เผือกร้อนกระบวนการยุติธรรม

คมชัดลึก 11 มิถุนายน 2555 >>>




   "จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนของคณะรัฐมนตรีและ ส.ส.จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วปรากฏว่าได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 ทุกประการ และมีการพิจารณาญัตติ ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 (16) แล้ว การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช...กำหนดให้มี สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการอันเป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 และจากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ไม่ได้มีเจตนาหรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68”
นี่คือเหตุผลที่ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ทำความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เมื่อมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ส.ว. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68
ขณะที่เหตุผลของอัยการสูงสุดครั้งนี้ ได้แจกแจงอำนาจของตัวเองในการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไว้อย่างละเอียดว่า อัยการสูงสุดมิใช่เพียงผู้ที่ต้องแสวงหาหลักฐานตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เขายังมีอำนาจวินิจฉัยด้วยว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นมีมูลเพียงพอหรือไม่ มิใช่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเองทันที เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสวนทางหักล้างคำสั่งรับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผู้ยื่นเรื่องโดยตรงไปก่อนหน้า ซึ่งไม่ผ่านขั้นตอนของอัยการสูงสุด ที่บัญญัติในมาตรา 68 เป็นครั้งแรก
อำนาจการวินิจฉัยการกระทำตามมาตรา 68 จึงกลายเป็นชนวนที่จุดประกายไฟลุกโชนในกระบวนการยุติธรรมต่อการใช้อำนาจตุลาการจนสังคมต้องเกิดความคลางแคลงใจว่า จะฟังใครระหว่างศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดของประเทศ กับอัยการสูงสุด ฐานะทนายแผ่นดินที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้เช่นกัน
ขณะที่วันนี้ ทั้งอัยการสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับประสบชะตากรรม ที่มีผู้จะยื่นชื่อถอดถอนจากตำแหน่ง จากการปฏิบัติตามหน้าที่
เมื่อเกิดคำถามว่า...จะฟังใครในการตีความกฎหมาย ? ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ยังบังคับใช้กันอยู่ บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำและมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด สุดท้ายต้องฟังศาลใช่หรือไม่..?
เพราะหากฝ่ายการเมืองจะอ้างความเห็นของอัยการสูงสุดไปปฏิบัติ เดินหน้าพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อให้จบ ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรับรองเรื่องการรับผิดโดยอ้างคำสั่งอัยการสูงสุดไว้ หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามาตรา 68
ขนาด นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และเลขานุการกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการเรื่องนี้ ก็ยังตอบไม่ได้ชัดเจนในการแถลงข่าวเรื่องนี้ว่าจะมีกฎหมายใดรับรองให้สภาใช้ความเห็นของอัยการสูงสุดหรือไม่ แต่อัยการโยนให้เป็นเรื่องของสภาเอง ที่จะคิดและรับผิดชอบหากจะใช้ประโยชน์จากความเห็นนั้น แถมอัยการยังออกตัวไม่ขอก้าวล่วงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่น
แม้ฝ่ายอัยการตั้งหลักที่จะไม่ก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าสนใจ คือ กระบวนการทำความเห็นของอัยการสูงสุด ที่เป็นขั้นตอนหนึ่งซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 68 กลับมีการวินิจฉัยลักษณะการกระทำของฝ่ายการเมืองที่ถูกกล่าวหาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญไว้อย่างละเอียดยิบ จะกลายเป็นชี้นำสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยหรือไม่...?
ขณะที่ความเห็นของอัยการ หากสภายังกล้าๆ กลัวๆ ที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อผลักดันการลงมติวาระ 3 แต่อย่างน้อยก็อาจกลายเป็นการชี้ช่องให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาใช้เป็นประเด็นต่อสู้ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้แน่ อย่างที่สังคมส่วนหนึ่งเกิดความสงสัยว่า อาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอก
เมื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการกระทำฝ่ายการเมือง โดยศาลการเมือง ย่อมอดไม่ได้ที่อัยการสูงสุดต้องถูกมองว่า ความเห็นต่างของอัยการกลายเป็นปมขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรม เป็นการโดดเดี่ยวศาลรัฐธรรมนูญ ที่การเมืองและฝ่ายหนึ่งในสังคมกำลังตั้งข้อสงสัยในการใช้อำนาจตุลาการมาจะขัดรัฐธรรมนูญเองหรือไม่
แม้วันนี้ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าใครถูกใครผิด เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองยังไม่มีคำวินิจฉัยที่จะผูกพันทุกองค์กร แต่วันนี้เผือกร้อนการเมืองที่ถูกโยนกระเด็นกระดอน ได้ทำพิษเพิ่มความร้อนฉ่าให้แก่กระบวนการยุติธรรม ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด ที่มีผู้จะรวบรวมรายชื่อเสนอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งซะแล้ว...!!!