"การเมือง" สนองคืน ปชป. "ปู-เพื่อไทย" รุกทีละคืบ ปลดทีละล็อก

มติชน 20 พฤษภาคม 2555 >>>




มีข้อสังเกตในความเคลื่อนไหวของรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ จังหวะก้าวของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง เรื่อยมาจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันถวายสัตย์ปฏิญาณตนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้
รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีพัฒนาการแบบรุกทีละคืบอย่างน่าสนใจ
สังเกตได้จากการแก้ไขวิกฤตการณ์ภัยพิบัติเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งถูกโจมตีจากทุกฝ่าย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน กระทั่งเสียงด่าหดหาย และในที่สุดก็ถึงจุดพลิกผันเมื่อสามารถดึงเอานายวีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดอกเตอร์โกร่ง ที่มีเครดิตในสังคมมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ.
เช่นเดียวกับเชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์วางแผนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. และเมื่อผนวกกับภาพความเคลื่อนไหวของหน่วยราชการต่างๆ ออกไปทำงานซ่อมประตูระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา สร้างทำนบกั้นน้ำ และอื่่นๆ
กระทั่งข้อครหาต่างๆ คลี่คลายหายไป แต่การดำเนินงานยังคงดำรงอยู่เช่นเดียวกับข้อครหาความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่ เมื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนี้ สามารถจัดงานยักษ์ "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ที่ทำเนียบรัฐบาลได้ ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องความบาดหมางก็ถูกกระตุกอย่างแรง
แม้สัญญาณที่ส่งออกมาจะแรงขนาดที่คนเสื้อแดงเริ่มตั้งคำถาม แต่จวบจนบัดนี้รัฐบาลยังยืนยันแนวทางการปรองดอง และขับเคลื่อนงานปรองดองในด้านต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการรุกคืบด้านการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับองค์กรสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดูเหมือนมีแนวทางการทำงานเป็นของตัวเอง จนบางครั้งแลดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แต่บัดนี้ได้แลเห็นการขับเคลื่อนให้ นายวีรพงษ์ รามางกูร เข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเรียกติดปากว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อลงไปทำความเข้าใจในการปฏิบัติกับองค์กรหลักทางเศรษฐกิจของไทย ถือเป็นการรุกคืบอีกหนึ่งก้าวของรัฐบาล
แต่ในบรรดาความเคลื่อนไหวเชิงรุกที่รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังนำพาไปอยู่ในขณะนี้ การรุกทาง "การเมือง" ต่อพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นการรุกที่น่าจับตามอง
หนึ่ง มองจากการรุกในเกม "ของแพง" ที่ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาถล่มในรูปของ "แพงทั้งแผ่นดิน" มาเป็นระยะเวลายาวนาน
อีกหนึ่ง มองจากการรุกในเกมการประชุมแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
การรุกในเรื่องสินค้าราคาแพง เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะนโยบายของรัฐบาลทำให้สินค้าปรับตัวสูง และโจมตีว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ
ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
การรุกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้วิธี "เตะถ่วง" ตามกลยุทธ์ที่อาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เรียกว่า "ฟิลิบัสเตอร์ (Filibuster)"
   "ฟิลิบัสเตอร์ของสหรัฐอเมริกาที่ทำๆ กันนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดึงลากเวลาให้ยืดนานออกไปเพื่อให้มีการพิจารณาประเด็นในการพิจารณาให้รอบคอบขึ้นหรือเพื่อต่อรองในการพิจารณากฎหมายต่างๆ แบบต่างตอบแทน หรือในหลายครั้งก็ถึงกับต้องการที่จะล้มกฎหมายที่กำลังพิจารณาไปเลยทีเดียวด้วยการลากเวลาไปจนถึงวาระการปิดสมัยประชุม"
ทั้งเรื่อง "สินค้าแพง" และเรื่อง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ "เนื้อแท้" ในความเคลื่อนไหวเป็นการเมือง หรือเป็นเพราะ "พรรคประชาธิปัตย์" ในฐานะผู้เคลื่อนไหวเป็นการเมือง หรืออาจเป็นเพราะเหตุอันอื่นใดอีกที่ทำให้เป็นการเมือง
แต่ผลที่เป็นเรื่อง "การเมือง" ทำให้บั่นทอนประเด็นความเคลื่อนไหวอย่างสัมผัสได้
สัมผัสได้จากปฏิกิริยาหลัง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์รูปภาพและเรื่องการกินอาหารในร้าน "ชูจันทร์" หน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ข้าวหมูแดงเพียง 30 บาทนั้น สามารถปลุกกระแสตามชิมของไม่แพงอย่างกว้างขวาง
จาก "แพงทั้งแผ่นดิน" ตามคำของประชาธิปัตย์ กลายเป็น "มีทั้งแพงมีทั้งถูก" ในแผ่นดินนี้
และเมื่อผนวกกับมาตรการตรึงราคาพลังงาน และตรึงราคาสินค้าของรัฐบาล ทำให้ข้อครหาเรื่องของแพงเริ่มบรรเทา
เช่นเดียวกับกลยุทธ์ "ฟิลิบัสเตอร์" ที่พรรคฝ่ายค้านใช้ห้ำหั่นในการอภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะกลายเป็น "คุณ" ต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กลับกลายเป็น "โทษ"
ผลการสำรวจโพลระบุว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่ง เบื่อการเมือง...
"การเมือง" ที่เดิมเป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้รัฐบาลกลับใช้ "การเมือง" ย้อนไปทำลายประเด็นความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ เสมือนกับการยืมหอกสนองคืนผู้ใช้
ขณะที่รัฐบาลยังคงวิธีการก้มหน้าก้มตาทำงาน เยียวยา ปรองดอง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านงบประมาณประจำปี 2556 กระทั่งมองว่ารัฐบาลในขณะนี้สามารถดำรงอยู่ เมื่อรัฐบาลยังอยู่ได้ การปรับคณะรัฐมนตรีก็รอได้
ขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเต็มที่ อีกฝ่ายหนึ่งบินตรงไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหวังการปรับคณะรัฐมนตรี
ทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นย่อมอยู่ในสายตาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลการรุกคืบของรัฐบาล และเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีศักดิ์และสิทธิในการปรับคณะรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
บางทีการชะลอปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการปลดล็อก "นักวิ่ง" ซึ่งอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากทางการเมือง