ทีมข่าว นปช.
17 มิถุนายน 2557
ก่อนหน้านี้ ASTV ผู้จัดการได้ลงข่าวการจับกุมหนูหริ่งและระบุว่าหนูหริ่งเป็นคนสนิทของ อ.ธิดา ทีมงานคิดว่าที่กล่าวอย่างนั้นไม่ผิด แต่หนูหริ่งเป็นคนสนิทประเภทที่ไม่ต้องพูดกันมาก ไม่ต้องคุยกันบ่อย ทั้งหนูหริ่งและอ.ธิดาให้การยอมรับซึ่งกันและกัน เวลาสนทนาแลกเปลี่ยนกันหนูหริ่งมักจะได้คำตอบในหลาย ๆ เรื่องที่หาจากคนอื่นไม่ได้ และอ.ธิดาเองก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่หนูหริ่งทำนั้นถูกต้อง หลังจากที่เมื่อเช้าวานนี้ (16 มิ.ย.) อ.ธิดาได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อาจารย์ได้รับปากว่าจะเขียนเรื่องราวของหนูหริ่ง ในวันนี้อ.ธิดาก็ได้เขียนตามที่รับปากไว้ ในหัวข้อ "สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) ในมุมมองของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ" ดังนี้
สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) ในมุมมองของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ผู้เขียนรู้จักหนูหริ่งครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ที่ออกมาประท้วงรัฐประหาร 2549 ที่หน้าพารากอนร่วมกันนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เป็นคณะแรกที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร จากนั้นนักศึกษากลุ่มนี้และคณะหนูหริ่งก็ย้ายสถานที่มาจัดการประท้วงที่สนามหลวง แรก ๆ เรียกชื่อว่า “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” ร่วมกับสมาพันธ์ประชาธิปไตยที่เป็นองค์กรต้านร้ฐประหารมาตั้งแต่ปี 2535 โดยมีแกนนำ คุณหมอสันต์, คุณหมอเหวง, ครูประทีป และยังมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มพิราบขาว ผลัดกันตั้งเวทีปราศรัยเล็ก ๆ บางทีก็ร่วมกันจัดเวที
ไม่นานกลุ่มเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารก็สลายกลุ่ม หนูหริ่งก็มาตั้งกลุ่ม “พลเมืองภิวัฒน์” ร่วมกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขและคณะ แล้วก็แยกกลุ่มเป็น “วันอาทิตย์สีแดง” ของหนูหริ่ง และกลุ่ม “24 มิถุนา ประชาธิปไตย” ของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จับมือกับกลุ่ม “PTV” ของสามเกลอ คุณวีระ, จตุพร, ณัฐวุฒิ และช่วงนั้นก็มีคุณจักรภพ เพ็ญแข ร่วม “PTV” ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นรากเหง้าของ “นปก.” แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงการที่แกนนำถูกจับกุมคุมขังเป็นครั้งแรกเมื่อยกขบวนไปปราศรัยหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ แกนนำติดคุกประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ จึงประกันตัวออกมา (นี่ยังถูกฟ้องคดีอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กล้ำกรายไปในบ้านหรือทำลายข้าวของใด ๆ)
หลังจากนั้นจึงประชุมเปลี่ยนชื่อเป็น นปช. เสนอโดยคุณวิภูแถลง ว่าเป็นองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ขอให้เติมคำว่า “แห่งชาติ” ด้วย จึงกลายเป็น นปช. ตอนนั้นไม่มีใครคัดค้านเพราะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ผู้เขียนยังติดใจที่คำว่า “แห่งชาติ” เป็นคำขององค์กรฝ่ายรัฐมากกว่า เช่น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฯลฯ นี่เล่าเรื่องย่อ ๆ ให้ทราบถึงที่มาของ นปช. อันเป็นที่มาของกิจกรรมร่วมกับนักต่อสู้หนูหริ่ง
หนูหริ่งที่ผู้เขียนรู้จักมาตั้งแต่มี 2549 ประการแรก ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนในการต่อต้านเผด็จการและการทำรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชน ประการต่อมาคือ กระบวนการในการต่อต้านการทหารที่เผด็จการต่อประชาชนเน้นใช้ “สันติวิธี” คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ประการที่สาม ปฏิบัติการตามกระบวนการสันติวิธีให้บรรลุเป้าหมายในการต่อต้านเผด็จการ ใช้การแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไม่ได้ใช้คนชุมนุมใหญ่ ไม่ยืดเยื้อ ประการที่สี่ หนูหริ่งได้เริ่มต้นจากปัญหามนุษยธรรมและทำงานด้าน NGO ที่สำคัญคือมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมีคุณูปการต่อสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นสีเสื้ออะไรก็ตาม มูลนิธิกระจกเงาทำงานค้นหาผู้สูญหายโดยไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใด ชนชั้นไหน ได้รับความเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ หนูหริ่งสามารถทำงาน NGO และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างยอดเยี่ยม (ส่วนมากของ NGO ในประเทศไทยนั้นไม่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นหนูหริ่ง)
บางคนอาจเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้ของหนูหริ่งก็ตาม บ้างก็บอกว่าวิธีการนี้โค่นล้มเผด็จการไม่ได้ แต่ก็มีคนจำนวนมากเห็นว่าได้ผลในการทำให้อำนาจเผด็จการสะเทือน หวั่นไหว ผุกร่อน สามารถขยายแนวร่วมได้ดีในหมู่ปัญญาชน ชนชั้นกลาง และได้รับความเห็นใจจากผู้คนในสังคมโลกไม่ว่าได้ผลหรือไม่ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิบัติการของหนูหริ่งและคณะตามอุดมการณ์รักประชาธิปไตย รักความยุติธรรมและความต้องการให้บรรลุเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพของหนูหริ่ง ที่ใช้ปฏิบัติการทางสัญลักษณ์ในการต่อสู้โดยสันติวิธี ก็ได้รับการขานรับ ยกย่อง เผยแพร่ ไม่อาจประณามว่าเป็นอาชญากรต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด พูดง่าย ๆ ว่าคนที่เกลียดชังมีน้อยมาก ที่แท้คือความกลัวว่าปฏิบัติการนี้จะส่งผลสั่นสะเทือนอำนาจเผด็จการอนุรักษ์นิยมนั่นเอง
หรูหริ่งไม่ค่อยจะขึ้นเวทีปราศรัย แต่จะช่วยจัดการกิจกรรมขบวนการสันติวิธีร่วมกับคุณหมอเหวงตั้งแต่แรก จะเดินขบวนกันก็ยังหาบรูป “มหาตมะ คานธี” ไปด้วย และการจัดแสดงละครล้อเลียนทหารเผด็จการเป็นต้น
หลังรัฐประหาร 2549 ใหม่ ๆ ที่มีคนเอาดอกไม้ไปให้ทหารนั่นแหละ กลุ่มต่อต้านกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจัดปราศรัยที่สนามหลวง ก็มีคนมาฟังไม่มาก ตอนนั้นผู้เขียนก็ติดตามไปกับคุณหมอเหวง ไปดูและให้กำลังใจกลุ่มต่าง ๆ จนเมื่อ PTV มาร่วม มีสามเกลอมาคนฟังการปราศรัยก็เริ่มมากขึ้นบ้าง หนูหริ่งเธอเป็นเสรีชน บางครั้งก็มาร่วมกัน บางครั้งก็หายไป บางเวลาก็มาใหม่ เมื่อประชุมแนวร่วมกลุ่มต่าง ๆ ผู้เขียนเคยพยายามปูพื้นทฤษฎีโดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สังคมไทยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การต่อสู้ของประชาชนในทิศทางที่สอดคล้องกับความเป็นจริง หนูหริ่งสนใจและแปลกใจที่ผู้เขียนพยายามบรรยายเรื่องเหล่านี้และขอสไลด์คำบรรยาย คนอื่น ๆ จะสนใจแค่ไหนก็ไม่แน่ใจ
จากนั้นท่ามกลางการต่อสู้เป็นลำดับมา ก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเป็นครั้งคราว ผู้เขียนก็ไม่เคยไปครอบงำ ชี้แนะ หนูหริ่งเป็นตัวของตัวเองที่ไม่เคยเสียจุดยืน อุดมการณ์และวิธีการไปเลย ท่ามกลางมรสุมการต่อสู้ระลอกแล้วระลอกเล่า มีบางครั้งที่ผู้เขียนซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตโดยตรงในการต่อสู้มายาวนานกว่า ก็ได้แลกเปลี่ยนให้แง่คิดและกำลังใจ เพื่อให้บุคคลที่มีค่าต่อสังคมเช่น
นี้ได้เดินอยู่บนถนนสายการต่อสู้ยาวนานและมีคุณค่าตลอดไป
สัญลักษณ์ “สีแดง” ก็เกิดจากหนูหริ่งที่เสนอใช้ในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ VOTE NO ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 และหลังจากนั้นในการเคลื่อนไหวผู้เขียนและแกนนำ นปช. ก็เห็นด้วยที่จะใช้เสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการต่อไป เพราะเรามีเสื้อสีแดงอยู่แล้วตั้งแต่ตอนต้านรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อความสะดวกและประหยัดและเหมาะสม
แรก ๆ คุณหมอเหวงและผู้เขียนเคยติงหนูหริ่งว่า สีแดงจะถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า? หนูหริ่งก็ยืนยันว่า เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่น่ากลัวอะไร นี่คือที่มาของสีแดงที่ นปช. ใช้เป็นสีสัญลักษณ์ของการต้านอำนาจเผด็จการ ต้านรัฐประหารมาตั้งแต่นั้น
หนูหริ่งก็ทำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงมาเป็นระยะ ๆ และมาทำงานมากสักหน่อยหลังการถูกปราบปราม นองเลือดปี 2553 แกนนำ นปช. ถูกจับกุมคุมขัง และบ้างก็หลบหนีไปต่างประเทศ ต้องถือว่าหนูหริ่งได้พยายามปลุกขวัญกำลังใจคนเสื้อแดงให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ ด้วยวิธีการผ่านการแสดง เช่น “ที่นี่มีคนตาย” และสัญลักษณ์ผูกผ้าแดง, การพับนกประดาษ เป็นต้น
จนกระทั่งผู้เขียน, จตุพร และคณะรักษาการ คณะกรรมการ นปช. ได้มาแสดงบทบาทในการรื้อฟื้นสร้างองค์กร นปช. ในรอบใหม่ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ยังเป็นคนเดิม เป็นแกนนำ (ที่เรียกตัวเองว่าเป็นแกนนอน) ในใจของคนเสื้อแดงมาตลอด แม้บางครั้งจะลดบทบาทไปก็ตาม แต่ทุกครั้งที่คนเสื้อแดงถูกปราบปรามด้วยอำนาจปฏิบัติการทางทหาร หรือมีภาวะเผด็จการทางการเมือง หนูหริ่งจะมีบทบาทนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในสังคมออนไลน์
แน่นอนว่าคนเสื้อแดงจะชื่นชมหนูหริ่ง ผู้เขียนคิดว่าสังคมไทยและโลกควรสร้างคนแบบนี้มาก ๆ และรักษาเขาไว้ในฐานะมนุษย์ที่มีค่า ไม่เคยข่มเหงรังแกใคร เป็นคนที่หัวใจมีแต่ความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมไทยสังคมโลกเป็นสังคมของอารยชนที่อยู่ด้วยความเคารพกันและมีเหตุผล ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน
“คุก” อาจขังหนูหริ่งได้แต่เพียงร่างกาย แต่สมองและหัวใจนั้น เขาโบยบินไปได้ทุกที่ ต่างกับคนที่ไม่มีกรงคุมขังร่างกาย แต่สมองและจิตใจถูกจองจำด้วยตนเองที่ไม่กล้าคิดและไม่กล้าทำ!!! นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนแลกเปลี่ยนกับหนูหริ่งในการเยี่ยมเยียนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และหนูหริ่งได้กางมือทำท่าโบยบินให้ดูด้วยความร่าเริง.
ธิดา ถาวรเศรษฐ
17 มิถุนายน 2557