ชำนาญ จันทร์เรือง: นิธิกับแนวคิดทางการเมือง

ประชาไท 28 พฤษภาคม 2555 >>>


บรรยายพิเศษเนื่องในงานเสวนาครบรอบ 72 ปี ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดโดยมหาวิทยาลัย เที่ยงคืน ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555
ก่อนอื่นผมขอปรับหัวข้อให้ตรงกับสิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้สักเล็กน้อยครับ จากเดิมที่กำหนดให้ผมพูดในหัวข้อ “นิธิและการเมือง” นั้น ผมขอโอกาสปรับหัวข้อใหม่เป็น “นิธิกับแนวคิดทางการเมือง” หรือ “แนวคิดทางการเมืองของนิธิ” แทน เพราะนอกจากจะเป็นการพูดในโอกาส 72 ปีของอาจารย์นิธิซึ่งต้องย่อมเป็นที่อยากรู้ของผู้ฟังว่าอาจารย์นิธิคิดอย่างไรมากกว่าอาจารย์นิธิมีบทบาทอย่างไรทางการเมืองตามหัวข้อที่กำหนด ซึ่งเราทราบกันดีว่าอาจารย์นิธิมีบทบาทในทางการเมืองที่สำคัญคือการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านทางบทความ การบรรยายหรือการอภิปรายในเวทีสาธารณะและสื่อต่างๆอยู่อย่างสม่ำเสมอ และแนวคิดของอาจารย์นิธินั้นมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมจึงคิดว่าการปรับหัวข้อของผมในวันนี้คงจะสมประโยชน์ของทั้งผู้ฟังและผู้พูด
แน่นอนว่าเมื่อต้องพูดถึงเรื่องทางการเมืองแล้วหากจะพูดไปในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องเวลาเพียง 45 นาทีนี้คงไม่เพียงพอเป็นแน่ ผมจึงจะพูดเฉพาะประเด็นที่สำคัญๆ ร่วมสมัยคือ ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพ, สถาบันพระมหากษัตริย์ และเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทยเราในมุมมองของอาจารย์นิธิ ส่วนประเด็นการเมืองด้านอื่นๆ เช่น การเมืองในสมัยพระนารายณ์หรือสมัยพระเจ้ากรุงธนนั้น อาจารย์สายชล (สัตยานุรักษ์) ได้พูดไปแล้วในตอนเช้า ส่วนการเมืองภาคประชาชน อาจารย์ประภาส (ปิ่นตบแต่ง) ก็ได้พูดไปก่อนหน้านี้แล้ว
เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงสำหรับแนวความคิดของอาจารย์นิธิที่ผมติดตามมาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีซึ่งผมพบว่าไม่เคยเปลี่ยนเลย มีความคงเส้นคงวามาโดยตลอด ต่างกับผมซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมากจนแทบจะเรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเลย เพราะเมื่อใดที่ผมกลับไปอ่านบทความของผมในอดีตแทบจะเรียกได้ว่าอยากฉีกทิ้งไปเลย แต่กับของอาจารย์นิธินั้นไม่ใช่ ซึ่งก็หมายความว่าความคิดของอาจารย์นิธินั้นล้ำสมัยมาโดยตลอดและสิ่งที่อาจารย์นิธิเคยคาดการณ์ไว้นั้นแทบจะไม่ผิดไปจากนั้นเลย

ประเด็นแรกคือประเด็นที่เกี่ยวกับกองทัพ

อาจารย์นิธิเชื่อว่าภารกิจหลักของกองทัพที่กำลังทำอยู่ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันมิใช่การที่จะไปปกป้องอะไรหรอกแต่เป็นภารกิจที่จะต้องมีอำนาจเหนือการเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นภารกิจที่บุคคลากรในกองทัพยอมรับได้ว่าเป็นภารกิจร่วมกันของกองทัพ การจะมีอำนาจทางการเมืองได้ ก็ต้องเป็นตัวละครอิสระทางการเมือง กล่าวคือ มีความต้องการและทิศทางของตนเอง จะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องรักษาอิสรภาพของตนเองไว้ให้ได้ นี่คือเหตุผลที่กองทัพไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเผลอเมื่อใดก็มักจะแทรกเข้ามาลดอิสรภาพของกองทัพเสมอ ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพนั้น กองทัพอยากเป็นคนเลือกเอง เพราะ ผบ. ที่เป็นอิสระเท่านั้นที่จะไม่นำกองทัพไปเป็นเครื่องมือของใคร (อย่างไม่มีข้อแลกเปลี่ยน)
แต่อำนาจของกองทัพเหนือการเมืองนั้นไม่ได้มาจากรถถัง,ทหารป่าหวาย,หรือปืนยิงเร็ว ฯลฯ นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ กองทัพจะยึดอำนาจหรือรักษาอำนาจของตนทางการเมืองไว้ได้ ก็เพราะกองทัพได้รับความเห็นชอบจากส่วนอื่นๆที่มีพลังในสังคม
เมื่อตอนที่กองทัพทำรัฐประหารสำเร็จอาจารย์นิธิเห็นว่าที่นายแบงก์และนายทุนธุรกิจพากันหิ้วกระเช้าไปแสดงความยินดีกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่จริงแล้วเขาพากันไปแสดงความยินดีกับตนเองไปพร้อมกันด้วย เพราะการยึดอำนาจครั้งนั้นเขาเห็นชอบ และบางครั้งถึงกับเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลังบางส่วนด้วยซ้ำ
ฉะนั้น เราจึงจะเข้าใจบทบาททางการเมืองของกองทัพได้ ก็โดยการดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับ “พันธมิตร”เหล่านี้ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้อยู่คงที่ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะ “พันธมิตร” ก็ต้องการเป็นตัวละครอิสระในทางการเมืองเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนข้างเปลี่ยนสี เปลี่ยนจุดเน้นแห่งพันธะ และเปลี่ยนการดำเนินการทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลกระทบไปถึงการเมืองภายในกองทัพเองด้วย
“พันธมิตร” ของกองทัพซึ่งในที่นี้อาจารย์นิธิหมายความถึงทุน, สื่อ, ปัญญาชน, เทคโนแครต, ข้าราชการพลเรือน ฯลฯ นั้นก็ไว้ใจไม่ได้ อย่างดีก็เพียงยอมให้กองทัพมีส่วนแบ่งทางการเมืองไม่มากไปกว่านี้ หรืออาจต้องการให้น้อยกว่านี้ด้วย เพราะภาวะผู้นำทางการเมืองที่กองทัพแสดงออกแต่ละครั้งนั้นดูจะไร้เดียงสาเกินไป
เพราะหาความชอบธรรมยากขึ้นที่จะรักษาพื้นที่ทางการเมืองเอาไว้ คงเป็นเหตุผลสำคัญที่กองทัพต้องเน้นอุดมการณ์ “รักษาราชบัลลังก์” อย่างหนักและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ปราศจากศัตรูชัดเจนเช่นสมัยยังมี พคท.อยู่ ซึ่งอาจารย์นิธิสงสัยว่าอุดมการณ์นี้จะเพียงพอหรือไม่ที่จะรักษา “พันธมิตร” ไว้ได้นานๆ
อาจารย์นิธิเห็นว่าหลังการรัฐประหาร 2549 มีคนจำนวนมากอย่างเหลือล้นในสังคมไทยไม่ได้ยอมรับว่ากองทัพมีสิทธิธรรมใดๆที่จะเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง แม้ว่ากองทัพยังมีอำนาจดิบเท่าเดิม ถ้าผู้นำกองทัพไม่เข้าใจ กลับไปคิดว่าตัวมีอาญาสิทธิ์ที่จะมาก้าวก่ายทางการเมืองมากเท่าไร ก็ยิ่งทำลายกองทัพเองมากขึ้นเท่านั้น
คำว่า “ทำลาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าใครเขาจะไปยึดเอารถถังกลับคืนมา แต่หมายความว่า แม้แต่การใช้อำนาจอันมีกฎหมายรองรับของกองทัพในเรื่องอื่นๆ เช่น ไปรบกับปัจจามิตร ก็ยังมีคนสงสัยว่ากำลังหาประโยชน์ใส่ตนหรือเปล่า

ประเด็นที่สอง คือ ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

คงเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกองทัพซึ่งอาจารย์นิธิเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ใช่สถาบันทางการเมืองอันเดียวกัน และไม่มีความสืบเนื่องกันในทางหลักกฎหมาย เพราะพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่มีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ซึ่งมีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญคือพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย โดยผ่านทางนิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย ฉะนั้น หากฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับไม่ยอมรับสถานะของสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป
ในส่วนโดยตรงกับตัวสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอาจารย์นิธิเห็นว่าถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจกล่าวได้ด้วยว่า พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะบุคคลแทบจะไม่ได้แตกต่างบุคคลธรรมดาอื่นๆเลย ซ้ำร้ายยังถูกลิดรอนสิทธิ์บางอย่างอีกด้วย เช่น ทรงอภิเษกสมรสกับหญิงต่างชาติไม่ได้ ทรงนับถือศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้ เป็นต้น
พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กฎหมายกำหนดที่ว่านั้น ได้แก่ “แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปจนถึงการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องคดี และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย” อย่างไรก็ตามอาจารย์นิธิก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้เพราะสถาบันหรือบุคคลย่อมมี “อำนาจ” นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดทั้งนั้น เช่น พ่อมี “อำนาจ”เหนือลูก ครูและผู้อาวุโสเหนือศิษย์และผู้เยาว์ ชายเหนือหญิงในบางเรื่อง เป็นต้น
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจนอกจากที่กฎหมายกำหนดอีกมาก เช่น เมื่อเป็นที่เคารพสักการะย่อมมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง แต่การมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูงอาจารย์นิธิเห็นว่าไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องมีอำนาจในทางการเมืองเกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ความเห็นของอาจารย์นิธิที่สร้างความฮือฮามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจที่มีต่อสถาบันตุลาการอันเนื่องมาจากการที่มักมีผู้กล่าวอยู่เสมอว่า “ผู้พิพากษาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธย” ซึ่งอาจารย์นิธิให้ความเห็นว่าผู้พิพากษาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยนั้นถูกต้องตามหลักการ แต่จะเข้าใจผิดไม่ได้ว่าพิพากษาแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะบุคคล มิฉะนั้น พระองค์ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบกับ คำพิพากษาด้วย คำพิพากษาที่ทำในพระปรมาภิไธยนั้น เพราะอำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ต้องไม่ลืมว่าคำพิพากษาของศาลคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง เช่น ปรับ, เอาตัวไปจำขังหรือประหารชีวิต เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องยิ่งอาศัยอำนาจของประชาชน หรือที่เราเรียกว่าอธิปไตยเท่านั้น
พระปรมาภิไธยเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน เตือนให้ผู้พิพากษาสำนึกถึงฐานที่มาของอำนาจในคำพิพากษา จึงต้องใช้อำนาจนั้นอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม เพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือปวงชน พูดกันตรงไปตรงมาก็คือไม่เกี่ยวกับกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นบุคคล แต่เกี่ยวอย่างแยกไม่ออกจากอธิปไตยของปวงชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันทรงใช้แทนปวงชน
ในทำนองเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าพระบรมราชโองการอาจารย์นิธิเห็นว่าในสมัยโบราณอาจมีความหมายอย่างหนึ่งแต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมหมายถึงคำสั่งที่อาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนสั่ง นั่นคือ กฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ทุกฉบับจึงเป็นพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา แพ่งและพาณิชย์ ในทางปฏิบัติคือต้องผ่านสภาและทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมายเหล่านั้นย่อมจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของปวงชน เช่น ห้ามลักขโมยหรือห้ามค้าประเวณี ดังนั้น จึงต้องอาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนเท่านั้น จึงจะสั่งให้มีข้อจำกัดต่อเสรีภาพเหล่านั้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยดังกล่าว
ในส่วนของพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งก็เป็นหลักการเดียวกัน ซึ่งตำแหน่งสาธารณะที่พึงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งควรเป็นตำแหน่งที่เกิดจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆก็เช่น นายกรัฐมนตรี และ ครม.เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสนอชื่อขึ้นกราบบังคมทูล และสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงจึงเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยตรงเช่นกัน การที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ให้ดำรงตำแหน่ง ก็เพราะมีที่มาจากอธิปไตยของปวงชนชาวไทย แต่ ส.ส. ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เพราะประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยของตัวโดยตรงในการเลือกตั้งแล้ว ไม่ได้ใช้ผ่านตัวแทน (indirect กับ direct น่ะครับ) แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ที่จะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯนั้นว่าจะอยู่ในคำอธิบายนี้ด้วยหรือไม่ เพราะผมไม่เห็นว่าจะยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยตรงไหนเลย
ในส่วนของความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอาจารย์นิธิเห็นว่าอยู่ที่การยอมรับของประชาชน และประชาชนได้แสดงการยอมรับนั้นผ่านรัฐธรรมนูญ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่ายในเวลานี้(ยกเว้นบางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมากๆ)ไม่มีฝ่ายใดเห็นควรว่าควรยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ทั้งที่ร่างโดยคณะรัฐประหารและร่างตามวิถีทางประชาธิปไตย ต่างก็ยอมรับให้สถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ
ฉะนั้น จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ความมั่นคงของสถาบันฯอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของกองทัพ ซึ่งได้ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญไปหลายฉบับด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯทุกครั้งที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง ก็เป็นทุกครั้งที่หาความแน่นอนใดๆแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีได้เฉพาะแต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ให้มีสถาบันนี้ ก็ไม่มีสถาบันนี้
ในกรณีมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นอาจารย์นิธิเห็นว่ามรณกรรมอันน่าสมเพชของ "อากง" ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นต้องแก้ ม.112 อย่างชัดเจน เพราะนอกจากความบกพร่องในด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงการลงทัณฑ์แล้ว ม.112 นี่แหละที่ยิ่งทำให้ความบกพร่องซึ่งมีอยู่แล้วนั้น ยิ่งบกพร่องมากขึ้นไปอีก
ดังเช่นข้อวินิจฉัยของศาลว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรงจึงไม่อาจให้ประกันตัวได้ ที่ถูกวินิจฉัยว่าร้ายแรงก็เพราะ ม.112 ถูกจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เทียบไม่ได้กับมาตราอื่นในหมวดเดียวกัน ความผิดในมาตรานี้ที่จริงแล้วเทียบได้กับการหมิ่นประมาทบุคคลเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับความมั่นคงแห่งรัฐไม่ แต่เพราะไปรวมไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ จึงทำให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าเป็นคดีร้ายแรง
ม.112 กำหนดโทษไว้สูงผิดปกติ คือสูงกว่าโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก จึงไม่ได้สัดส่วนกับความผิดของผู้ต้องโทษ ยิ่งกว่านี้ทำให้คดีถูกพิจารณาว่า "ร้ายแรง" โดยปริยาย
เมื่อกำหนดให้ ม.112 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษจึงเป็นใครก็ได้ (เทียบกับรู้ว่ามีผู้คิดประทุษร้ายทางกายประมุขของรัฐ ใครรู้ก็ควรรีบแจ้งความเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้น) ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เวลานี้มีคนที่อยู่ในเรือนจำเพราะต้องคำพิพากษาหรือกำลังอยู่ระหว่างสู้คดีเพราะ ม.112 อีกเป็นร้อย เพราะถูกแจ้งความโดยบุคคลอื่น อันอาจเป็นศัตรูของตนเอง ยังไม่พูดถึงผู้ซึ่งตำรวจให้ประกันตัวออกไป เพราะถูกแจ้งความคดีเดียวกันนี้อีกรวมอาจถึงพัน
ความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ เกิดขึ้นจากความบกพร่องของ ม.112 อย่างชัดแจ้ง เหตุใดจึงไม่ควรแก้ไข ม.112 เล่า มรณกรรมของ "อากง" ยิ่งกระตุ้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข ม.112 ขึ้นไปอีก หากรัฐบาลจะได้รับแรงกระตุ้นนั้น ก็ไม่เห็นผิดตรงไหน (แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลเลือกจะเล่นเกมนี้ตามที่ฝ่ายค้านกำหนด)
ความบกพร่องของ ม.112 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างจริงใจ ก็น่าวิตกว่า ม.112 จะเป็นเหตุให้เสียพระเกียรติยิ่งกว่าเชิดชูพระเกียรติ ต่อผู้ที่ยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง ก็น่าวิตกว่า ม.112 ถูกใช้ไปในทางขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมากกว่าส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย
อาจารย์นิธิได้สรุปไว้ในบทความเรื่องอากงไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่ขาดความจงรักภักดีหรือผู้ไม่ยอมรับประชาธิปไตยแบบที่มีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่ยินดีกับ ม.112 เพราะทำให้เสื่อมพระเกียรติและอาจใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตยในเมืองไทย

ประเด็นที่สามสุดท้ายคือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย

อาจารย์นิธิมองว่าประชาธิปไตยแบบไทยเรานั้นเป็นประชาธิปไตยในแบบ democrasubjection ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม โดยอาจารย์นิธิได้อธิบายว่าแต่ก่อนประชาชนไทยเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สังกัดมูลนายหลากหลายประเภท อัตลักษณ์ของคนไทยก็คือเป็นไพร่ในสังกัดของใครหรือกรมใด ตัวระบอบปกครองก็เอื้อให้ไพร่ต้องพึ่งพิงมูลนาย นับตั้งแต่จะฟ้องร้องคดีความใดๆ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากมูลนายเสียก่อน มูลนายได้ดิบได้ดี ส่วนแบ่งของทรัพยากรที่ตกถึงมือไพร่ในสังกัดก็เพิ่มขึ้น
การปฏิรูปของ ร.5 ทำลายอำนาจควบคุมอันหลากหลายของมูลนายลง แล้วเอาไพร่ทั้งหมดมารวมศูนย์สังกัดพระราชบัลลังก์เพียงหนึ่งเดียว อัตลักษณ์ของไพร่เปลี่ยนมาเป็นข้าราษฎรที่ (โดยทฤษฎีแล้ว) เท่าเทียมกันหมด ระบอบปกครองก็เน้นความเหมาะสมโดยธรรมชาติและโดยการศึกษา ว่าเจ้านายเท่านั้นที่ควรเป็นผู้ปกครองและถืออำนาจ
การปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนข้าราษฎร มาเป็นพลเมืองของชาติ เท่ากันหมด และเป็นเจ้าของชาติเท่าๆ กัน ไม่มีใครมาคุมเราอีกแล้ว แต่อัตลักษณ์ "พลเมือง" ก็เป็นสิ่งสร้างทางสังคมไม่ต่างไปจาก "ไพร่" หรือ "ข้าราษฎร" แต่อย่างไร สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมภายใต้ระบอบปกครองที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย
อาจารย์นิธิเห็นว่า เราทุกคนล้วนเกิดมาเป็น "คน" หรือ "ประชาชน" ก่อน แล้วก็ถูกสร้างอัตลักษณ์ให้ใหม่ จนกลายเป็น "พลเมือง" ซึ่งมีข้อจำกัดและภาระที่ต้องแบกรับกว่าเป็น "ประชาชน" มากมาย พลเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ "เสรีชน" แต่เป็นคนที่ถูกบังคับควบคุม (subjection) ลงเป็นพลเมืองเท่านั้นเอง
"ประชาธิปไตย" ถูกให้ความหมายในแต่ละสังคมไม่เหมือนกันนัก แม้ว่าต่างก็ท่องคำนิยามอันว่างเปล่าของลิงคอล์นมาเหมือนๆ กันก็ตาม เพราะการให้ความหมายแก่ระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน
อัตลักษณ์ "พลเมือง" ของไทยเป็นอย่างไร อาจารย์นิธิบอกว่าตอบยังไม่ได้ แต่อยากเตือนให้นึกถึง การให้ความหมายแก่ประชาธิปไตยในเมืองไทย ซึ่งกระทำสืบเนื่องกันมาหลายทศวรรษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ภายใต้เสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น พลเมืองไทยทุกคนย่อมสามารถใช้เสรีภาพนั้นได้ ภายใต้กรอบของอุดมการณ์ของชาติ นั่นคือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ กรอบของอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ต่างหาก ที่เป็นผู้กำหนดขอบเขตของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายซึ่งร่างขึ้นโดยขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นไปตามกรอบอุดมการณ์ของชาติดังกล่าว ใช้บังคับอยู่มากมาย และเราต่างยอมรับโดยดุษณี ด้วยเหตุดังนั้น จึงแปลว่า ไม่ได้ขัดกับอัตลักษณ์ "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยของเราเลย
ในเมืองไทย ผู้ใหญ่และระบบการศึกษาจะเน้น "หน้าที่" ของพลเมือง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง "สิทธิ" ของพลเมือง สังคมจะดีได้ก็ต่อเมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่เกี่ยวอะไรกับสิทธิแต่อย่างใด
ผู้ใหญ่ไทยจะคอยเตือนถึงภยันตรายของเสรีภาพอันไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งดูประหนึ่งว่า เสรีภาพนั้นไม่ได้มีไว้ให้ทุกคนเท่าๆ กัน เฉพาะคนดีมีศีลธรรมเท่านั้นที่อาจใช้เสรีภาพได้เต็มที่ โดยไร้ขีดจำกัด เช่น ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ
ผู้ใหญ่ไทยเน้นเสมอว่ารัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ทำให้พลเมืองอยู่ดีมีสุข แต่ไม่มีใครพูดถึงความรับผิดชอบ (accountability) ต่อพลเมือง ฉะนั้น เพื่อให้พลเมืองอยู่ดีมีสุข ถึงจะฆ่า, อุ้มฆ่า, หรือจำขัง พลเมืองบางคนบ้างก็ไม่เป็นไร
พลเมืองไทยยอมรับอาญาสิทธิ์อันไม่มีขีดจำกัดของ "ชาติ" สถาบันที่มีคำว่า "แห่งชาติ" ต่อท้าย มีอาญาสิทธิ์พิเศษที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร เช่น สภาพัฒน์ (สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครสักคนเดียว อาจารย์นิธิบอกว่าอย่าพูดถึง "พลเมือง" เลย แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง(สภาพัฒน์)ก็ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย
แทนที่เราจะรวมกลุ่มกันเพื่อวางแผนพัฒนาของกลุ่มเราเอง พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยทำได้แค่ทำความเข้าใจแผนของสภาพัฒน์ให้ปรุโปร่งเท่านั้น
การชุมนุมซึ่งมีชุกชุมขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่งต้องควบคุม จึงจำเป็นต้องผลิต "วาทกรรม" อีกหลายอย่างขึ้นในช่วงนี้ เพื่อควบคุมอำนาจของพลเมืองในสถาบันเกิดใหม่อันนี้ บางส่วนก็ดึงมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดมาแล้ว บางส่วนก็ดึงมาจากฝรั่ง
เราอาจมองประชาธิปไตยว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการควบคุมในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม คือสร้างพลเมืองขึ้นในการบังคับควบคุม นักวิชาการฝรั่งสร้างศัพท์สำหรับปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า democrasubjection 
ประชาธิปไตยแบบไทยจึงเป็น democra-subjection อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากอังกฤษ, อเมริกันและสิงคโปร์
ในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่าด้วยการปรองดองนั้นอาจารย์นิธิให้ความเห็นล่าสุดเมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาที่บุ๊ก รีพับลิกว่า “ปรองดอง” ในพจนานุกรม แปลว่าไม่แก่งแย่งกัน พร้อมเพรียงกันตกลงกัน ความหมายนั้นหมายถึงความสงบราบรื่นของชุมชนขนาดเล็ก ลองคิดดูว่าความปรองดองแบบนี้เป็นไปได้เฉพาะหมู่บ้านเล็ก ๆ เท่านั้น สังคมขนาดใหญ่ ความปรองดองตามความหมายของพจนานุกรมนั้นเป็นไปไม่ได้ในสังคมขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ จ.เชียงใหม่
เราต้องสร้างกติกาในการพูดคุยโดยที่เราไม่ต้องตีหัวกัน ฉะนั้นการพูดถึงความปรองดอง เราต้องกลับไปดูความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงความขัดแย้ง สื่อต่างๆชอบนึกถึงความขัดแย้งระหว่างบุคคลค่อนข้างมาก ไม่เพียงเรื่องเหตุการณ์ที่ปะทะกันเท่านั้น ไม่ใช่กลุ่ม เราต้องกลับไปดูต้นตอของความขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่ว่าสีใดก็ตาม บุคคลเหล่านั้นเดินเข้าไปร่วมความขัดแย้งได้อย่างไรโดยไม่มีฐานทางเศรษฐกิจ และสังคม
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถ้ามองจากเสื้อสี ข้อถกเถียงนั้นมีมูลทั้งสิ้น เช่นเสื้อเหลืองไม่ไว้วางใจนักการเมือง เช่น มีแต่การเลือกตั้งโดยไม่ปรับโครงสร้างการเมืองอื่นเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่วิธีการปรับแก้โดยเอา พระอรหันต์มาช่วย มันก็ใช้ไม่ได้ ส่วนเสื้อแดงก็ยืนว่าประชาธิปไตยนั้นต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะปรองดองอย่างไรก็แล้วแต่ความขัดแย้งนั้นมันก็ยังดำรงอยู่ คุณก็ต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการเมือง เพราะความขัดแย้งนี้เป็นเพราะความขัดแย้งเรื่องระบบสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นไปทั่วโลก
ไม่มีสังคมไหนที่ไม่มีความขัดแย้ง เราต้องทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ต้องเปิดเวทีการเมืองให้มันกว้างขึ้น กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ทรัพยากรโดยตรง เช่น ปากมูล ราษีไศล คนเหล่านี้ยังไม่โผล่ในเวทีการเมือง ก็ต้องเปิดให้เขาด้วย ถ้าเราอยากจะแก้ไขความขัดแย้งเราก็ต้องมีกฎหมายที่มีความเป็นธรรม ส่วนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหารต่างๆ ก็ต้องมีการเปลี่ยนเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง
อาจารย์นิธิเน้นว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก เมื่อถามว่าในสังคมไทยใช้ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ เราจะพบว่าเราใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามถ้าคนนอกกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองก็จะมีความรุนแรงทันที อย่างกรณี 14 ตุลาคม ถึง 19 พฤษภาคม เป็นต้น
เราจะเจอคนนอกที่เป็นกลุ่มใหม่ตลอดเวลา มันก็จะมีการใช้ความรุนแรงอีก  ครั้งนี้จึงเป็นครั้งสำคัญที่ต้องทำให้ระบบการเมืองไทยยุติการใช้ความรุนแรง ต้องไม่มีการออก พ.ร.บ.อภัยโทษ ที่จะทำให้ผู้สั่งการหลุดรอดไปได้ ถ้าความจริงออกมา คนเหล่านี้ต้องรับโทษก่อน ถ้าเราไม่ยุติในครั้งนี้ เมืองไทยก็จะเผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองอย่างไม่สิ้นสุด โดยสรุปอาจารย์นิธิฟันธงว่าคือไม่จำเป็นต้องปรองดอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดหากจะให้ผมสรุปในหัวข้อ “นิธิกับแนวคิดทางการเมือง” เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าในความเห็นของผมนั้นอาจารย์นิธิใส่เสื้อสีอะไร ผมสามารถตอบได้ว่าไม่ใช่เสื้อเหลืองอย่างแน่นอน และก็ไม่ใช่เสื้อแดงอีกเช่นกัน แต่จะเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจแดง หากจะต้องเหมารวมว่าอาจารย์นิธิเป็นเสื้อแดงก็คงเป็นเสื้อแดงที่ไม่เอาทักษิณที่คนที่ไม่ใช่เสื้อแดงส่วนใหญ่งงว่ามีด้วยหรือนั่นเอง