อำมาตย์ยังอยู่ในฐานะที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทยอยู่ เพราะระบบความคิดของพวกเขายังมีอยู่ และแสดงออกในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ
ก่อนวันพ้นโทษการเมืองในอีกเพียงไม่กี่อึดใจ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทย รักไทย นำประสบการณ์ที่ติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 เป็นเวลา 5 ปี มาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในอนาคต
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เหตุการณ์ในอดีตจะย้อนกลับมาอีกหรือไม่ รวมถึงความมั่นใจต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่าจะปลอดจากมือที่มองไม่เห็นได้แท้จริงหรือ
แกนนำบ้าน 111 ให้สัมภาษณ์เจาะลึกไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
การเมืองหลังจากบ้าน 111 พ้นโทษ
ประเทศยังมีปัญหาใหญ่ๆ ที่ต้องแก้ไข พัฒนาการการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังยุบพรรคไทยรักไทย ถือเป็นจุดหักเหสำคัญ ไม่ใช่ว่า 111 คนสำคัญอะไรเป็นพิเศษ
แต่เป็นการร่วมกันของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจ ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ ใช้ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เข้ามาจัดการกับอีกฝ่ายให้ราบคาบ และยังพยายามทำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งคือเขาดำรงจุดมุ่งหมาย อีกส่วนคือเขาทำลายไม่หมด แสดงให้เห็นว่าการเข้ามาก้าวก่ายการเมืองของชนชั้นนำ เป็นการกระทำที่ล้มเหลว เพราะไม่ได้รัฐบาลที่ต้องการ ทำให้ระบบเสียหาย
กองทัพปัจจุบันอยู่ในจุดน่าพอใจหรือไม่
บทบาทกองทัพที่จะแทรกแซงการเมืองก็จำกัดลงไป แต่ที่ผ่านมาเวลาผู้นำกองทัพจะทำอะไรมักไม่ค่อยคิดเอง โดยมากจะมีคนสั่ง คอยกำกับอีกทีหนึ่ง
ขณะนี้จึงยังไม่สามารถพูดได้ว่ากองทัพจะไม่เข้ามาเกี่ยว ข้องกับการเมือง หรือเข้ามาทำความเสียหายให้กับบ้านเมืองอีก
ไม่ว่าตัวผู้นำกองทัพเองจะคิดอย่างไร แต่ในแง่ตัวบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่จำเป็นที่จะไปสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดี
ในเชิงระบบเรายังต้องปลูกฝังสร้างค่านิยมแนวความคิดให้สังคมเข้าใจ และเห็นว่าผู้นำกองทัพและชนชั้นนำไม่พึงที่จะมาก้าวก่ายแทรกแซงการเมือง ต้องให้กระบวนการที่ประชาชนปกครองตนเองเดินและพัฒนาไปข้างหน้า
โอกาสที่กระบวนการต่างๆ จะกลับมาอีก
ผ่านมา 5-6 ปี ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่ยุติธรรมของประเทศยังเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรัง บางช่วงได้รับการแก้ไข บางช่วงก็ดีขึ้น
แต่ไม่ว่าจะดีขึ้นอย่างไร การย้อนกลับเป็นไปเผด็จการก็ยังเกิดขึ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านมา 5-6 ปี ถึงประชาชนจะบอกว่าไม่เอาแล้วรัฐประหาร แต่ก็ต้องไม่วางใจ ต้องปลูกฝังค่านิยมที่รังเกียจเผด็จการ
แสดงว่ามือที่มองไม่เห็นยังไม่สงบ
อาจไม่ใช่เป็นมือไหนหรือมือใคร แต่เป็นเรื่องรวมๆ จะใช้คำว่าชนชั้นนำและพวก หรือช่วงหลังมักเรียกกันว่าอำมาตย์ ซึ่งอำมาตย์ก็มีพวกอยู่ด้วยเหมือนกัน ยังอยู่ในฐานะที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทยอยู่
เพราะระบบความคิดของพวกเขายังมีอยู่ และแสดงออกในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ
คือไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง เห็นว่าประชาชนยังโง่ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ ต้องให้ชนชั้นนำที่มีคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้นเป็นผู้กำหนด
แนวความคิดแบบนี้มักนำไปสู่ความคิดที่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดีควรล้ม ปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายไม่ได้ จะต้องเข้ามาจัดการเสีย
ความคิดเหล่านี้ยังมีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แสดงอาการออกมากเพราะยังไม่มีเหตุเพียงพอ หรือเขาอาจรู้ว่าไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน
แต่การเมืองไม่แน่นอน ฉะนั้นจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไปเป็นข้ออ้าง ระวังไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้เขาทำได้ง่าย จึงต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจให้มากที่สุด พร้อมจะร่วมกันระงับยับยั้ง หรือป้องกันไม่ให้เขาทำอะไรอย่างที่ต้องการได้อีก
โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะกลับสู่วังวนเดิม
เป็นไปได้ กรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นเรื่องหนึ่งที่เขาอาศัยเหตุไปร้องให้ยุบพรรค พรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบก็ได้ ยังมีกรณีอื่นๆ อีกอย่างน้อย 2-3 กรณี ฉะนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
5 ปีมานี้เราเห็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนของการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกหลักนิติธรรม เลือกยุบเฉพาะฝ่ายไทยรักไทย หรือพรรคที่สืบเนื่องจากไทยรักไทย เป็นพันธมิตรกับพรรคไทยรักไทยในการตั้งรัฐบาล แต่จะไม่ยุบบางพรรค ฉะนั้นไม่มีหลักประกันอะไรว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ
ต้องไปแก้ระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคเสียใหม่ ไม่ให้ยุบกันง่ายๆ อย่างนี้อีก เพราะเป็นระบบที่ไม่เป็นประชาธิป ไตย ขัดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ทำลายระบบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
ความพยายามล้มรัฐบาลจากฝ่ายตรงข้าม
มีได้ตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกติการะบบรัฐสภาแบบของเรามีเรื่องการยุบสภา และการลาออกของนายกฯ รวมทั้งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หมายถึง มีการกำหนดไว้อยู่แล้วถึงวิธีการจะล้มรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมายจึงว่ากันไม่ได้ถ้าใครจะคิดล้มรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ทุกเวลานาทีคิดจะล้มรัฐบาลทุกวัน เขาทนไม่ได้ที่จะให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่นานๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณจะล้มวิธีไหน
ไม่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แต่พันธมิตร หลากสี ชนชั้นนำก็คิด ถือเป็นสิทธิของเขา แต่ขอให้ดำเนินการตามกติกา
ตรงนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ พอเคลื่อนไหวก็จะเรียกร้องว่าทหารต้องทำหน้าที่บ้าง ทหารต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หรือวิธีอื่นใดก็ตาม รวมทั้งอาจใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ จะไปตำหนิหรือประณามคนที่ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องไปพูดเรื่องกติกาว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไร
รัฐบาลต้องตั้งรับโดยวิธีไหน
จุดสำคัญอยู่ที่การบริหารแก้ปัญหาประเทศให้ดี ป้องกันอย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำ 2 อย่างนี้ได้จะเป็นภูมิคุ้มกัน
ที่สำคัญรัฐบาลต้องร่วมมือกับพรรคการเมือง องค์กรประชาธิปไตยและองค์กรอื่นๆ แก้กติกาให้ดี ป้องกันไม่ให้เกิดการล้มรัฐบาลโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รวมถึงต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี ให้คนร่วมต่อต้านการล้มรัฐบาลโดยวิถีทางไม่ถูกต้อง
บ้าน 111 เข้ามาสถานการณ์อาจดีขึ้น
การเอาคนมีความรู้ มีประสบการณ์เข้ามาช่วยงานที่พรรคและรัฐบาลน่าจะเป็นผลดี แต่ต้องคำนึงด้วยว่าทำอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ เพราะใน 5 ปีมานี้เกิดนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ขึ้น
ต้องคำนึงถึงความสมดุล ไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม เกิดความสับสนขึ้นภายในองค์กร
ไม่ใช่เมื่อมีสมาชิก 111 เกิดขึ้นแล้วรัฐบาลต้องปรับ ครม. ไม่ควรเป็นอย่างนี้ จะปรับหรือไม่ต้องเกิดจากรัฐบาลมีความจำเป็นและเห็นประโยชน์ของการปรับด้วย
กกต. ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยตัวเอง
นับตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย กฎกติกาเกี่ยวกับพรรคการเมืองถูกเปลี่ยนแปลง ขัดขวางการหาสมาชิกหรือการเป็นสมาชิกของประชาชน
ทำไมเวลานี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีแค่หลักหมื่นหลักแสน ทำไมจึงไปกำหนดว่าการสมัครสมาชิกพรรคต้องมาที่ทำการพรรค ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถือว่าผิดทั้งนั้น
เป็นกติกาที่ต้องการตอนและบอนไซพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ได้เปรียบมหาศาล พรรคใหม่ๆ เสียเปรียบอย่างร้ายแรง
พรรคเพื่อไทยและผู้สนใจเรื่องพรรคการเมืองต้องช่วยกันหาทางแก้ไข การแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะทำกันต่อไป ต้องแก้เรื่องพวกนี้ อย่าให้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองทำลายพรรคการเมือง
พ.ต.ท.ทักษิณ แม้พ้นโทษ แต่มีคดีที่ศาลตัดสินจำคุกค้างอยู่ จะกลับบ้านด้วยวิธีใด
การกลับมาอย่างไรเป็นหัวข้อใหญ่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดไว้ว่าต้องการกลับแบบเท่ๆ
ขณะที่มีการศึกษาและมีข้อสรุปในระยะหลังว่าการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ด้วยการตั้ง คตส. ฉะนั้นการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วจึงถือว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ยุติธรรม ดังนั้นปัญหาว่าจะคืนความยุติธรรมกันอย่างไร เมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป