วงเสวนาชี้ช่องเสื้อแดงฟ้องศาลโลก

เดลินิวส์ 1 พฤษภาคม 2555 >>>




วันนี้ (1 พ.ค.) คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดสัมมนา เรื่อง “ประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ”  โดยมีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ นักวิชการ นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผอ.กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เข้าร่วม ทั้งนี้มีกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังกันอย่างคึกคัก
นายสุนัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ล่ารายชื่อ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยให้เสนอต่อรมว.ต่างประเทศ หรือ รมว.ยุติธรรม ส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียนของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศจะได้มีเขตอำนาจศาลในการดำเนินการพิจารณาตามอำนาจที่ตราไว้ในธรรมนูญกรุงโรมที่ประเทศไทยได้รับรองไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง กับบรรดาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ที่เสียชีวิต โดยต้องให้ความเป็นธรรม และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าประชาชนอีกในอนาคต
นายสุนัย กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย จะเดินทางไปศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2555 เพื่อปรึกษาหารือ รวมทั้งจะเชิญมาในงานสัมมนาของ กมธ. โดยให้อัยการ ศาล ทหาร ตำรวจ เข้ามาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมให้การสนับสนุน
นายปิยะบุตร กล่าวว่า หากไทยจะลงสัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในวันนี้ เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ก็จะไม่ได้รับการพิจารณา อีกทั้งยังมีเงื่อนไขว่าเข้าข่าย ฐานความผิดร้ายแรงหรือไม่ นอกจากนี้ต้องดูว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ แต่ถ้าหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือว่ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว
นายพนัส กล่าวว่า การนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณา ซึ่งคดีโดยทั่วไปการสั่งฟ้องเป็นอำนาจของอัยการ แต่กรณีที่ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ อัยการไม่มีอำนาจในการสั่งฟ้องคดี จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาล โดยในแต่ละขั้นตอนไม่ผูกพันกัน และยังมีความยากเพราะจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องดูว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงเพียงพอหรือไม่ ศาลฯได้ทำหน้าที่ดีหรือไม่ และถ้าเกิดมีการนิรโทษกรรมแสดงว่ารัฐก็ไม่เต็มใจที่จะยอมรับเขตอำนาจศาล อย่างไรก็ตามการไม่ลงสัตยาบัน ก็มีข้อดี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 (3) ทำให้อัยการสามารถเปิดคดีได้ เช่นกรณีศึกษาของประเทศฮอนดูรัส ที่มีการรัฐประหาร และประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีผู้ฝ่าฝืนและถูกจับเป็นจำนวนหลายพัน กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 20 คน โดยเป็นการเจตนาฆ่า 8 คน และอีก 12 คน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถือว่าเรารุนแรงกว่า  แต่ที่ฮอนดูรัสเป็นภาคี เราไม่ใช่ แต่หากเราประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล อัยการก็สามารถอ้างเปิดคดีได้เลย