งไม่ได้ แต่กรณีนี้ทำให้กระบวนการหยุดชะงัก เกิดปัญหาระยะยาว กลายเป็นสภาต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือ
ยืนยันคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายรองรับ เหมือนการสั่งให้คนอื่นปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้โดยที่ตัวเองไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งได้บางกรณี แต่กรณีนี้สั่งไม่ได้

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีต ส.ว.ตาก


การให้หยุดไว้ 15 วัน ก่อนโหวตวาระ 3 เบื้องหลังคือให้ทุกฝ่ายคิดอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อเข้าสู่วาระ 3 แล้วคือการให้ออกเสียงโหวตอย่างเดียว ไม่มีการพิจารณาใดๆ อีก และเมื่อพ้นจาก 15 วัน แล้วจะโหวตวันไหนก็ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ตีกรอบไว้
ส่วนใหญ่ก็จะโหวตทันที ไม่ควรทิ้งเวลาเนิ่นนาน การทิ้งเวลาผลกระทบในแง่กฎหมายไม่มี แต่ในแง่การเมืองถ้านานอาจมีปัญหาเรื่องคุมเสียง ดังนั้นเมื่อเห็นว่าเหมาะก็โหวตเลย จะได้ไม่คาราคาซังและเป็นการยืนยันของรัฐสภาถึงอำนาจของตัวเอง
การที่ประธานรัฐสภาไม่ให้โหวตในทันทีหลังอัยการแถลงก็ถือว่าไว้หน้ากันแล้ว เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะที่อัยการแถลงความเห็นถือว่าหักกันเลยกับศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การทิ้งช่วงก่อนโหวตเป็นการดึงจังหวะรอให้เย็นลง ถือว่าถูกต้องเพราะสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน และต้องไว้หน้ากันบ้าง
แต่ที่เป็นห่วงคือต้องรักษาสถานะของตัวเองให้ได้ ว่าสิ่งที่รัฐสภาทำไม่ใช่เรื่องผิด ต้องให้ชัดเจน
ถ้าโหวตอาทิตย์นี้ก็ทำได้ เพราะหากเนิ่นนานอย่าลืมว่าอีกฝ่ายก็พยายามช่วงชิงกันอยู่ หากหยุดรอจนไต่สวนเสร็จยิ่งหนักไปใหญ่ เท่ากับยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญโดยปริยาย

มานิตย์ จุมปา
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายแล้ว แต่กลายเป็นเรื่องการเมืองว่าตัวประธานรัฐสภาจะเลือกดำเนินการอย่างใด จะไม่ทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือทำตาม เพราะศาลรัฐธรรมนูญอ้างมีคดีอยู่ในศาล
หากมองในแง่ดีเพื่อประนีประนอม ไม่ให้เกิดปัญหา อาจคิดได้ว่ารอไปอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหา
แต่ปัญหาอยู่ที่การดำเนินการของรัฐสภายังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่มีการลงมติถึงที่สุด ตามกฎหมายระหว่างที่กระบวนการกำลังดำเนินอยู่นี้ไม่มีองค์กรใดเข้ามาแตะต้องรัฐสภาได้ ต้องรอให้พ้นกระบวนการของรัฐสภาไปก่อน
แต่กรณีที่เป็นข้อพิพาทในขณะนี้เรื่องยังคาราคาซังอยู่ในวาระ จึงเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับประธานสภา
มาตรา 68 ค่อนข้างกว้าง แต่รวมถึงการเบรกการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเชิงโครงสร้างที่มีการแบ่งแยกอำนาจ มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเกินไป
เมื่อรัฐสภาใช้อำนาจรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีคนร้องมาแล้วและเป็นเรื่องสำคัญ จะมีอะไรที่จะเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ มองว่าเป็นเจตนาดีของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าควรไต่สวนดู ท้ายที่สุดอาจยก คำร้องก็ได้
แต่หากทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง มีคำถามว่าแล้วเป็นอำนาจของศาลหรือไม่ ต่อไปรัฐบาลต้องเจอคำสั่งแบบนี้และต้องปฏิบัติตามอีกหลายเรื่อง ถ้ายอมทำตามก็เท่ากับรัฐสภายอมให้ศาลก้าวเข้ามาได้ ยอมรับว่าศาลสั่งได้
ที่กฎหมายเขียนให้ทิ้งช่วงการโหวตจากวาระ 2 ไปสู่วาระ 3 จำนวน 15 วัน เพื่อให้สมาชิกมีเวลาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน แต่ถ้าเลย 15 วัน ไปแล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้
ประเด็นสำคัญข้อพิพาทเช่นนี้ จะมีการประนีประนอมหรือยืนยันหลักการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ
ถ้าประนีประนอมยอมรับ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจไปโดยปริยายและจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป เวลารัฐบาลพิจารณาเรื่องใดแม้ยังไม่ลงมติจนถึงที่สุด ก็ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้อำนาจเบรกการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติได้
เรื่องวันโหวตหากพบกันครึ่งทาง ประธานรัฐสภาอาจถอยก้าวหนึ่งเพื่อฟังเสียงของนักวิชาการและนักกฎหมายว่าจะโน้มเอียงไปทางไหน
แต่ไม่ว่าจะโน้มเอียงไปทางไหนก็จะเสียเปรียบ เพราะอาจถูกมองว่าปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ สภาจึงไม่จำเป็นต้องรอฉันทามติ และเรื่องนี้เป็นปัญหาการตัดสินใจของสภา ไม่ใช่ตัวประธานคนเดียว สภาต้องดำเนินการ