บท "สมทรง" ในหนัง "ไอ้ฟัก" ที่มาจากนวนิยาย "เยี่ยมยอด" ของ ชาติ กอบจิตติ "คำพิพากษา" นั้น ทำให้ความเป็นดาราของ "ตั๊ก" บงกช คงมาลัย ติดลมบน
พร้อมกับความคาดหวังค่อนข้างสูง ว่าสิ่งที่ค้างอยู่ในชีวิตนักแสดงของบงกช คงมาลัย คงไม่ใช่เพียงความวับแวมของเนื้อหนังมังสาจากเสื้อผ้าอันหลุดลุ่ยของหญิงไม่สมประกอบ "สมทรง" เท่านั้น
ความเป็น "สมทรง" ที่มองเห็นเหยื่ออย่าง "ฟัก" ที่ถูกสังคมรอบข้าง "พิพากษา" ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้กระทำ จนชีวิตดับมืดลง ด้วยการถ่มน้ำลายใส่หน้าครูใหญ่ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมจอมปลอม ต่างหากคือสิ่งที่ควรหลงเหลืออยู่ในใจของบงกช คงมาลัย
แต่ก็น่าเสียดายที่ "เธอ" กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไป"พิพากษาคนอื่น" เสียเอง ถึงขนาดไล่ส่งให้ไป "นรก" อันพลอยทำให้เธอกลายเป็น "เหยื่อ" จากอีกฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้าม อย่างไม่ควรจะเป็นด้วย
วิญญาณของ "สมทรง" ที่แม้จะมีสติสตังค์ไม่ค่อยดี น่าจะเอื้อมมือออกมารั้งดึงมือของบงกช คงมาลัย เอาไว้สักนิด
แต่ในพริบตา สื่อสมัยใหม่ก็ทำให้ "คำพิพากษา" ที่บงกช คงมาลัย มีต่อ "อากง" แพร่สะพัดไปแล้ว
ไม่อาจดึงย้อนกลับมาได้ นอกจากรับ "ผล" จากสิ่งที่ทำไปเท่านั้น ว่าที่จริงไม่ใช่เพียง "ดาราสาว" เท่านั้นที่เล่นบทพิพากษาคนอื่น โดยละเลย มองข้าม หรือจงใจ ที่จะเสาะหาข้อเท็จจริงอื่นๆ มาร่วมพิจารณาด้วย
อาศัยเพียงความรู้สึกไปพิพากษาคนอื่นจนทำให้การตัดสิน หรือพิพากษาคนอื่น ผิดเพี้ยนไปอย่างน่าตกใจ อย่างกรณีเผา "ศาลาคนเสื้อแดง" ที่ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างนั้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น แทนที่จะร่วมหาข้อเท็จจริง ด้วยฝ่ายหนึ่งก็เป็นฝ่ายรัฐบาล ที่ควบคุมดูแลทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกลไกรัฐอื่นๆ ทุกประการ
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งน่าจะมีข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่น้อย แต่กลับออกมา "พิพากษา" กันแบบทันควัน ทันใด ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ซึ่งฟังและพิจารณาแล้วน่าเสียดาย เพราะดูจะใช้ "ความรู้สึก" เป็นหลัก
ส่วน "ข้อเท็จจริง" แห่งคดี แทบจะไม่ปรากฏ หรือไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ
คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยชี้นิ้วว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ทำ ส่วนคนประชาธิปัตย์ก็ชี้นิ้วกลับว่า คนเสื้อแดงนั่นแหละสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง
นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมากมาย
เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นสักเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ต้องไปคาดหวังว่า สิ่งที่ว่านี้จะช่วยทำให้สถานการณ์หรือความขัดแย้งดีขึ้น
ตรงกันข้าม มันยิ่งไปโหมกระพือให้เลวร้ายลงไปอีก
ความจริง เพียงแค่ลดการตัดสินหรือไปพิพากษาคนอื่น กลุ่มอื่น ที่อยู่บนพื้นฐานของความ "รู้สึก" ลงเสียบ้าง ความขัดแย้งที่บานปลายออกไปก็น่าจะลดลงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว
และยิ่งถ้าหากมีข้อเท็จจริงมายืนยัน ก็ยิ่งจะลดความเคลือบแคลงสงสัยลงไปอีก
แต่ทุกวันนี้ ทุกคนดูจะถนัดเดินขึ้นบัลลังก์ แล้วเคาะค้อน "พิพากษา" ตัดสินคนอื่นอย่างเลือดเย็น
เลือดเย็น เพราะพิพากษาบนพื้นฐานของ "ความรู้สึก" ของตนเองเท่านั้น โดยไม่ใส่ใจข้อเท็จจริง