
"มาร์ค" ปัดใช้ไฟใต้เล่นการเมือง จี้รองนายกฯระวังการให้สัมภาษณ์ เผยมีคนยุ่งกับนโยบาย เลยต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านกระตุกรัฐเดินให้ถูกทาง ถามหาความชอบธรรมหาก "สถาบันพระปกเกล้า" ถอนผลวิจัยปรองดอง อัดขยายสมัยประชุมหวังนิรโทษกรรม กลัวญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
วันที่ 3 เม.ย. 55 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel เกี่ยวกับสถานการณ์ใต้ว่า เรื่องนี้คงไม่มีการมาเล่นการเมืองกัน วันนี้ก็มีการเปิดเผย หรือมีการพูดจาวิเคราะห์กันไปถึงอีกหลาย ๆ ประเด็น เช่น ปัญหาเรื่องการเจรจาเรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่ง ผบ.ทบ. ก็ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ด้วย มันเป็นเรื่องของนโยบายแล้วเราก็มีหน้าที่เตือนว่าในเชิงนโยบายนั้นอย่าไปดำเนินการในสิ่งที่จะนำไปสู่การที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของผู้ที่เข้ามายุ่งกับนโยบาย แล้วจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างประเทศด้วยอะไรด้วย ตรงนี้ต้องมีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ ทั้งนี้รัฐบาลต้องปรับกำลัง และวางมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และเดินนโยบายให้เป็นเอกภาพ นอกจากนี้รัฐบาล โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี จะต้องระวังในเรื่องการให้สัมภาษณ์ด้วย
"ในส่วนของการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตามโครงสร้างกฎหมายใหม่ก็ต้องมีนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้ามาดูแล ให้ความเอาใจใส่ ความทุ่มเท ซึ่งจะต้องมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะเกาะติดพื้นที่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ถามหาความชอบธรรมหาก "สถาบันพระปกเกล้า" ถอนผลวิจัยปรองดอง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าแม้คณะผู้วิจัยจะถอนรายงานชิ้นนี้ออกไปแต่ก็ไม่มีผล ต่อการประชุมสภาวันที่ 4 เม.ย. เพราะได้บรรจุเป็นระเบียบวาระไว้แล้วว่า นายสมศักดิ์ พูดไม่ผิด แต่จะมีความชอบธรรมหรือไม่ ถ้าสภาสถาบันถอนผลวิจัยออกไป และอยากให้รัฐบาลทบทวนข้อเสนอของ คอป. เพราะมีบางข้อเสนอของ คอป. ที่ถูกหยิบไปใช้ แต่ฝ่าย คอป. ระบุว่าไม่ตรงกับสิ่งที่ คอป. นำเสนอ ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้วิธีพิจารณาข้อเสนอจากคอป.หรือสถาบันพระปกเกล้า ตามหลัก
1. สมประโยชน์ หรือถูกใจ ก็จะเดินหน้า บางทีมีการเพิ่มเติมสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือไปจากที่เขาเสนอด้วย
2. กระทบฝ่ายของตนไม่ทำ
3. ข้อเสนอที่เป็นกลาง ๆ จัดลำดับความสำคัญไว้หลัง ๆ อย่างนี้มันไม่ใช่การปรองดองตามเจตนารมณ์ของคนทำงาน
เมื่อถามว่า คอป. เสนอให้ช่วยกันประคับประคอง สร้างบรรยากาศของความปรองดอง ควรทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ด้านฝ่ายนิติบัญญัติ นาทีนี้คนที่จะแก้ปัญหาได้คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ควรถอนรายงานของกรรมาธิการออกไปก่อน แล้วไปตั้งหลักใหม่โดยหยิบเอาตัวแก่นของข้อเสนอของพระปกเกล้าในเรื่องการสร้างบรรยากาศการปรองดองกับการทำเสวนาระดับชาติต่อไป ส่วนรัฐบาลควรพิจารณาให้ ปคอป. ทบทวนข้อเสนอของ คอป. อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมามีการแปลงข้อเสนอของ คอป. เพื่อนำเสนอต่อ ครม.
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงมติ ครม. ที่ให้ขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนดว่า รัฐบาลต้องการให้สภาในสมัยประชุมนี้รับรองรายงานของคณะกรรมาธิการปรองดอง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดเงื่อนไขในการผลักดันสู่การนิรโทษกรรม จะเห็นว่ามีการวบรัดขั้นตอนของกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2 ก็จะมีการรวบรัดลงมติกัน แต่ถ้าต้องการออกกฎหมายปรองดองด้วย คงต้องใช้เวลานาน ทำไมรัฐบาลถึงไม่ปิดสมัยประชุมสภาไปก่อน เมื่อพร้อมแล้วจึงเสนอเปิดสภาสมัยวิสามัญ แต่คำตอบก็คือว่าเขากลัวจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงใช้วิธียืดไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เวลานี้รัฐบาลมีธงชัดเจนในการนำไปสู่ประเด็นการนิรโทษกรรม ที่สำคัญก็คือให้มันครบถ้วนไปถึงการล้างคดีทุจริต ซึ่งอันนี้อันตรายมาก
เมื่อถามว่า ตัวนายกฯ กับผู้นำฝ่ายค้าน ควรจะได้มีการพูดคุยกันหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหา พร้อมจะพูดคุย แต่ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลจะมีความจริงใจแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา รองนายกฯบอกว่า ร่างกฎหมายแล้วมีคนเซ็นแล้ว รอยื่นอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้จะคุยกันทำไม คุยกันเสร็จ ก็ทำเหมือนเดิม แต่ควรจะมาหาจุดร่วมกันจริงหรือเปล่า