สื่อฝรั่งเบิกความ คดี6ศพวัดปทุม ยันเหยื่อไร้อาวุธ

ข่าวสด 14 มิถุนายน 2556



เบิกความ - นายสตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพและนักข่าวชาวออสเตรเลีย เข้าเบิกความเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ยืนยันผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เข้าร่วมกับกลุ่มนปช.ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 ไม่มีอาวุธ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.

สื่อออสซี่ ให้การคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ยันผู้ชุมนุมไร้อาวุธ ขณะที่พื้นที่ทั้งหมดถูกทหารควบคุมไว้ หมดแล้ว เผยเห็น "อัฐชัย ชุมจันทร์" 1 ใน 6 ศพ ถูกยิงร่วงทั้งที่มือเปล่า "สุเทพ" รับสั่งทหาร ปฏิบัติการคืนพื้นที่วันที่ 19 พ.ค. 53 กว่าหมื่นนาย ประจำทุกจุดรวมทั้งรางบีทีเอสด้วยด้านสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยันตรวจสอบ 6 ศพไร้เขม่าดินปืน ยธ.อนุมัติเงินเยียวยา 20 ล้านบาท ให้ผู้รับผลกระทบ 76 ราย



เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุง เทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี เกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำ แหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส. กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553



พนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเข้าเบิกความต่อจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. พ.ต.ท. ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ สังกัดสถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม นายสตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพและนักข่าว สัญชาติออสเตรเลียน



นายสุเทพเบิกความว่า ศอฉ.สั่งให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง เพื่อป้องกันตัวและประชาชนผู้บริสุทธิ์ จัดกำลังควบคุมที่สูงเพื่อป้องกันการลอบทำร้ายจากผู้ก่อการร้าย โดยในช่วงวันที่ 13-18 พ.ค. 53 มีกองกำลังของนปช.ใช้อาวุธสงครามโจมตีที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ บริเวณถนนพระราม 4 และ ถนนราชปรารภ ทำให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ บาดเจ็บและเสียชีวิต ยังมีผู้ก่อการร้ายนำอาวุธจากหลังเวทีชุมนุมออกมาทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกวัน ใช้สวนลุมพินีเป็นฐานปฏิบัติการฝึกซ้อมการใช้อาวุธและส่งคนร้ายออกก่อกวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องส่งกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่สวนลุมพินี โดยเข้าไปทางถนนพระราม 4 และยึดพื้นที่คืนได้จนถึง ถนนสารสิน แต่ไม่ได้มีเป้าหมายจะเข้าไปถึงบริเวณแยกราชประสงค์ที่เป็นเวทีการชุมนุม โดยปฏิบัติการครั้งนี้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ 1 หมื่นนายจาก พล.1 รอ. โดยอนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองบรรจุกระสุน จริงและปืนเล็กยาวประจำกาย พร้อมกับใช้ยานยนต์หุ้มเกราะเข้าทำลายสิ่งกีดขวาง



"ศอฉ.ไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม แต่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมด้วยตนเอง ในปฏิบัติการมีเจ้าหน้าที่เคลื่อนพลไปทั้งพื้นราบและบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส" นายสุเทพกล่าว



นายสุเทพกล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตของทั้ง 6 ศพ ในวัดปทุมวนารามนั้น เพิ่งรับรายงานในช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ค. 2553 แต่ไม่ได้บอกว่าเสียชีวิตจากบริเวณใด จากรายงานการชันสูตรพลิกศพ พบว่าผู้เสียชีวิตถูกกระสุนปืนทั้งจากด้านบนลงล่างและเข้าจากด้านข้างลำตัว นอกจากนี้ กองพิสูจน์หลักฐานยังตรวจพบเขม่าดินปืนของผู้เสียชีวิต 2 คน คือ นายรพ สุขสถิต และนายสุวัน ศรีรักษา ในปริมาณที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการยิงปืนมาก่อน



จากนั้นทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า นอกจากผลการตรวจพิสูจน์จากกองพิสูจน์หลักฐานแล้ว พยานเคยเห็นรายงานจากหน่วยงานอื่นหรือไม่ พยานเบิกความว่า ได้รับจากสถาบันนิติเวชวิทยาอีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ไม่ได้รับจากหน่วยงานอื่น ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า เมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่มีคำสั่งให้หยุดการปฏิบัติการ พยานเบิกความว่า เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ ศอฉ.มีหน้าที่รักษากฎหมายของบ้านเมือง และต้องดำเนินการคลี่คลายสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธเพื่อรักษากฎหมายได้



ทนายซักอีกว่า ปกติการปฏิบัติการตามหลัก สากลนั้นต้องทำในเวลากลางวัน แต่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ศอฉ.สั่งให้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลาใด พยานเบิกความว่า ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า พยานได้รับรายงานเรื่องที่ไม่พบอาวุธในตัวผู้เสียชีวิตหรือไม่ พยานเบิกความว่า รับแจ้งว่าผู้เสียชีวิตอยู่ในที่ชุมนุมและผู้ชุมนุมเป็นผู้นำไปส่งโรงพยาบาล คาดว่าจะนำอาวุธทิ้งไปก่อนหน้านั้นแล้ว



พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 ศูนย์บริหารวัตถุพยาน กระทรวงยุติธรรม ส่งวัตถุพยานที่เก็บเขม่าปืนบนมือ ผู้เสียชีวิต 6 ศพ เพื่อให้ตรวจว่า วัตถุพยาน ดังกล่าวมีอนุภาคที่มาจากเขม่าดินปืนหรือไม่ โดยพยานใช้เครื่องมือสแกนนิงอิเล็กตรอน ไมโครสโคป ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก และมีความแม่นยำสูง ผลการตรวจไม่พบว่ามีอนุภาคที่มาจากการยิงปืน



นายสตีฟเบิกความว่า สนใจเรื่องข่าวการ เมือง และทราบข่าวว่าในประเทศไทยมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล วันที่ 15 พ.ค. 2553 มีนายทหารคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต จึงเข้าไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อถ่ายภาพและทำข่าวช่วงวันที่ 15-17 พ.ค. 2553 โดยสวมปลอกแขนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของสื่อ มวลชน พบว่าบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็น ทรัลเวิลด์ มีผู้ร่วมชุมนุมลักษณะเป็นชาวนา เด็ก และประชาชนทั่วไป แต่ไม่พบว่าในกลุ่มชุมนุมมีอาวุธ จากนั้นวันที่ 18 พ.ค. 2553 พยานไปสังเกตการณ์ที่สวนลุมพินี พบกลุ่มชายฉกรรจ์มีระเบิดปิงปอง แต่ไม่ได้ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีลักษณะแยกกลุ่มออกมา



"ต่อวันที่ 19 พ.ค. กลับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์อีกครั้ง เวลา 06.00-07.00 น. ซึ่งเข้าไปลำบากมาก เพราะมีเจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่และตรวจค้นอย่างละเอียด และเห็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นพลซุ่มยิงอยู่ในที่สูง ส่วนจุดตรวจบริเวณพื้นราบเจ้าหน้าที่มีปืนเอ็ม 16 และปืนลูกซอง ขณะนั้นบริเวณเวทีราชประสงค์ยังมีการชุมนุมกันปกติ โดยมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 2,000-3,000 คน" นายสตีฟกล่าว



นายสตีฟเบิกความอีกว่า กระทั่งเวลา 13.00 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุมบนเวที ผู้ชุมนุมบางส่วนแยกย้ายกันกลับ บางส่วนหลบเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ต่อมาเวลา 17.00 น. ตนเดินไปที่วัดปทุมวนาราม กระทั่งเวลา 18.00 น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จากนั้นมีกลุ่มคนประมาณ 20 คน วิ่งในลักษณะหลบกระสุนเข้ามาในวัดทางหน้าวัด โดยกลุ่มคนดังกล่าวไม่มีใครถืออาวุธปืน ขณะนั้นตนยืนอยู่ที่ถนนหน้าวัดปทุมวนาราม ครู่หนึ่งเห็นชายคนหนึ่งสวมเสื้อยืดสีขาววิ่งมาจากทางสยามพารากอน ตรงเข้ามายังวัดปทุมวนาราม โดยไม่ถือสัมภาระหรืออาวุธ วิ่งผ่านหน้าไปและล้มลงทันที ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าล้มเพราะอุบัติเหตุหรือถูกยิง เมื่อหันกลับไปมองก็เห็นชายดังกล่าว ใช้มือยันตัวเองลุกขึ้นมา ก่อนไปล้มลงที่ใต้ตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ตนหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูป และไปดูร่างของชายคนดังกล่าวพร้อมพระสงฆ์อีก 1 รูป พบว่ามีบาดแผลถูกยิงที่หน้าอกและมีเลือดออกจำนวนมาก พระสงฆ์ที่มาด้วยกันจึงให้ช่วยพาเข้าไปในวัดปทุมวนาราม โดยทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์



นายสตีฟเบิกความว่า ต่อมาพยานพบกับนายแอนดรูว์ บันคอม นักข่าวชาวอังกฤษ หลบอยู่หลังรถยนต์หน้าวัดปทุมวนาราม นายแอนดรูว์บอกว่า มีการยิงมาจากบนรางรถ ไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อพยานมองออกไปก็ไม่เห็นอะไร จากนั้นก็แยกย้ายกันไป และทราบต่อมาว่านายแอนดรูว์ถูกยิงที่สะโพกด้านขวาขณะยืนขึ้น แต่พยานไม่เห็นเหตุการณ์ เนื่องจากระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังมาจากด้านนอกเข้ามาในวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนที่อยู่ในวัดปทุมวนารามต่างพากันหลบและหาที่ซ่อนตัวกำบัง ซึ่งตนถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย ช่วงเวลา 21.00-22.00 น. ยังมีเสียงปืนดังเข้ามาในวัดอยู่ และพยานอยู่ในวัดจนถึงเวลา 08.00 น. วันที่ 20 พ.ค.



ทนายถามว่า ขณะที่ไปทำข่าวที่เวทีราชประสงค์พบว่าหลังเวทีมีอาวุธหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่เห็นมีอาวุธ และขณะนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ทนายถามอีกว่าวันที่ 19 พ.ค. 2553 ทราบว่ารัฐบาลจะเข้ามาสลายการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่าทราบ ทนายถามอีกว่าเห็นชายชุดดำ หรือกลุ่มบุคคลติดอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผุ้ชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เห็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 09.00 น.



วันเดียวกันที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรี ภาพ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะทำงานช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยมีการลงมติให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ขอรับการช่วยเหลือ เยียวยา จำนวน 76 ราย รวมเป็นเงิน 19,742,004 บาท และที่ผ่านมาคณะทำงานได้มีการพิจารณารวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยมีผู้ได้รับเยียวยาจำนวน 107 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 49,922,434 บาท