สรุปอีก3คดี ฆ่า"เสื้อแดง"

ข่าวสด 17 มิถุนายน 2556

ดีเอสไอส่ง ถึงมือตร. ระบุเหยื่อ ถูกจนท.ยิง


ถึงบช.น.แล้วอีก 3 สำนวนคดีเสื้อแดงถูกยิงดับเมื่อเดือนพ.ค.53 ดีเอสไอส่งให้รวบรวมหลักฐานต่อก่อนยื่นศาลไต่สวน การเสียชีวิต เบื้องต้นเชื่อสาเหตุการตายมา จากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมสำนวนค้างอยู่ที่บช.น. ตอนนี้ 7 สำนวน รวมถึงคดีเสธ.แดงด้วย ด้านรองอนุชัยเผยเตรียมสรุปหลักฐานส่งศาลโดยด่วน ด้านทนายนปช.ติงดีเอสไอไม่สั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ทหาร ชี้ต้องดูพยานหลักฐานให้รอบ คอบ แนะญาติเหยื่อยื่นฟ้องเอง


เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการกลางเพื่อการสอบสวนคดีพิเศษ กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ พ.ศ.2553 ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพเพิ่มเติมให้บช.น. อีก 3 สำนวน ประกอบด้วย 1.สำนวนชันสูตรพลิกศพนายอินแปลง เทศวงศ์ สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ 5/2553 สน.คลองตัน จำนวน 25 แผ่น สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 แผ่น 2.นายเสน่ห์ นิลเหลือง สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ 6/2553 สน.คลองตัน จำนวน 33 แผ่น สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 แผ่น และ 3.นายวุฒิชัย วราห์คำ สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ 7/2553 สน.คลองตัน จำนวน 57 แผ่น สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 แผ่น ต่อ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชา การตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน บช.น. กรณีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเหตุสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 แล้ว


ทั้งนี้สำนวนชันสูตรพลิกศพทั้ง 3 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงเห็นควรส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพดังกล่าวกลับไปให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพ ดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 150 เพื่อให้มีกระบวนการไต่สวนของศาลต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 3 สำนวนที่ส่งมาให้เพิ่มเติมเกิดในพื้นที่ สน.คลองตันทั้งหมด โดยนายอินแปลงเสียชีวิตวันที่ 14 พ.ค.2553 เวลา 14.00 น. บริเวณปากทางเข้าอมันดา คอนโดมิเนียม ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. นายเสน่ห์เสียชีวิตวันที่ 14 พ.ค.2553 เวลา 18.30 น. บริเวณบนบาทวิถี ปากทางเข้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ริมถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. และนายวุฒิชัยเสียชีวิตวันที่ 16 พ.ค.2553 เวลา 15.00 น. บริเวณบาทวิถี หน้า เซเว่นอีเลฟเว่น สาขาถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.
.

พล.ต.ต.อนุชัยกล่าวว่า สำหรับสำนวนคดีที่ดีเอสไอส่งมาก่อนหน้านี้มี 37 สำนวน เมื่อรวมกับอีก 3 สำนวนใหม่ที่ได้รับจึงรวมเป็น 40 สำนวน ซึ่งสำนวนคดีที่เหลืออีก 4 สำนวนก่อนหน้านี้ คือ 1.พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงที่สถานีรถไฟใต้ดินลุมพินี 2.นายสวาท วางาม ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว 3.นายไพรศล ทิพย์ลม ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว 4.นายมนต์ชัย แซ่จอง ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวพยานมาเพื่อทำการสอบปากคำ เมื่อรวมกับอีก 3 สำนวนที่รับเพิ่มเติม ทำให้ขณะนี้พนักงานสอบสวน บช.น. มีสำนวนชันสูตรพลิกศพจำนวน 7 สำนวน ซึ่งจะเร่งสอบสวนให้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนเพื่อดำเนินการต่อไป


วันเดียวกันนายคารม พลพรกลาง ทนาย ความ นปช.กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอส่งสำนวนคดีฆ่าและพยายามฆ่าคดีของนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ให้อัยการพิจารณาฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศอฉ. ในวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ว่า กรณีดังกล่าวดีเอสไอมองว่าแม้เป็นการปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะทหารเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าทหารใช้วิจารณ ญาณและความรับผิดชอบและเห็นว่าผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ ไม่มีทางสู้ และไม่ได้มีลักษณะที่ต่อสู้ จึงไม่ควรใช้อาวุธยิงประชาชน ดังนั้น หากดีเอสไอบอกว่าทหารไม่ผิดจริงก็ต้องมีพยานที่พอจะฟังได้ว่าทหารมีอำนาจทำได้ และทำแล้วไม่ผิด คนที่ออกคำสั่งคือคนผิด อย่าลืมว่าผู้เสียหายมีสิทธิ์ฟ้องได้เอง ถ้าเขามีพยานหลักฐานพอ ไม่เช่นนั้นทหารก็จะถูกเว้นไม่ต้องรับผิดเรื่อยไปซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง


"ส่วนผู้บังคับบัญชาระดับสูง ก็ต้องพิจารณา จากหลักฐานว่าร่วมกับฝ่ายการเมืองหรือไม่ ถ้าร่วมหรือรู้แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงร่วมเห็นด้วย หรือไม่ห้าม ก็ต้องพิจารณาว่าต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ส่วนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยากที่ปฏิเสธความรับผิดได้เพราะเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดในขณะนั้นที่สำคัญ" นายคารมกล่าว


นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนาย สุเทพ ถือเป็นกระบวนการของกฎหมาย ซึ่ง สืบเนื่องมาจากการที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต้องการจะให้ดีเอสไอสอบสวนคดีนี้ จึงเป็นอำนาจของดีเอสไอซึ่งทำงานในนามของคณะทำงานที่มีตัวแทนจากอัยการ และสำนักงานตำรวจฯ ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่เมื่อมีผลสรุปออกมา นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกลับปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ทั้งที่เป็นผู้ตั้งดีเอสไอมาทำคดีเอง และที่ผ่านมาเรื่องนี้ตนเห็นว่าใช้เวลาทำงานมานานและควรจะแล้วเสร็จได้แล้ว แต่ที่ล่าช้าอาจจะสืบเนื่องเป็นผลมาจากรัฐบาลที่แล้ว ทำให้การสืบสวนสอบ สวนไม่ต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งมองว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ยอมนำหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหา ทั้งที่ดีเอสไอให้เวลาและโอกาสในการหาพยานหลักฐานถึง 75 วัน แต่กลับไม่ดำเนินการ


"นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพควรแสดงความจริงใจ พิสูจน์ตัวเองหากดีเอสไอส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง โดยไม่ควรดึงเวลาเรื่องการหาพยานหลักฐานหากศาลสั่งให้ดำเนินการเหมือนที่เคยใช้จุดนี้ถ่วงเวลาดีเอสไอ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าดีเอสไอจะทำงานด้วยความยุติ ธรรมเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาโดยเร็ว และจะได้พิสูจน์ว่าการเปิดเผยเรื่องชายชุดดำ หรือประเด็นต่างๆ ของปชป. เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น" นายพิชิตกล่าว