"7 ปีที่มีประชาไท" คือชื่อหัวข้อของกิจกรรมที่จะมีขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ แต่เหนืออื่นใด มากกว่ารูปแบบของงานที่จะจัดขึ้นทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือผลงานที่เว็บไชต์ข่าวซึ่งมีชื่อว่า ""ประชาไท"" นำเสนอ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายมาให้ผู้อ่านได้ขบคิด โดยเฉพาะ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" หรือที่สื่อกระแสหลักทั่วไปมองข้าม
และโดยเฉพาะในช่วงที่มีความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อ "เหลือง-แดง-น้ำเงิน-หลากสี" เป็นต้น
เว็บไซต์ข่าวแห่งนี้เป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ยิ่งในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ "นปช." หรือ "คนเสื้อแดง เมื่อช่วงปี 2553 กระทั่งถูกบางฝ่ายออกมาระบุว่าเป็น "สื่อเสื้อแดง"
ทั้งที่โดยความตั้งใจของคนทำงานแล้ว ธงที่ตั้งไว้คือต้องการนำเสนอเรื่องราวจากมุมเล็กๆ ของผู้ที่มาชุมนุม และเมื่อมีการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ก็ต้องการสะท้อนเรื่องนี้ออกมาให้สังคมได้รับรู้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และในฐานะสื่อมวลชนเพื่อการสื่อสารมีความสมดุลมากขึ้น ในห้วงเวลาที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่เลี่ยงนำเสนอเรื่องทำนองนี้
การเกาะติดสถานการณ์ชนิดไม่ปล่อยของเว็บไซต์ "ประชาไท" นี่เองที่ทำให้ "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" หรือ "ศอฉ." สั่งปิดเว็บไซต์ แต่เหมือนยิ่งปิด คนก็ยิ่งอยากรู้ และเว็บข่าวประชาไทก็ฟื้นตัวเองขึ้นมาได้อีกเรื่อยๆ โดยในวันนี้ ดำรงตนอยู่ที่ www.prachatai3.info
"จีรนุช เปรมชัยพร" คือหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ ประชาไท หยัดยืนมาได้กระทั่งวันนี้
ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2501 เรียนจบปริญญาตรีด้านสิ่งพิมพ์ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นออกมาทำงานด้านนิตยสารอยู่พักใหญ่ ก่อนจะก้าวมาเป็นคนทำงานด้านสังคมเต็มตัว ด้วยการทำงานอยู่กับองค์กรพัฒนาเอกชน เป็น "เอ็นจีโอ" ยาวนานถึง 13 ปี
ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว "ประชาไท" ด้วยบทบาทที่เธอทำมาตลอดหลายปี ทำให้ได้รับรางวัล The Courage in Journalism Award (ความกล้าหาญในการทำหน้าที่สื่อมวลชน) จาก International Women Media Foundation (มูลนิธิสื่อสตรีนานาชาติ) ขณะที่ตัวเธอยังตกอยู่ในฐานะจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องระบุว่า ในเว็บไซต์ประชาไทมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ไม่นานมานี้ จีรนุชได้รับยกย่องจากนิตยสารนิวส์วีค จัดอันดับ 150 ผู้หญิงกล้าหาญของโลก (Fearless women) มีคนไทย 2 คน ได้รับยกย่อง คือ จีรนุช และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เทียบชั้นกับอีก 150 รายชื่อ ล้วนแล้วแต่ไม่ธรรมดา อาทิ ฮิลลารี คลินตัน, เมอรีล สตรีป, แองเจลินา โจลี, เลดี้ กาก้า, โอปราห์ วินฟรีย์, จิล อับรามสัน ฯลฯ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี ประชาไท ซึ่งจะมีงานในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซ.ทองหล่อ เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป
เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี พฤษภาเลือด 2553 ซึ่งเว็บไซต์ "ประชาไท" นับว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งนำเสนอเหตุการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง และยาวนานมากที่สุด
"ขอพูดคุยกับ "จีรนุช เปรมชัยพร" ในเรื่องเกี่ยวกับแวดวงสื่อมวลชน และบทบาทของประชาไทที่เธอดูแลในช่วงที่ผ่านมา"
จุดเริ่มต้นในการก่อตั้งประชาไท ?
เป็นเรื่องของการที่สื่อไทยขณะนั้นอาจจะไม่สามารถทำงานได้เป็นอิสระ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ขึ้นมา รวมทั้งสถานการณ์ในภาคใต้ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าสื่อมวลชนอาจจะมีปัญหานี้ มีการแทรกแซงในหลายกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีการที่ผู้บริหารสื่อถูกตรวจสอบภาษี การตัดงบโฆษณาอันมาจากภาคทุน รวมถึงเรื่องการกดดันทางการเมืองต่างๆ ประชาไทจึงเกิดขึ้น จากกลุ่มคนที่ทำงานด้านสังคมเป็นหลัก อาจจะมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มีสื่อมวลชน มีวุฒิสมาชิก ทุกคนล้วนสนใจประเด็นสังคม
เราตั้งใจจะเป็นตัวเลือกในสังคม ที่พยายามทำหน้าที่โดยอิสระ ปราศจากการแทรกแทรงต่างๆ เราไม่ทำงานแข่งกับสื่อใหญ่ แต่คิดทำงานที่สื่อใหญ่ไม่ทำ อันเนื่องมาจากไม่เห็นประเด็นนั้น เช่น ไม่ใช่เรื่องที่คนสนใจ ไม่ใช่เรื่องที่ขายได้แบบสื่อกระแสหลัก เป็นต้น
เช่นเรื่องของคนเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ?
ใช่ แล้วเป็นพื้นที่ให้กับเสียงที่ไม่ค่อยถูกได้ยิน เช่น เสียงของคนที่ติดเชื้อเอชไอวี เสียงของคนที่เป็นเพศทางเลือก หรือว่าเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบจากบริษัทใหญ่ๆ หรือจากนโยบายของรัฐ เรื่องราวของเขาเหล่านั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ อาจเป็นคนรับผลกระทบ พยายามทำเนื้อหาที่คิดว่าขาดหายไปในสังคม
ประชาไทจะไม่สนใจเรื่องของคนดัง คนที่มีฐานอำนาจ เพราะเราคิดว่าคนเหล่านี้มีที่ทางในการนำเสนอแนวคิด นำเสนอข้อมูลของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามใช้ทรัพยากรของเราลงไป กับการเอาเสียงของคนที่ไม่ได้มีอำนาจมานำเสนอมากกว่า
ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อมวลชน ?
ว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ พัฒนาการสื่อมวลชนในสังคมโลกเขยิบไป ทัศนคติของสื่อสารมวลชนของสังคมไทยจำนวนหนึ่งอาจจะยังติดอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างการเป็นผู้คุมอำนาจข่าวสารแบบเดิมๆ ซึ่งจริงๆ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ภูมิทัศน์ทางการสื่อสารมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ด้วยอาจวิธีคิดนั้น เขาอาจจะมองว่าประชาไทไม่เป็นมืออาชีพ ในขณะที่สำหรับเราก็อาจจะมองว่า ความเป็นมืออาชีพ มันอาจจะต้องวัดที่การตอบบางเรื่องมากกว่า มันไม่ได้มีกฎเกณฑ์แข็งๆ ตายตัวแบบที่มักจะพูดกัน หรือสังกัดของสมาคมสื่อ
ดูแลความเห็นต่อท้ายข่าวของผู้อ่านอย่างไร ?
ทีแรกไม่ได้คุมอะไรเท่าไหร่ ปัญหาหนักๆ มาเริ่มเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นจากเดิมไม่ได้มีใครออกมาบอกว่าฉันเป็นข้างนี้ แสดงความเห็นอย่างนี้ เริ่มมีลักษณะว่า โอเค.. ฉันอยู่ตรงนี้ ฉันเชื่อแบบนี้ แต่ก่อนอาจเป็นเรื่องว่าเรารู้สึกว่าไม่ได้มีสีข้างใดๆ ปฏิกิริยาต่อเรื่องหนึ่งๆ ก็เป็นตามธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่าเรื่องนั้นจะไปเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับใคร แต่ตอนหลังคนอาจจะรู้สึกว่าตนเองอยู่ฝักฝ่ายนี้ เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ตามก็จะเป็นไปในการสนับสนุนฝักฝ่ายนี้ หรือเป็นไปเพื่อลดทอน หรือว่าโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เลยทำให้ลักษณะความคิดเห็น มันแรงขึ้นและเยอะขึ้น เราก็ต้องพัฒนาระบบในการดูแล
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีระบบแบบต้องคัดกรองก่อน แต่ก็พยายาม ที่จะมีระบบการติดตาม ตรวจสอบอ่าน แล้วพบว่าข้อความไหนที่เข้าข่ายละเมิดคนอื่น ละเมิดกฎหมาย
จากม็อบพันธมิตร ถึงรัฐประหาร ถึงม็อบเสื้อแดง ประชาไทเปลี่ยนไปเยอะมั้ย ?
เป็นพัฒนาการ ถามว่าเริ่มต้นจากปี 2547 ที่เราทำเว็บไซต์ นั่งนับตัวเลขคนอ่านเลยว่ามีเท่าไหร่ ก็จะตื่นเต้น ตอนนั้นจะมีกรอบวิธีคิดว่าต้องเขียนข่าวแบบนี้ มีฟอร์มของการทำงานตามสื่อสิ่งพิมพ์มาครอบ จนค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ ก็ปรับตัว รู้ว่าการทำงานไม่ได้เป็นเรื่องกองทัพบกเท่านั้น แต่เราจะดึงคนในสังคมต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร และสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญ เป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาประชาไท ไม่ใช่เฉพาะทีมงานประชาไท ยังมีเครือข่ายนักวิชาการ เราเริ่มต้นจาก ถ้าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ ก็ควรจะเป็นประโยชน์กับเสียงที่ถูกละเลย เพราะฉะนั้น มันก็ค่อยๆ เกิดกลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ประชาไท นำเสนอแนวคิดเขา
ตั้งแต่พันธมิตร ที่เริ่มทำให้ประชาไทโดดเด่นเข้ามาในเรื่องข่าวการเมือง คิดว่าเป็นเรื่องของประเด็นมาตรา 7 ก่อนหน้านั้นรายงานความเคลื่อนไหวเหมือนสื่อทั่วไป แต่พอมีประเด็นนี้ ซึ่งไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อหลายที่นัก เราเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการได้นำเสนอเรื่องนี้ คนเหล่านี้เองที่สร้างประชาไท
ทำงานอย่างไรช่วงนำเสนอข่าวสารความขัดแย้ง ?
เราก็โดนเรียกว่าแดงนะ (ยิ้ม) แต่เราทำงานโดยที่ไม่ได้วางตัวในแง่ว่าเป็นเหลืองหรือแดง พยายามคอยมองหาช่อง ว่าเรื่องแบบไหนที่ยังมีช่องว่าง วาระที่ถูกละเลยไปต่างหากคือเรื่องที่เราให้ความสำคัญ อันหนึ่งที่ทำให้เราถูกมอง หรือเรียกว่าเป็นสื่อแดง อาจจะมาจากด้วยวิธีวิเคราะห์แบบหนึ่งของเราก็ได้ ว่าการที่ประชาไทนำเสนอเรื่องราวการเคลื่อนไหว การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ในลักษณะที่ลงไปสัมภาษณ์หรือพูดคุย กับคนที่มาชุมนุมมาเคลื่อนไหวอยู่ค่อนข้างเยอะ
ถามว่าทำไมต้องทำเยอะ ส่วนหนึ่งเราก็มองว่า เรื่องราวของกลุ่มเสื้อแดงที่ถูกนำเสนอในสื่อทั่วไป มันเป็นเรื่องของการประกาศบนเวที เป็นเรื่องของผู้นำ แต่ไม่ได้เห็นตัวผู้ชุมนุม ไม่ได้เห็นคนชุมนุม เขามีความต้องการอะไร มีแรงจูงใจอะไรในการมา เขาเป็นใคร ทำไมมาชุมนุมแบบนี้ ถูกซื้อ ไม่ถูกซื้ออย่างไร คิดว่าต้องเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของคนที่ตั้งใจจะมาแบบนี้ แล้วพอทำแบบนี้ คนก็อาจจะมองว่านี่เป็นเรื่องของการเป็นสื่อแดง
การที่ถูกมองว่าเป็นแดง ทำให้ทำงานยากขึ้นไหม ?
มันก็ยากตั้งแต่การที่เราถูกมองว่าเป็นนักข่าวนอกกระแส เราไม่ได้อยู่ในสมาคมสื่ออะไร ซึ่งช่วงที่มีความขัดแย้งหนักๆ ก็ยอมรับว่าทำให้มีความไม่มั่นใจบ้าง อย่างเมื่อต้องลงไปในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร แต่เราก็ยังส่งนักข่าวไป เพียงแต่ต้องทำงานอย่างระวัง ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวประชาไท ต้องใช้ความระแวดระวัง (ยิ้ม) ใช้ไหวพริบปฏิภาณมากพอสมควร หรือถ้าประเมินแล้วเสี่ยงเกินไป ก็อาจต้องลองดูว่า เราจะมีวิธีการได้ข่าวสารนั้นๆ ในช่องทางแบบอื่นอย่างไรได้บ้าง เช่น อาจต้องติดตามรับฟังจากการถ่ายทอดของเขา แล้วดูว่ามีประเด็นอะไรที่เป็นนัยสำคัญ
ถ้าบอกว่าสังคมไทยมีขั้วขัดแย้งแดงเหลือง ก็ต้องบอกว่าประชาไทมีเรื่องราวทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ว่าเรื่องที่ลงไปยังสนามแล้วนำเสนอก็คือเราพยามยามถ่วงดุลกับสิ่งที่หายไปในสื่อโดยภาพรวมด้วย
การรายงานข่าวตรงไปตรงมาเคยถูกคุกคามไหม ?
ไม่นะ...แต่ก็มีบางเรื่อง แต่ตัวเองมองผ่านไปแล้วคิดว่าไม่ใช่การคุกคามอะไร เพียงแต่ว่าอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องตามกระบวนการเท่าไหร่นัก เช่น อยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่เราอยู่อาศัย แต่เราไม่ได้มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ที่นั่น และก็เหมือนกับจะเชิญตัวเราไปให้พบกับเจ้านายหรือหัวหน้าของเขา โดยไม่มีหมายเรียก ไม่มีการแจ้งเหตุ สำหรับเราเอง ทีแรกจะไม่ไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ที่จะใช้กระบวนการแบบนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้วิธีคิดว่า ประเมินดูแล้วถ้าคิดว่า ไม่ได้เสี่ยงอะไรก็ลองไป เขาอยากรู้จักเรา เราก็ไปคุยให้รู้จักเท่านั้นเอง แล้วเราก้ไม่ได้ไปแบบบุ่มบ่ามมุทะลุ
พอไปถึงก็คุยกันดี เล่าให้ฟังว่าประชาไทคืออะไร ไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงอะไร เราไม่ได้เป็นขบวนการอะไรแบบที่มีการกล่าวหากันแบบลอยๆ แบบนั้น ก็เผชิญหน้า คุยกัน แล้วก็จบลงด้วยดี เพียงแต่ว่าตัวเองก็รู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น มองว่าคุกคามก็ได้ แต่เรามองว่าไม่เป็นไร ไม่นับ แค่ว่ามองว่าเขาไม่รู้จักเรา อยากรู้จักเรา ใช้วิธีพิเศษในการรู้จักนิดหน่อย เราก็ไป เราก็ต่อรองได้ขอดูบัตรตำรวจ ขับรถไปเอง ไปกับเพื่อน
มองสื่อเลือกข้างที่มีอยู่มากมายทุกวันนี้อย่างไร ?
คิดว่าเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม โดยความเชื่อพื้นฐานอันหนึ่ง ในฐานะนักศึกษาที่เรียนจบด้านวารสารศาสตร์ วิธีคิดเรื่องหลักเกณฑ์เรื่องความเป็นกลาง คิดว่ามีปัญหามาตั้งแต่อดีตและจนถึงปัจจุบัน การที่พยายามจะมีการอ้างเรื่องความเป็นกลาง แล้วก็ไปลดทอนคุณค่าของสื่อบางสื่อที่เขาตั้งขึ้นและประกาศจุดยืนของเขา เป็นเรื่องที่อาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่นัก
การมีสื่อที่หลากหลาย และสื่อแต่ละสื่อประกาศตัวเองให้ชัดว่ามีจุดยืนแบบไหน เหมือนเป็นการประกาศให้คนอ่านได้เท่าทัน เป็นการเรียนรู้ เรื่องการเท่าทันสื่อของคน แล้วคนจะได้รู้ว่า โอเค...การอ่านจากสื่อนี้มีความโน้มเอียงแบบนี้นะ หากเราอยากจะอ่านสื่ออย่างรอบด้านและสมดุล อาจจะต้องอ่านจากสื่อที่มีจุดยืนแบบอื่นๆ ด้วย เพื่อที่จะไม่ปิดตาตัวเองไว้ข้างหนึ่ง คิดว่านี่เป็นเรื่องที่เป็นธรรมกับคนอ่านมากกว่า เป็นความรับผิดชอบต่อคนอ่าน
แต่ว่าความรับผิดชอบที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อสีไหน ความคิด ความเชื่อทางการเมืองแบบไหนก็ตาม การทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุด ในแง่ของการทำงานข่าว ก็ยังมองว่า ไม่ควรจะทำให้สังคมต้องสับสนระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับความคิดเห็น คือทุกวันนี้มันมีส่วนที่เป็นการผสมปนเปกัน สิ่งเหล่านี้ต้องเอาให้ชัด และก็ต้องไม่บิดเบือน คุณอาจจะมีทรรศนะแบบนี้ แล้วพูดแบบนี้ แล้วก็ชี้ให้เห็นว่านี่คือทรรศนะ
"อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริง และความถูกต้องของข้อมูล"