โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....
ได้อ่านคำสัมภาษณ์ของคนประชาธิปัตย์ที่ออกมาโวยวายกล่าวโทษผู้อื่นรวมทั้ง ประชาชน สื่อมวลชนว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำดีที่สุดแล้วทำไมประชาชนยังไม่เปลี่ยนใจ หันมาเลือกประชาธิปัตย์
ความจริง คนในพรรคประชาธิปัตย์มีมากมายที่เก่ง (ในระบบการศึกษาปัจจุบัน) มีกลไกรัฐและเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมสนับสนุนเต็มกำลัง มีทั้งการสร้างการอุ้มชูด้วยกองทัพและการทำรัฐประหาร หน่วยงานความมั่นคง ซ้ำด้วยตุลาการภิวัตน์และรัฐประหารทางกฎหมาย ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่ไม่มีวันถูกยุบ แต่พรรคอื่นๆ จะถูกยุบหมด ขนาดนี้แล้วยังแพ้การเลือกตั้ง ลงท้ายโทษประชาชนกับโทษสื่อ ที่ไม่โทษก็คือตัวเองแต่ละคน และพรรคประชาธิปัตย์ของตนเอง
ลองมาฟังดูไหมล่ะ ทำไมจึงแพ้ ?
เบื้องแรกเลย
ตัวช่วยของประชาธิปัตย์ทั้งหมดนั่นแหละทำให้แพ้ เพราะตัวช่วยของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดนั้นมี จุดยืนและผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับประชาชน คนเหล่านี้ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นพวกที่รักษาอำนาจในฐานะผู้ปกครองและกุมกลไกอำนาจรัฐไทยไว้มั่นคง พูดง่ายๆ ยืนอยู่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ประชาชน เมื่อคนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังพรรคประชาธิปัตย์ ภาพที่ประชาชนมองเห็นพรรคประชาธิปัตย์ คือเป็นพรรคตัวแทนกลุ่มเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยแท้ๆชัดๆ นั่นเอง ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า แม้แต่ทัศนะภูมิภาคนิยมในภาคใต้ ที่สนับสนุนพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างประชาธิปัตย์ ก็จะเสื่อมความนิยมไปได้ เมื่อรู้ความจริงว่าตั้งแต่อดีตก่อตั้งพรรคมาจนปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ยังมีจุดยืนเดิมที่เครือข่ายจารีตนิยม เพื่อรักษาอำนาจการปกครองไว้และกลายเป็นคู่ขัดแย้งหลักกับประชาชน
เพียงแค่นี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพราะคุณยืนอยู่คนละฟากกับประชาชนส่วนใหญ่ ยิ่งประชาชนรู้มากขึ้น เข้าใจการเมืองมากขึ้น เขาจะยิ่งหาทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น
ประการสำคัญ ต่อมา คือ การดำเนินงานพรรคการเมืองใดๆ ก็ตาม ถ้าจะเป็นพรรคใหญ่ พรรคหลักของประเทศในฐานะพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านก็ตาม คุณต้องมีองค์ความรู้และแนวทางของพรรค สำหรับการขับเคลื่อนประเทศที่ชัดเจน แม้จะเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมก็ชอบที่จะมีหลักทฤษฎีเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ตามแบบฉบับอนุรักษ์นิยม หรือจะจารีตนิยมสุดขั้วก็ตาม เพื่อให้สังคมไทยที่มีกลุ่มคนอนุรักษ์นิยมเป็นจำนวนมาก สนับสนุนแสดงออกถึงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักการความเชื่อและแนวทางของพรรคตน
ตัวอย่างเช่น นโยบายทางเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ควรให้สังคมรู้ว่าท่านเดินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบไหน การเมืองการปกครอง ภาพที่สนับสนุนมาตรา 7 ไม่คัดค้านการรัฐประหาร จนถึงขั้นสนับสนุนออกหน้าออกตาก็มี หลายคนขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจัดการกับรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แสดงออกถึงการไม่เอาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจยิ่งน่าเกลียดที่ไม่มีหลักการชัดเจน นอกจากการลอกเลียนสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยด่าว่าเป็นนโยบายประชานิยม ความจริงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยเดิมเป็น “Dual Tracts” ทวิวิถีซึ่งมีรายละเอียดทั้งเศรษฐกิจภายนอก ภายใน เศรษฐกิจระดับบน ระดับล่าง และอื่นๆ รวมทั้งการทำ Hub ภูมิภาคทางเศรษฐกิจการเมือง การนำเสนอวิสัยทัศน์ทางการเมืองการปกครอง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่พรรคใหม่ทุกพรรคทุกแนวทางต้องแสดงต่อสังคมให้ชัดเจน
คือ จะเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมก็แสดงองค์ความรู้วิสัยทัศน์ นโยบายให้ชัดเจนไปเลย ไม่ใช่คิดแย่งชิงประชาชนง่ายๆ แบบดูถูกประชาชน คือแจกเงินดื้อๆ เกทับด้วยจำนวนเงินที่แจก เพราะคิดเอาง่ายๆ ว่าถ้าแจกเงินมากกว่า เสนอผลประโยชน์มากกว่าน่าจะซื้อประชาชนได้ ขอโทษค่ะ ประชาชนไทยหลังรัฐประหารเขาก้าวหน้าไปไกลแล้ว
ประเด็นองค์ความรู้และ หลักการของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ปัญหางานต่างประเทศเรื่องเขาพระวิหารแต่ละครั้งท่านพูดไม่เหมือนกัน ตอนปี 43 ก็พูดอย่างหนึ่ง ตอนปี 51 ก็พูดอย่างหนึ่ง ปี 54 ก็พูดอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่พวกจารีตนิยมด้วยกันก็โจมตีหนัก และในที่สุดก็เดินตะแคงตามจารีตนิยมสุดขั้วอย่างกล้าๆกลัวๆ ดีที่จบรัฐบาล หาไม่ จะทำอย่างไร เรื่องถอนทหาร นี่จึงแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำงานการเมืองตามคำชี้นำของระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการทำตามหลักการแนวทางทฤษฎีของพรรคของตน จึงเป๋ไปเป๋มา พาประเทศชาติถูลู่ถูกัง ตามการเดินแบบไร้หลักการในทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นี่จึงสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับประชาชน ที่แม้จะมีวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม หรือเป็นอนุรักษ์นิยมโดยชนชั้น ก็ไม่อาจเชื่อมั่นไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ได้ แล้วเขาก็จะหาทางเลือกใหม่อีกเช่นกัน
ประเด็นที่สาม ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศให้ก้าวหน้าประชาชนเป็นสุข เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทำให้แพ้การเลือกตั้งหลังรัฐประหาร รัฐบาลอำมาตย์ของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้โอกาสบริหารประเทศ โดยจี้ปล้นอำนาจจากประชาชนไป แต่ไร้ฝีมือในการแก้ความทุกข์ยากของประชาชน ลองไปสำรวจความคิดเห็นของ SME ของพวกผลิต OTOP ของประชาชนรากหญ้า ชาวไร่ชาวนา แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ ว่าเขาทุกข์ยากเพียงไร ?
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนกับประชาชน รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ยากของประชาชน จะได้ยินเสียงร่ำร้อง คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากทั่วทุกสารทิศในยามนี้ แม้แต่ นปช. ซึ่งมีข้อเรียกร้องทางการเมือง ทวงความยุติธรรมเป็นจุดสำคัญ ยังต้องยอมรับให้เวลารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ดังนั้นฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจถือว่าล้มเหลวในแง่ของคนรากหญ้า (เพราะนึกว่าแจกเงินคนชรา, อาสาสมัครสาธารณสุข, ทำประกันราคาข้าว, เรียนฟรีปลอมๆ คงจะซื้อประชาชนได้)
ฝึมือในการบริหาร การเมืองการปกครอง การแก้ความขัดแย้งในสังคมยิ่งล้มเหลว หายนะ ระเนระนาด โดยเอาการทหารมาแก้ความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองพัฒนาสู่ระดับสูง จากข้อเรียกร้องให้ยุบสภาของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน พรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าไปอยู่ในค่ายทหารนานนับเดือน ใช้วิธีคิดวิธีทำงานในการแก้ปัญหาการเมืองด้วย วิธีคิดวิธีทำงานแบบการทหาร และหน่วยงานความมั่นคงที่มีจุดยืนแบบการใช้อำนาจการทหาร เผด็จการ อำนาจของประชาชน นี่จึงไม่ใช่การบริหาร, แก้ไขความขัดแย้งที่ถูกต้อง เกิดการขอคืนพื้นที่, กระชับพื้นที่, ก่อนใช้อาวุธจริงและการรบเต็มรูปแบบตามที่เอกสารการทหาร เสนาธิปัตย์ได้ระบุไว้ และอ้างถึงผลสำเร็จในการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาล ชัดเจนในการให้ปราบปราบประชาชน ทั้งจากคำสั่งที่ออกมาชัดเจนตามกฎหมาย ทั้ง พรบ.ความมั่นคง และ พรก.ฉุกเฉิน การบริหารประเทศเศรษฐกิจการเมืองที่ล้มเหลว ทำให้ประเทศชาติเสื่อมถอย ประชาชนทุกข์ยาก ถูกปราบปรามเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น รวมทั้งการใช้กฎหมายไม่เสมอภาค ตั้งข้อหารุนแรง จับกุมคุมขังโดยไร้หลักฐาน ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษปฏิปักษ์ทางการเมืองแทนคำพิพากษา
ความอยุติธรรมเหล่านี้เป็นแรงส่งให้ประชาชนหันมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยกันเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่าง ๆกลายเป็นแกนนำของประชาชนส่วนใหญ่ให้ตื่นตัวทางการเมือง นี่จึงเป็นประเด็นสุดท้ายที่ว่าประชาชนไม่ยอมให้พรรคการเมืองเครือข่ายระบอบ อำมาตย์ปกครองต่อไป ความตื่นตัว ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองและสาเหตุปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้มาจากการ ยกระดับความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั้งประเทศ โดยการขับเคลื่อนจากการต่อสู้ของประชาชน การจัดองค์กร การสร้างแกนนำ ผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ เหตุผลทั้งสี่ประเด็นนี้แหละที่ผู้เขียนเชื่อว่าคือเหตุผลหลักที่ทำให้ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ยังไม่นับวิธีการที่พูดใส่ร้ายป้ายสีคน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงสภาพเช่นนี้อยู่ ก็คงแพ้อีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลุ่มอนุรักษ์นิยมอาจต้องหาทางตั้งพรรคใหม่ ไหวไหมล่ะ ?