สลายแดงที่ราชประสงค์ ส่อถูกขึ้น'ศาลอาญาโลก' 'ผู้แทนไอซีทีคอร์ท'แย้ม เหตุ'ปชช.'กระตือรือร้น

ไทยอินไซเดอร์ 2 พฤษภาคม 2555 >>>




"กมธ.ต่างประเทศซีก พท." เดินหน้าผลักดันไทยเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ ปัดพุ่งเป้าเล่นงาน “มาร์ค” ด้าน "ผู้แทนไอซีซีคอร์ท" ชี้คดีสลายชุมนุมแดง มีแนวโน้มถูกนำขึ้นสู่การพิจารณา “สุนัย” เล็งเชิญทหารฟิลิปปินส์ กล่อม "ผู้นำกองทัพไทย" ให้เลิกขวาง แจงอาจไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายว่าด้วยสถาบัน

วันที่ 2 พ.ค. 2555 เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ และนางอีฟลีน บาไลซ์ เซเรโน ผู้ประสานงานศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซีคอร์ท) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ชาวฟิลิปปินส์ ร่วมแถลงข่าว หลังได้นำนางอีฟลีน เข้าพบพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในการผลักดันประเทศไทยทำสัตยาบันรัฐธรรมนูญกรุงโรม เพื่อเข้าเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์

โดยนายสุนัย กล่าวว่า ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยทำสัตยาบัน เพื่อจะเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีสลายชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เจตนาก็เพื่อปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อไทยเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว เหตุการณ์รัฐทำร้ายประชาชน จะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสมบูรณ์ แต่กรณีสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ก็สามารถยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดได้ตามช่องทาง มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญกรุงโรมได้อยู่แล้ว โดยให้รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแสดงเจตจำนง อีกทั้งในการสัมมนาของกรรมาธิการการต่างประเทศร่วมกับตัวแทนศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ผ่านมา นางอีฟลีนให้ข้อมูลว่า กรณีของประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ฝ่ายที่มีความกังวลมากที่สุดคือ "ทหาร" แต่เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ตามที่กังวล ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะเชิญตัวแทนฝ่ายทหารของประเทศฟิลิปปินส์มาพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้นำทหารประเทศไทยต่อไป

ด้านนายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยลงนามในรัฐธรรมนูญกรุงโรม ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านมาสิบปีแต่ยังไม่ได้ทำสัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ เนื่องจากมีกฎหมายภายในประเทศหลายฉบับที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญกรุงโรม เป็นปัญหาที่ไทยจะต้องปรับแก้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญกรุงโรม 

   "ส่วนที่มีความกังวลว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยนั้น จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขก็ได้ เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงความไม่เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและการเมือง มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องไม่ได้ หลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ก็มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายลักษณะเดียวกับไทย ประเด็นนี้จึงไม่ได้มีผลต่อการเป็นสมาชิก" นายพีรพันธุ์ กล่าว

ด้านนางอีฟลีน ตอบข้อซักถามต่อกรณีสลายชุมนุมที่ราชประสงค์ อยู่ในข่ายที่ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการเอาผิดกับอดีตผู้นำรัฐบาลไทยและผู้เกี่ยวข้องขณะนั้นได้หรือไม่ว่า ขณะนี้มี 7 คดีลักษณะดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดย 3 คดีมาจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ แสดงเจตนาให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาดูแล เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศของตน ไม่สามารถทำงานได้ปกติ

   "ส่วนกรณีประเทศไทยซึ่งถูกยื่นไปแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศว่ามีความหนักหน่วงรุนแรง พอรับฟ้องหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นตอนพิจารณาคดี แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาคประชาชนของไทย แสดงความกระตือรือร้นเข้าเป็นสมาชิก จะดึงดูดให้อัยการและตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศสนใจมากขึ้น" นางอีฟลีน กล่าว