โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....
จากรัฐประหารกันยายน 2549 ถึงการก่อตั้ง นปช.
- กลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารทันทีเป็นปัญญาชน เยาวชน คือกลุ่ม 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร
- กลุ่มที่ออกมาต่อต้านในวันต่อมาเป็นกลุ่มประชาชนอิสระใหม่และกลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ พิราบขาว เพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ฯลฯ
- การเกิดแนวร่วมจับมือกันหลวม ๆ มี พีทีวี สมาพันธ์ประชาธิปไตย คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มสตรีประชาธิปไตย ฯลฯ
- การยึดสนามหลวงเป็นเวทีปราศรัยยืดเยื้อจนถูกจับกุมกรณีหน้าบ้านสี่เสา
เป้าหมายทางการโจมตีจากกองทัพบกไปสู่บ้านสี่เสา บทเรียน มวลชนยังมีน้อย และดำเนินการจัดการมวลชนมาร่วมขบวน โดยบุคคลและคณะที่ไม่ชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์
สรุปว่า
- งานมวลชนยังไม่เพียงพอ
- การนำมาจากการสั่งการและวางแผนโดยคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ของประชาชน และไม่มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหารจริง
- หลังจากการติดคุก 1 สัปดาห์ของแกนนำครั้งแรก ได้พัฒนามาก่อตั้ง นปช. “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” ซึ่งก็มาตั้งเป็นองค์กรแนวร่วมแบบเดิม คือกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมประชุมเป็นครั้งคราว ถือเป็นการพัฒนาการที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะยิ่งใหญ่ขึ้น
และตามด้วยรายการความจริงวันนี้ปี 51 ซึ่งมาจากรัฐบาลพลังประชาชนโดย นายกฯ สมัคร สุนทรเวช งานมวลชนเกิดขึ้นได้มากจากรายการความจริงวันนี้ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมารวมพลใหม่ เพื่อล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่ นปช. กลับลดบทบาทไป มีแต่กลุ่ม คปพร. ที่มีเป้าหมายเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 เอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับใหม่ โดยองค์กรนี้เป็นองค์กรแนวร่วมเฉพาะกิจ เพื่อรวบรวมรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดเมื่อรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เผชิญการต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ขยายตัวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และเครื่อข่ายระบอบอำมาตย์ก็เติบใหญ่ เกิดกรณี 7 ตุลาคม 2551 จนคุณสมัคร สุนทรเวช พบกับคดีผัดกับข้าวต้องลาออก โดยมีคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เผชิญกับพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ที่รุกกระหน่ำปิดทำเนียบ ปิดช่อง 11 ยึดสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ จนคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นไปด้วยคำสั่งศาลอีกเช่นกัน นี่เป็นเวลาที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนเป็นเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พลังมวลชนอ่อนแอลงไป หันไปคิดปราบปรามมวลชนเสื้อเหลือง แทนที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับมวลชนเสื้อแดง
บทสรุปในช่วงนี้แสดงว่า แม้ชนะเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็แพ้อำนาจเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่ใช้กำลังมวลชนนอกระบบ สีเหลืองคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหัวหอก ตามด้วยทัพนักการเมือง พรรคการเมือง สื่อ นักวิชาการ กระบวนการยุติธรรมและกองทัพ
การได้อำนาจรัฐที่กลไกรัฐ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม และเครือข่ายอื่นๆ อยู่ในมือระบอบอำมาตย์ โดยไม่สร้างความเข้มแข็งของมวลชนเสื้อแดง จึงเป็นเหตุหนึ่งแห่งความพ่ายแพ้ในยกที่สอง เพราะการวางแผนชี้นำทางการเมืองมาจากคนที่ไม่ใช่กลุ่มอุดมการณ์ แต่เป็นนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์ จึงยอมแพ้หนีไปอยู่ฝั่งระบอบอำมาตย์ ทำให้เราเสียอำนาจรัฐในมือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้อำนาจรัฐไปแทน ทำให้ระบอบอำมาตย์ได้อำนาจรัฐสมบูรณ์ เป็นที่มาของการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2553 แต่งานมวลชนคนเสื้อแดงขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ ท่ามกลางการต่อสู้นับจากปี 2550 เป็นต้นมา
การเริ่มต้นแนวร่วมที่มีรูปการ มีหลักการ เกิดขึ้นในปลายปี 2552 หลังจากเหตุการณ์ถวายฎีกาแล้ว มีความขัดแย้งทางความคิดในหมู่แกนนำ จึงได้พิจารณาว่ามันถึงเวลาที่ต้องกำหนดหลักนโยบายแล้วมีมติร่วมกัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาความขัดแย้งและทุ่มเถียงนำมาซึ่งความแตกแยก และไม่เป็นเอกภาพของขบวนฯ นี่เป็นการสรุปบทเรียนครั้งใหญ่ จึงได้มีการนำเสนอหลักนโยบาย เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เป็นชุดความคิดแนวทางการต่อสู้อย่างเป็นระบบ ที่ย่อมมิใช่การจับมือกันหลวม ๆ แบบในอดีตอีกต่อไป แต่เป็นการเริ่มต้นของการต่อสู้ที่เริ่มมีหลักนโยบายชี้นำ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าขบวนฯ นี้มีความเข้าใจแล้วว่า การต่อสู้ของประชาชนเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพราะนี่เป็นการสรุปหลังการทำรัฐประหารมาร่วม 3 ปี และในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อจำเป็นที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งของขบวนฯ จำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายของการต่อสู้ในแต่ละระยะ จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีการยกระดับความรู้ ความเข้าใจของประชาชน ของผู้ปฏิบัติงาน และของแกนนำทุกระดับ ที่สำคัญต้องเริ่มต้นพยายามให้มีการจัดตั้งองค์กร มีโรงเรียน และมีการนำที่เป็นการนำรวมหมู่ นำโดยหลักการ ไม่ใช่การนำโดยกลุ่มบุคคลตามอำเภอใจหรือตามประสบการณ์ นี่เป็นการสรุปบทเรียนที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นข้อดี แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าแกนนำแต่ละระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำส่วนกลางบางคนจะยึดกุมหลักการนี้ได้ ข้อดีคือมีการตื่นตัวทั่วทั้งขบวนฯ ในการจัดศึกษาและเปิดโรงเรียน นปช. ทั่วประเทศ มองในแง่ความสำเร็จย่อมให้คะแนนในความสำเร็จนี้ได้ค่อนข้างสูง แต่เราขาดการสรุปบทเรียนในเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างจริงจัง จึงเกิดปัญหาความเสียหายที่ซ้ำรอยเดิมในยามคับขัน อันเนื่องมาจากการไม่สามารถยึดกุมหลักการและระเบียบวินัยขององค์กร ที่พัฒนาการต่อสู้กว้างขวาง แหลมคม และยกระดับ
ข้อดีอย่างหนึ่งอันเป็นผลจากพัฒนาการต่อสู้เป็นแนวร่วมที่มีองค์กร และมีหลักนโยบาย คือเราได้บ่มเพาะแกนนำขึ้นมามากมาย เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนฯ ได้อย่างมีพลัง และส่งทอดไปจนถึงการต่อสู้ทั้งในยามคับขันและในการเลือกตั้งจนประสบชัยชนะ