เผยรายงานตรวจสอบองค์กรสิทธิฯ อาเซียน - ระบุบทบาทเหมือน "ตู้โชว์"

ทีมข่าวนปช.
21 มิถุนายน 56

องค์กรประชาสังคมเผยแพร่รายงานตรวจสอบองค์กรสิทธิฯ อาเซียน "AICHR" ระบุมีบทบาทไม่ต่างจาก "ตู้โชว์" โดยการร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนก็ขาดการมีส่วนร่วม เน้นรัฐมากกว่าสิทธิ ด้านผู้วิจัยระบุด้วยว่า AICHR ตั้งมา 3 ปีแล้วแต่กลับเงียบเมื่อเกิดเหตุจับกุม-อุ้มหายนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษย ชน ทั้งกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถึง สมบัด สมพอน
กรุงเทพมหานคร - วันนี้ (20 มิ.ย.) ฟอรัม เอเชีย และมูลนิธิศักยภาพชุมชนได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบผลการดำเนินงานขององค์กร สิทธิมนุษยชนอาเซียน หรือ AICHR โดยเป็นรายงานฉบับที่สาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานตรวจสอบประจำปี 2 ฉบับ นำเสนอโดยองค์กรประชาสังคมอื่น โดยรายงานฉบับล่าสุดดังกล่าวใช้ชื่อว่า "Still Window-dressing" หรือ "ยังคงเหมือนตู้โชว์" โดยเป็นการรวบรวมผลการทำงาน และวิจารณ์ผลการดำเนินงานของ AICHR ระหว่างปี 2554 - 2555 โดย นางแอนิเก โนวา ซิกิโร (Atnike Nova Sigiro) ผู้อำนวยการด้านงานรณรงค์ประเด็นอาเซียนของฟอรัม เอเชีย กล่าวว่า
"ภายใต้การประเมินนี้ องค์กรภาคประชาสังคมจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนอา เซียนหรือ AICHR และทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นองค์กรที่อิสระ และมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการปกป้อง และสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน"
อย่างไรก็ตาม นางแอนิเก กล่าวว่างานของ AICHR ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะฉะนั้นผลกระทบของ AICHR ที่จะมีต่อชีวิตของประชาชนในอาเซียนก็มีน้อยมาก "นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมองค์กรประชาสังคมจึงพิจารณาการทำงานของ AICHR ที่มีภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียนว่า "ยังคงเหมือนตู้โชว์""
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) กล่าวว่า องค์กรประชาสังคมในประเทศไทย และประเทศอื่นในอาเซียนได้มีบทบาทในการผลักดันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ขนานใหญ่ โดยการประเมินอย่างวิพากวิจารณ์ AICHR ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรประชาสังคมในอาเซียนปฏิบัติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้ข้อมูลในหลากหลายด้านให้กับ AICHR ด้วย
ด้านชิเวย เย นักวิจัยของรายงานตรวจสอบผลการดำเนินงานของ AICHR กล่าวว่า รายงานฉบับดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายทั้งที่ เป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งจากสมาคมอาเซียน จาก AICHR และองค์กรประชาสังคม โดยข้อเสนอของรายงานได้เรียกร้องอย่างหนักแน่นให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน หรือ AICHR มีความโปร่งใสมากขึ้น ทำงานอย่างครอบคลุม รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทุกอย่างที่มีความเกี่ยวข้องอย่างเรื่องเอกสาร และวาระของกิจกรรม ให้อยู่ในเว็บไซต์ทางการของ AICHR ด้วย
โดยชิเวย เย ยังกล่าวถึงกรณีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุกคามในรอบปีที่ผ่านมา เช่น ยอมโบปผา ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการไล่รื้อที่ดินในกัมพูชา ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาถูกรัฐบาลกัมพูชาจำคุก 3 ปี ทา ฝอง ตัน บล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกจำคุก 10 ปี จากการเขียนบล็อกวิจารณ์รัฐบาล โดยแม่ของเธอยังจุดไฟเผาตัวตายประท้วงคำตัดสินด้วย ทั้งนี้ทา ฟอง ตัน เป็นหนึ่งในบล็อกเกอร์ 32 รายที่ถูกรัฐบาลเวียดนามดำเนินคดี
ชิเวย เย ยังกล่าวถึงกรณีที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำและถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร โดยที่เขาไม่ได้เป็นผู้เขียน และล่าสุดคือกรณีของนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสของ สปป.ลาว ที่หายตัวไปในเดือนธันวาคมปี 2555 หลังถูกตำรวจควบคุมตัว และขณะนี้ยังไม่พบตัว
ชิเวย เย กล่าวด้วยว่านี่เป็นหนึ่งในหลายตัวอย่างของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ในอาเซียน และ AICHR ได้ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี แต่กลับเงียบงันต่อเรื่องนี้ และไม่มีการเคลื่อนไหวรูปธรรมอะไรเวลาที่เกิดกรณีละเมิดสิทธิเช่นนี้
ด้านยุวาล กินบา ที่ปรึกษาทางกฎหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความเห็นต่อบทบาทของ AICHR ในช่วงที่มีการร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนว่า "จากรายงานตรวจสอบผลการดำเนินงาน AICHR ฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าว เป็นไปอย่างลึกลับ โดยที่องค์กรประชาสังคมจะเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดผลอย่างสำคัญ ก็ได้เข้าร่วมในช่วงที่ผ่านการร่างไปหลายขั้นตอนแล้ว นอกจากนี้การตัดสินใจของ AICHR ก็อยู่บนพื้นฐานของหลักการลงฉันทะมติ ที่ให้สิทธิผู้แทน AICHR สามารถวีโต้ได้ ผลก็คือได้คำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่ล้มเหลวอย่างมาก โดยเป็นคำประกาศที่เน้นให้ความสำคัญกับอำนาจของรัฐบาลมากกว่าหลักการสิทธิ มนุษยชน

ที่มา ประชาไท วันที่ 20 มิถุนายน 56