วงเสวนา เห็นพ้อง "ยุบพรรค-เพิกถอนสิทธิการเมือง" ทำลาย ปชต.

ประชาไท 28 พฤษภาคม 2555 >>>




"จาตุรนต์" ชี้ 5 ปีผ่านไป นักการเมือง 111 กลับมา แต่กฎหมายยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้งยังอยู่ ชวนถกผลกฎหมายส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทย "พนัส" ชี้กฎหมายพรรคการเมือง เกิดจากความเชื่อนักการเมืองชั่วร้าย "ปูนเทพ" ชี้กรณียุบพรรค เผยให้เห็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ต้องมีผู้กำกับ "ศิโรตม์" แนะเลิกเล่นเกมยุบพรรค ชี้ยิ่งทำให้อำนาจเหนือการเมืองเติบโต

(27 พ.ค.55) ในการเสวนา "ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมือง: ทำลายหรือพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" ที่โรงแรมสยามซิตี้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ในโอกาสที่จะครบ 5 ปีการยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค ความสนใจโดยมากมักเป็นเรื่องที่ว่านักการเมือง 111 คนจะกลับมาทำอะไร อย่างไร เป็น รมต.หรือไม่ จะเกิดความขัดแย้งในพรรคหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะเป็นประโยชน์มากๆ คือเรื่องสาระความหมาย ผลกระทบของการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
จาตุรนต์กล่าวต่อว่า การยุบพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น มีการใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยคณะรัฐประหาร และพิจารณาคดีเป็นกรณีพิเศษทั้งที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรมหรือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทำโดยใช้ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นคำสั่งหลังรัฐประหาร หลังจากการเลือกตั้งเดือน เม.ย. หลายเดือน การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นการใช้อำนาจเผด็จการย้อนหลังลงโทษบุคคล ในฐานะที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับองค์กร โดยที่แต่ละคนไม่มีโอกาสสู้ความใดๆ
จาตุรนต์ชี้ว่า แม้จะครบ 5 ปีที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 จะกลับมา แต่สิ่งที่ยังอยู่คือ การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นระบบกฎหมายที่พัฒนาจากกฎหมายในช่วงหลังรัฐประหาร และถูกเขียนเป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการซื้อเสียง โดยบัญญัติว่าเพียงคนหนึ่งคนทำผิด สมรู้ร่วมคิดหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้ยุบพรรคและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารทั้งหมด ซึ่งนับว่าร้ายแรงกว่าเดิม นี่จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาว่า มาตรการหรือระบบกฎหมายเช่นนี้จะมีผลต่อการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยอย่างไร

พนัส ชี้กฎหมายพรรคการเมือง เกิดจากความเชื่อนักการเมืองชั่วร้าย

ต่อมา ในเสวนาวิชาการหัวข้อ “ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมือง : ทำลายหรือพัฒนาระบอบประชาธิปไตย” พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมือง จนเกิดการยุบพรรคการเมืองใหญ่ไป 3-4 พรรค ฟันธงได้ว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยมากกว่าพัฒนา โดยกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองฉบับแรกคือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุชัดเจนแต่เข้าใจได้ว่าคงไม่ต้องการให้จัดตั้งพรรคการเมืองที่ถือว่ามีวัตถุประสงค์ อุดมการณ์ กิจการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของไทยในขณะนั้น คือไม่ต้องการให้มีพรรคคอมมิวนิสต์ อาจเพราะการเมืองในไทยที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการรณรงค์ต่อต้านการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในไทย หรือขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ที่มีความดุเดือด อย่างไรก็ตาม มองว่า แท้จริงเป็นมูลเหตุจูงใจของฝ่ายที่ครองอำนาจในไทย ที่ไม่ต้องการให้มีพรรคที่ไม่อยู่ในข่ายพึงวางใจได้เกิดขึ้น
สำหรับวิวัฒนาการของกฎหมายพรรคการเมือง ผู้ที่สนใจปัญหาการเมืองจะมีความเห็นแยกเป็นสองข้าง โดยฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่าจำเป็นต้องมี ไม่เช่นนั้นจะคุมไม่ได้ เพราะมีสมมติฐานเบื้องต้นว่าการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย และจนปัจจุบัน กระแสคิดนี้ยังเป็นกระแสหลักในสังคมไทย จากการมีโอกาสร่วมร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แม้ขณะนั้นจะมีบรรยากาศของการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย แต่ ส.ส.ร. เองก็ถูกครอบงำว่าต้องเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกวาดล้างนักการเมืองชั่วร้าย ที่ใช้เงินซื้อเสียงซื้อตำแหน่ง เข้ามาอาศัยตำแหน่งคอร์รัปชั่น
สำหรับกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งนำไปสู่การยุบพรรค โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย ในช่วงหลังรัฐประหาร ในฐานะนักกฎหมาย พนัส มองว่าสิ่งที่น่าสังเกตคือ การตีความของ คปค. และการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อให้พิจารณาคดีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นปัญหาในแง่ข้อกฎหมาย ยังเถียงกันจนปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ไม่ได้เขียนไว้ แต่ คปค. ออกเป็นคำสั่งที่ 27 ให้เพิกถอนได้ กลายเป็นประเด็นว่า เมื่อยุบพรรคแล้ว เพิกถอนสิทธิทางการเมืองได้หรือไม่เพราะจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ซึ่งต่อมา การลงโทษนี้ถูกนำไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เมื่อดูวิวัฒนาการกฎหมายพรรคการเมืองจะเห็นว่าเป็นผลร้ายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ เพราะมีคนไม่กี่คนที่มีอำนาจยุบพรรคการเมือง ได้แก่ นายทะเบียน อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ รวมแล้วไม่เกิน 15 คน ขณะที่พรรคการเมืองมีสมาชิกพรรคจำนวนมาก ได้รับการรับรองสิทธิก่อตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันสิทธิทางการเมือง แต่มีกฎหมายทำลายสิทธิของประชาชนโดยสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพี่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรค การเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิก กระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

พนัส กล่าวเสริมว่า มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 เขียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารแต่ด้วยข้อความว่า "...หรือเพี่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ทำให้ศาลตีความว่าการซื้อเสียงต้องเข้าข่ายถูกยุบพรรคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญด้วย
พนัสกล่าวว่า บางคนบอกว่าเราเอาต้นแบบนี้มาจากรัฐธรรมนูญเยอรมัน ซึ่งหากศึกษาดูจะพบว่าเขาห้ามแต่พรรคนาซีเท่านั้น แต่เราเอามาใช้แบบตีความกว้างไปหมด ไกลมากจนเกินไป ทั้งนี้ ถ้ามีการแก้ไขกฎหมาย ที่ต้องแก้ให้ชัดคือประเด็นว่า ต้องมีเหตุยุบพรรคไหม ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องมีโดยเฉพาะพรรคที่เข้าข่ายเป็นความผิดที่ต้องเข้าสู่คดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่นนี้สมควรถูกยุบ

ปูนเทพ ชี้กรณียุบพรรค เผยให้เห็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ต้องมีผู้กำกับ

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ผลทางการเมืองของคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่าหากเกิดรัฐประหาร องค์กรตุลาการของไทยไม่เพียงแต่ไม่พร้อมจะปฏิเสธ แต่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหาร โดยเห็นได้จากกการที่เอาคำประกาศ คปค. มาใช้เป็นฐานในการตัดสินคดี ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปดูรายละเอียดของคำวินิจฉัย พบว่ามีปัญหาในเชิงหลักการ อาทิ การใช้กฎหมายย้อนหลังทำได้จริงหรือไม่ การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา หรือกรณีที่ยังไม่มีการลงโทษทางอาญาแก่ผู้เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคแต่อย่างใด
ปูนเทพ กล่าวว่า ในต่างประเทศ การยุบพรรค ใช้กับพรรคที่มีแนวทางขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น ในเยอรมนี ที่มีการยุบพรรคสังคมนิยมที่ประกาศตัวว่าสืบทอดอุดมการณ์จากพรรคนาซี ส่วนในไทย ในทางทฤษฎี เหตุของการยุบพรรค คือ เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ขัดกับประชาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือมีการดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แต่ในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองไทย ตั้งแต่ 2490 ถูกยุบเรื่อยมา ไม่ว่าด้วยการรัฐประหาร หรือด้วยปัญหาทางเทคนิค เช่น ไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้รับเลือกตั้ง ยิ่งกว่านั้น หลังรัฐประหาร 2549 การยุบพรรคถูกเอามาใช้ในทางการเมืองโดยเปิดเผย ตั้งแต่ปี 2550 เมื่อเกิดเหตุการณ์กับสมาชิก กรรมการบริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง มักเกิดการเรียกร้องให้มีการยุบพรรค เช่น กรณีอีสวอเตอร์ กรณีจตุพร ซึ่งเขามองว่าเป็นการหยิบยกที่อันตราย โดยสุดท้ายหลายคดีไม่ได้ไปสู่ศาล แต่ถูกเอามาเล่นเป็นประเด็นทางการเมือง
ปูนเทพ กล่าวว่า มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาในเชิงตัวบทคือ การกระทำของบุคคลเพียงคนเดียว อาจเป็นเหตุสู่การยุบพรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่มีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันได้ง่ายๆ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ตั้งพรรคการเมืองและเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย ส่วนปัญหาเชิงอุดมการณ์ เขามองว่า การยุบพรรคนั้นไม่ได้นำไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในความหมายสากล แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เห็นว่าการเลือกตั้งอาจไม่จำเป็น ต้องมีผู้อนุบาลหรือควบคุมกำกับตลอด ในบริบทการเมืองไทยที่ผ่านมา การยุบพรรคจึงเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่กลับช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ปูนเทพ ระบุว่า ในนานาประเทศ ยอมรับให้บุคคลถูกตัดสิทธิเลือกตั้งได้ หากใช้สิทธิของตนกระทบกับหลักเสรีประชาธิปไตย เท่าที่สำรวจ ผู้ที่จะถูกตัดสิทธิต้องเป็นผู้กระทำความผิดเอง เพราะสิทธิเลือกตั้งเป็นคุณค่าพื้นฐานของการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย แต่บ้านเรากลับเหมาเข่ง พอพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกตัดสิทธิหมด โดยไม่สามารถปฏิเสธ หรือขอพิสูจน์ต่อศาลได้เลย การบัญญัติอย่างนี้จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิพลเมืองอย่างร้ายแรง
ปูนเทพ ยกกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเนื้อหาไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่อาจนำมาเทียบเคียงกับการตัดสิทธิ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนี้ได้ โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ พ.ร.บ.ขายตรง ซึ่งระบุว่า กรณีนิติบุคคลถูกตัดสินว่ากระทำผิดกฎหมายอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
เขาชี้ว่า เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการตัดสิทธิทางการเมือง ที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไม่รู้เห็นด้วยถูกตัดสิทธิ โดยไม่มีโอกาสปฏิเสธต่อสู้ โต้แย้งต่อศาลว่าไม่ได้เกี่ยวข้องเพื่อยกเว้นการเพิกถอนสิทธิได้แล้ว ไม่สามารถอธิบายทางตรรกะได้ว่า ทำไมกรณีหนึ่ง ศาลมองว่าไม่ชอบธรรม อีกกรณีจึงบอกว่า เป็นเรื่องปกติของการเมือง ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องว่า ถ้ามีการแก้ หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ควรมีบทบัญญัติลักษณะนี้ไว้อีก เพราะขัดต่อตรรกะ เหตุผลพื้นฐาน ละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ของประชาชนที่มีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง
ปูนเทพ กล่าวว่า การตัดสิทธิเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แม้ไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ แต่เขามองว่าเป็นการพยายามแสดงว่า ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ได้มีอำนาจสำคัญสูงสุด แต่อยู่ใต้องค์กรมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีคำถามว่าองค์กรเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเพียงใด จึงมาตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนคนอื่นได้โดยตรง หากตอบตรงนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าการตัดสิทธิทางการเมืองนี้เป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
ปูนเทพตั้งคำถามว่า เหตุใดนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ถึงทนรอตามเงื่อนไขของตุลาการรัฐธรรมนูญมาตลอด 5 ปี ทั้งที่เมื่อมองตามหลักกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย การตัดสิทธิ์นี้มาจากคำตัดสินของกลุ่มที่มาจากรัฐประหาร พอเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบปกติ ทำไมจึงต้องทนกับสิ่งที่ตกทอดจากคณะรัฐประหาร
   "การที่นักการเมือง 111 หรือสังคมไทยต้องทนกับสภาพ หรือต้องทนกับสิ่งที่ตกทอดจากรัฐประหาร แสดงให้เห็นถึงระบอบที่แท้จริงในการปกครองบ้านเราหรือเปล่าว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีอยู่จริงๆ และระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่ได้คำนึง หรือเคารพอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง และยอมรับอำนาจหรือองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทหาร สถาบันตุลาการ หรือสถาบันใดๆ ก็แล้วแต่ว่า เขาจะเข้ามาเคียงคู่ จะเข้ามาแชร์ ใช้อำนาจร่วม หรือแม้แต่แข่งขันใช้อำนาจนำกับอำนาจสูงสุดของประชาชน"

ศิโรตม์ แนะเลิกเล่นเกมยุบพรรค ชี้ยิ่งทำให้อำนาจเหนือการเมืองเติบโต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การมองเรื่องนี้ต้องมองนอกกรอบของกฎหมาย เพราะเกี่ยวพันกับสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชน โดยชี้ว่าการยุบพรรคมีในทุกสังคม แต่มีข้อแตกต่างคือ สังคมที่เป็นเผด็จการมากๆ มักเกิดขึ้นโดยอ้างเหตุผลทางเทคนิค เช่น พรรคการเมืองจ่ายเงินบำรุงพรรคไม่ครบ ในพม่ามีการยุบพรรค NLD ด้วยเหตุผลเรื่องการจดทะเบียน ในสังคมประชาธิปไตยที่อยู่ในช่วงเผด็จการหรือมีความคลุมเครือด้านเสรีภาพ อย่างออสเตรเลียในช่วงเวลาสงครามเย็น มีการยุบพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากมองว่าอันตราย ส่วนอียิปต์ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมานาน มีการยุบพรรคด้วยข้อหาว่าอดีตประธานาธิบดีมีพฤติกรรมทำลายประชาธิปไตย พัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน บางประเทศมีการยุบพรรคเพื่อมุ่งสู่การเชิดชูหลักการประชาธิปไตย
เขาชี้ว่า ขณะที่การยุบพรรคในบ้านเราถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หลายประเทศ ยุบพรรคโดยมีกติกาบางอย่างกำกับ คือต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมทำลายหลักอธิปไตยของชาติ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงจากความต่างทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง โดยยกตัวอย่างกรณีในสเปน ที่มีการยุบพรรคการเมืองของกลุ่มบาสก์ ซึ่งเป็นฝ่ายเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน ต่อมา พรรคได้ฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปว่ารัฐบาลสเปนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินว่า การยุบพรรคนั้นต้องคำนึงสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว โดยบุคคลมีสิทธิรวมตัวอย่างสงบ จัดตั้งองค์กรทางการเมืองได้ ต่อให้พูดเรื่องความรุนแรง หากไม่มีพฤติกรรม ก็ไม่มีสิทธิยุบ
เนื่องจากหลายสังคมเชื่อว่าเสรีภาพการรวมกลุ่มขั้นพื้นฐานจะละเมิดไม่ได้ เมื่อจะละเมิด ต้องสร้างเงื่อนไขกำกับ คือ ยึดตามหลักกฎหมาย ผลประโยชน์ส่วนรวม และความได้สัดส่วน เพื่อไม่ให้องค์กรตุลาการมีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป กรณีในตุรกี นำไปสู่การพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจศาลกับรัฐสภา ขณะที่ในไทย ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ อีกทั้งเมื่อมีการยุบพรรค ไม่มีการถกเถียงว่า เป็นการปกป้องกฎหมายหรือไม่ หลังจากที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายแล้ว ทั้งยังมองไม่ออกว่าส่วนรวมได้ประโยชน์อะไรจากการยุบพรรค ยกเว้นจะบอกว่าส่วนรวมคือพรรคประชาธิปัตย์และคณะรัฐประหาร ส่วนประเด็นว่าสมควรแก่เหตุไหม ก็ยังไม่มีการถกเถียงที่มากเพียงพอ
ศิโรตม์มองว่า หากจะมีการยุบพรรคที่จำเป็นในไทย อาจเป็นพรรคที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ละเมิดรัฐธรรมนูญ มีพฤติกรรมส่อที่จะขัดกับระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ขณะที่บ้านเรา ยังเน้นไปที่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยตรง พร้อมชี้ว่า ในการยุบพรรคไทยรักไทยขณะนั้น ศาลเขียนคำพิพากษาว่า พรรคไทยรักไทยเป็นอันตรายกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในหลายจุด โดยไม่ได้กล่าวถึงประชาธิปไตยรัฐสภาเลย
ศิโรตม์ กล่าวว่า ในไทย ยังมีการถกเถียงกันน้อยเรื่องฐานะของศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากมองว่าเป็นองค์กรที่เกิดโดยรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตีความตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่ขยายการตีความให้ไกลเกินรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การตีความยุบพรรคจะไม่เกิดขึ้น
ศิโรตม์ เสนอให้พิจารณาด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลต่างๆ เมื่อเขียนออกมาแล้วกำลังสร้าง norm หรือบรรทัดฐานแบบไหนให้สังคม โดยชี้ว่า ที่ผ่านมา บรรทัดฐานในการยุบพรรคที่ถูกสร้างขึ้นคือ การทำให้การยุบพรรคเป็นไปได้ภายใต้การปกป้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีปัญหาว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ทำลายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กลายเป็นว่าที่สุดแล้วการยุบพรรคเป็นไปได้เพื่อสนับสนุนการรัฐประหาร ในนามของการปกป้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการอ้างที่เกินเลยเกินไป
ศิโรตม์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการใช้เรื่องการยุบพรรคเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้เล่นงานพรรคเพื่อไทยกรณีจตุพร และพรรคเพื่อไทยใช้เล่นงานประชาธิปัตย์กลับเรื่องเงินบริจาค ซึ่งอาจคล้ายกรณีมาตรา 112 ที่พอเปิดโอกาสให้ใครฟ้องได้ ก็ฟ้องกันเละเทะ คงต้องฝากพรรคการเมืองให้เคารพประชาธิปไตยรัฐสภา หรือระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นบ้านของตัวเองมากกว่านี้ กติกาไหนที่ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง อย่าไปเล่น สู้ด้วยนโยบาย การแสดงความเห็นดีกว่า อย่าดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยยุบพรรคที่ไม่ชอบ
   "วิธีการแบบนี้ไม่ช่วยให้ระบบพรรคการเมืองของเราเติบโต วิธีการแบบนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเติบโต วิธีการแบบนี้ทำให้อำนาจที่อยู่เหนือพรรคการเมืองเติบโต แต่ไม่ทำให้ประชาธิปไตยรัฐสภาเติบโต และนักการเมืองในบ้านเรา รักบ้านของตัวเองน้อยเกินไป คิดแต่เรื่องของตัวเองมากเกินไป" ศิโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย