ไต่สวนผบ.พัน คดี"ฮิโรยูกิ"

ข่าวสด 19 มิถุนายน 2556




แดงยุโรป เข้าเยี่ยม ผู้ต้องขัง


เสื้อแดงยุโรปบินมาไทยรุดเยี่ยมนักโทษการเมือง ปลอบให้กำลังใจ อีกไม่นานจะได้รับอิสรภาพ ศาลไต่สวน "ผบ.พัน" หาสาเหตุการตาย "ฮิโรยูกิ" ช่างภาพชาวญี่ปุ่น กับ 2 หนุ่มเสื้อแดง ในเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 เบิกความถึงรายละเอียดตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งจาก "ศอฉ." ให้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ แล้วปะทะกับผู้ชุมนุม ด้าน "เทพเทือก" เซ็นรับหมายนัด "ดีเอสไอ" แล้ว พร้อมไปพบให้นำตัวส่งฟ้องต่ออัยการ คดีเจ้าหน้าที่ยิงพัน คำกอง น้องอีซา และลุงขับรถตู้



เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนาย ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่ นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า 2 ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยทั้ง 3 คนถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553



นายทหารระดับผู้บังคับกองพัน ค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี ขึ้นเบิกความว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2553 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยควบคุมกองร้อยที่ 3 มีกำลังเจ้าหน้าที่ 5 กองร้อย แต่ละกองร้อยมีกำลังพล 150 นาย มีอาวุธประจำกายสำหรับทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตร เป็นปืนเล็กยาวเอ็ม 16 จำนวน 10 กระบอก มีกระสุนจริงบรรจุกระบอกละ 40 นัด เพื่อใช้รักษาความปลอดภัยเวลาเข้าเวรยาม ส่วนพลทหารมีอาวุธประจำกาย คือโล่และกระบอง ในระหว่างปฏิบัติการที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นแต่อย่างใด



พยานเบิกความต่อว่า ต่อมาวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลา 09.00 น. ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปขอคืนพื้นที่บนถนนราชดำเนิน บริเวณ สี่แยกคอกวัว ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกำลังพลทั้งหมดแต่งชุดควบคุมฝูงชน มีโล่และกระบอง มีปืนลูกซองยิงกระสุนยาง 10 กระบอก มีกระสุนกระบอกละ 30 นัด สำหรับนายทหาร ส่วนปืนเอ็ม 16 ถูกเก็บไว้บน รถบัส โดยแยกปืนและกระสุนออกจากกัน



ผู้บังคับกองพันเบิกความว่า จากนั้นเวลา 11.00 น. เดินทางมาถึงสโมสรทหารบก บริเวณสี่แยกเทเวศร์ เพื่อเข้าจุดรวมพลและรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ที่รับคำสั่งมาจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้ขอคืนพื้นที่การจราจรจากสี่แยกคอกวัวไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากกลุ่มนปช.ตั้งเวทีกีดขวางการจราจร พร้อมเน้นย้ำว่าผู้ชุมนุมเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงออกมาตรการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ส่วนการใช้อาวุธจริงนั้นก็ต่อเมื่อต้องป้องกันตัว หรือมีเหตุที่ผู้ชุมนุมทำร้ายทรัพย์สินราชการ หรือทำร้ายประชาชน



พยานเบิกความอีกว่า จากนั้นเวลา 13.35 น. เดินทางมุ่งหน้าสู่สี่แยกคอกวัว แต่ระหว่างทางมีกลุ่มนปช.ปิดเส้นทางที่ถนนตะนาวศรี กองร้อยที่ 1 ซึ่งอยู่ด้านหน้าลงไปตั้งขบวนโล่กระบองเพื่อผลักดันผู้ชุมนุม พร้อมเจรจากับผู้ชุมนุมแต่ไม่สามารถเจรจาได้ และเกิดเหตุปะทะกันขึ้น โดยกลุ่มนปช.ไม่ต่ำกว่า 500 คน ใช้เหล็กแหลม ไม้ และบันไดไม้ไผ่ ดันและทุบตีเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยของพยานจึงเข้าไปรวมกำลังด้วย แต่เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นจึงใช้แก๊สน้ำตาขวางใส่ผู้ชุมนุม แต่ถูก ผู้ชุมนุมขว้างแก๊สน้ำตากลับคืนมา เจ้าหน้าที่จึงต้องถอยร่นออกมา



ผู้บังคับกองพันเบิกความว่า จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นมาจากกลุ่มนปช. โดยผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่ายิงมาจากกลุ่มนปช. ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บ ถูกยิงที่ขา 2 นาย บางส่วนยังเข้ามาทำลายรถของเจ้าหน้าที่ทหารได้รับความเสียหาย และระหว่างที่เหตุการณ์กำลังรุนแรงนั้น มีการเปิดการเจรจาระหว่างตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหารและตัวแทนผู้ชุมนุมในเวลา 15.35 น. และได้ข้อสรุปให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอยห่างจากกัน 50 เมตร แต่เจ้าหน้าที่ทหารยังถูก กลุ่มนปช.ปิดล้อม และยั่วยุตลอดเวลา



พยานเบิกความว่า จากนั้นเวลา 18.00 น. ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับ จึงปรับขบวนแต่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เข้ามาร่วมชุมนุมมากขึ้นเข้ามาปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยใช้เหล็ก ไม้ ก้อนหิน ระเบิดเพลิง พริก ทำร้าย ก่อนที่เหตุการณ์จะเริ่มรุนแรงขึ้น กลุ่มนปช.ใช้ระเบิดเพลิงและระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร และยังมีเสียงระเบิดพลุ ระเบิดปิงปองดังขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งใช้ถังดับเพลิงพ่นใส่เจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้ยังมีกลิ่นก๊าซหุงต้มลอยมา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารแตกตื่น ก่อนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกทำร้าย จนสามารถผลักดันกลุ่มนปช.ไปถึงสี่แยกคอกวัว



พยานเบิกความอีกว่า จากนั้นเวลา 19.30-19.40 น. กลุ่มนปช.รวมตัวใช้เหล็กแทงแนวเจ้าหน้าที่ทหาร ทำให้แตกไปตั้งเเนวโล่ที่ถนนข้าวสาร จากนั้นมีเสียงระเบิดดังขึ้น ตรงหัวมุมถนนตะนาวศรี ตัดถนนข้าวสาร มาทราบภายหลังว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 ที่ยิงมาจากสี่แยกคอกวัว ที่มีกลุ่มนปช.ชุมนุมอยู่ จำนวน 14 ลูก จากนั้นมีกลุ่มชายฉกรรจ์ 4-5 คน ซึ่งมาเห็นลักษณะแต่งกายภายหลังว่าแต่งชุดสีดำสวมหมวกไอ้โม่ง บางคนสวมหมวกกันน็อกใช้ปืนอาก้า 47 และปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บนถนนตะนาวศรี ทำให้พยานถูกยิงที่เอวทะลุด้านหลัง จนต้องเข้าไปหลบที่ร้านบัดดี้ ช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ประมาณ 30 นาที ก่อนจะมีรถมูลนิธิมารับไปรักษาตัวที่ร.พ.พระมงกุฎฯ และกำลัง 150 นาย ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 33 นาย



นายทหารระดับผู้บังคับกองพัน เบิกความอีกว่าแต่พยานไม่รู้เห็นเหตุการณ์ที่นายฮิโรยูกิถูกยิงโดยตรง แต่มาทราบภายหลังจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่ามีชายชุดดำยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหาร โดยชายชุดดำมีความสามารถในการใช้อาวุธสงคราม เนื่องจากสามารถยิงใส่เป้าหมายอย่างประณีต และพยายามเล็งจุดสำคัญของที่ตั้งอวัยวะ ทั้งหน้าอกด้านซ้ายและศีรษะ เหมือนดังกรณีนายฮิโรยูกิ ซึ่งถูกยิงที่หน้าอกด้านซ้าย นายวสันต์ ภู่ทอง ที่ศีรษะ และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ที่หน้าอกด้านซ้าย



"ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีคำสั่งให้ใช้กระสุนจริง เนื่องจากทุกหน่วยที่สังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ไม่ได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริง และตลอดการปฏิบัติหน้าที่นั้น ผมประจำอยู่ที่ถนนตะนาวศรีเท่านั้น จึงไม่ทราบว่ามีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มนปช. ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนบนถนนตะนาวศรีนั้นไม่เห็นกลุ่มนปช.ถืออาวุธปืน เห็นเพียงแต่ถือเหล็กและไม้เท่านั้น และไม่ทราบว่ากลุ่มนปช.ถูกยิงด้วยปืนเอ็ม 16 และเอ็ม 79 เสียชีวิตบนถนนตะนาวศรี แต่ยืนยันได้ว่าหากมีการเสียชีวิต ไม่ได้เกิดจากการกระทำเจ้าหน้าที่ทหารแน่นอน" ผบ.พันเบิกความ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพยานปากนี้เบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 09.00 น.



วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ นำหมายนัดมามอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. เพื่อให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 26 มิ.ย. ก่อนนำตัวส่งฟ้องต่ออัยการในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล และร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา และกรณีบาดเจ็บของนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553



ต่อมานายสุเทพออกมาเซ็นรับหมายนัด ส่วนนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เดินทางมาที่พรรค ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงเดินทางกลับ และจะนำหมายนัดมามอบให้นายอภิสิทธิ์ในวันที่ 19 มิ.ย. ขณะที่นายสุเทพกล่าวสั้นๆ ภายหลังรับหมายนัดว่า "สบาย เรื่องจำเลยไม่ต้องซักซ้อม ผมเป็นจำเลยอาชีพอยู่แล้ว" อดีตผอ.ศอฉ.กล่าวอย่างอารมณ์ดี



ส่วนที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ มีกลุ่มคนเสื้อแดงยุโรปเข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง 18 ราย ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์สถานที่ราชการ จ.อุดรธานี คดีปล้นร้านสะดวกซื้อ และมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครอง โดยกลุ่มเสื้อแดงยุโรปนำเครื่องอุปโภคบริโภคมอบให้ผู้ต้องขังทุกคน พร้อมให้กำลังใจขอให้อดทนไม่นานจะได้รับการปล่อยตัว ใช้เวลาเยี่ยมประมาณ 30 นาที ก่อนเดินทางกลับ