ร่างกฎหมายปรองดอง ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ภูมิใจนำเสนอต่อสภา แบบยืนยันว่าไม่ได้รับจ๊อบจากใคร กำลังเป็นร่างกฎหมาย "วัดใจ" คนไทยทั้งชาติ เหมือนที่นักวิชาการแดงบอกว่า ถึงจุดที่คนไทยต้องเลือกว่าจะเดินซ้ายหรือขวา
ส่วนเรื่องที่จะบรรลุถึงประชาธิปไตยในฝัน หรือเพ้อฝันนั่นก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน
แน่นอนว่า กำหนดนัด 30 พฤษภาคม ของกลุ่มพันธมิตรนั้น ก็เป็นดัชนีชี้วัดด้วยเช่นกันว่า อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันจะเอาตัวเลขการชุมนุมครั้งล่าสุดของกลุ่มพันธมิตรมาวิเคราะห์เย้ยหยันก็อาจจะได้ความคลาดเคลื่อนมากกว่าข้อเท็จจริง
เพราะการชุมนุมครั้งนี้ นอกจากจะมีประเด็นการเมืองอันเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ปรองดอง กับคนพิเศษนั่นแล้ว ยังมีเรื่องของความคับข้องคับแค้นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลยิงลักษณ์ ชินวัตร พ่วงมาด้วย
จากน้ำท่วมใหญ่สู่ของแพง แล้วยังมาเร่งเยียวยาคนเสื้อแดงจนหนำใจ ขณะที่คนทุกข์ยากจากน้ำท่วมกลับได้เพียงเศษเงิน
นั่นคือมวลสะสมรอจังหวะสะสาง
3,000 บวกๆ การประเมินของหน่วยงานตำรวจระบุอย่างนั้น แต่ถ้าหากพุ่งไปที่ 5,000 ขึ้นไป แล้วการชุมนุมยืดเยื้อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ละก็..ยุ่งแน่
เพราะนั่นก็คือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรถือว่า "จุดติด" แล้ว
แล้วถ้าหากผู้คนแห่แหนกันออกมาชุมนุมกันจนเกิน 1 หมื่น และยืดเยื้อ คราวนี้ก็อภิมหายุ่งกันเลยทีเดียว
"สภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง" ก็จะเกิดขึ้น
สภาพก็จะกลับไปเมื่อครั้งไล่ทักษิณ ที่เมื่อถึงเย็นย่ำหลังเลิกงาน มวลชนคน กทม. ก็จะแวะเวียนมาร่วมวงไพบูลย์ ฟังปราศรัยแล้วก็กลับไปหลับไปนอนก่อนที่จะตื่นเช้าไปทำงาน
ปัญหาก็คือ นายกฯ ปู ผู้ไม่ประสาทางการเมือง ไม่เคยลิ้มรสแรงกดดันด้วยตนเองมาก่อน จะทนแรงเสียดทานมหาศาลนี้ได้หรือ
น่าเป็นห่วงก็แต่บรรดา ส.ส.เพื่อไทย ที่ไม่รู้จะอยู่จะไปละงานนี้
หลายคนอกสั่นขวัญแขวน เพราะกลัวอนาคตที่ไม่แน่นอนทางการเมือง ก็เลยมีกระแสข่าวว่า คนเพื่อไทยเองบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยที่จะเร่งกฎหมายอันตรายฉบับนี้เข้าสภา
ยิ่งรัฐมนตรียิ่งไปกันใหญ่ เพราะรู้ดีว่าเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ เก้าอี้เป็นหายวับ
ก็ให้คอยจับตาดูอีกครั้งในวันที่กลุ่มพันธมิตร "จุดติด" เมื่อไหร่ "แรงบีบ" ให้ถอนร่างกฎหมายอันตรายฉบับนี้ออกจากวาระการประชุมจากพรรคเพื่อไทยเอง
เพราะเมื่อไปสู่สภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองเมื่อใด อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งการยึดอำนาจ !
ฉะนั้น การอยู่แบบถูๆ ไถๆ ไปวันๆ โดนด่าบ้าง ชมบ้าง เดี๋ยวก็ครบเทอม
อยู่กันแบบไม่ต้องไปเปลี่ยนตัวคนบ้านเลขที่ 111 เข้ามา ไม่ต้องไปหา จตุพร มาใส่ ครม. ให้ตกเป็นเป้า เท่านี้ก็สบายแล้ว
ในส่วนของกองทัพ ถ้าให้อ่านใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมคณะในวันนี้ ก็คงไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย จนถึงจุดที่ไม่มีทางออก
แต่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร หากไปถึงจุดวิกฤติจริง ก็ยังต้องดูว่า วิกฤติแค่ไหนอย่างไร
วิกฤติของกองทัพก็คือ การมีมวลชน 2 ฝ่ายออกมาชุมนุม และเผชิญหน้ากัน จนน่าเชื่อว่า การปะทะกันและเกิดความสูญเสียขึ้นแน่ ถึงจุดนั้นการตัดสินใจของกองทัพจึงจะเกิดขึ้น
แต่บทเรียนเมื่อปี 2553 ก็ใช่ว่าจะไม่ได้สอนอะไรกองทัพ
มวลชนที่ออกมาชุมนุมกันมากมายทำให้ยากต่อการควบคุมหรือสลายการชุมนุม เพราะเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสีย
ก้าวย่างของกองทัพต่อกรณีการชุมนุมของมวลชนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และตรวจสอบ "ความชอบธรรม" ในทุกนาที
หากสถานการณ์ไม่ถึงจุดวิกฤติจนเกิดปะทะกัน กองทัพก็เป็นได้เพียง "คุณผู้ชม" เท่านั้น
เรื่องนี้ไม่ว่ากองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ต่างก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์ขมวดไปถึงจุดนั้น
ถึงจะรู้ดีว่า "แดงซ้าย" ยังคงดำรงจุดมุ่งหมายเดิม และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ไปถึงเร็วที่สุด แต่การชุมนุมหากมุ่งให้ยืดเยื้อก็ต้องใช้ทุนมหาศาล
ปัญหาของ "แดงซ้าย" ก็คือ หากทักษิณมุ่งมั่นที่จะกลับประเทศให้ได้ และหลีกเลี่ยงทุกปมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยง รวมทั้งการสนับสนุนให้เสื้อแดงชุมนุม สิ่งที่มุ่งหมายของ "แดงซ้าย" ก็คงจะไปไม่ถึง
ขณะที่ในมุมมองพรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้คงจะไปทางอื่นไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดของการเป็นเสียงข้างน้อยในสภา
หนทางเดียวที่จะยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คงจะเป็นระหว่างทางที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วใช้จังหวะนั้นยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่
เกมเอาใจคนพิเศษนี่มันช่างปั่นป่วนผู้คนไปทั้งประเทศจริงๆ