วันนี้ไต่สวนฆ่าฮิโรยูกิ-2ศพเสื้อแดง ดีเอสไอ นัดมาร์ค กับเทือก ส่งอัยการ คดี99ศพ


18 มิถุนายน 2556

ถึงคิวไต่ สวนการตาย "ฮิโรยูกิ" กับ 2 เสื้อแดง เหยื่อปืนเหตุการณ์ 10 เม.ย.53อัยการนำพยานขึ้นเบิกความที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะที่ "ดีเอสไอ" ส่งหมายนัด "มาร์ค-เทือก" ให้มาพบวันที่ 26 มิ.ย. นำตัวส่งฟ้องต่ออัยการ ในฐานะผู้ต้องหาคดีพัน คำกอง น้องอีซา และลุงรถตู้ เหยื่อปืนเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อพ.ค.53 ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตาย และพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ส่วน 2 ศพเสื้อแดงถูกยิงใต้ทางด่วนพระราม 4 ผบ.ร้อยคุมกำลังขึ้นเบิกความ ยืนยันใช้กระสุนซ้อมและกระสุนยาง แต่ก็ไม่เห็นผู้ชุมนุมใช้อาวุธ หรือ "ชายชุดดำ" 

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าส่งสำนวนคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และการบาดเจ็บของนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ที่ถูกยิงในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 ไปยังอัยการคดีพิเศษ ว่าในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะนำหมายนัดไปมอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ทั้งคู่มาพบพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล และคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อส่งฟ้องต่ออัยการในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีของนายพัน ด.ช.คุณากร และนายสมร นั้น ทางพนักงานสอบสวนรวบรวมจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเตรียมส่งฟ้องต่ออัยการในวันที่ 26 มิ.ย. มีไม่ต่ำกว่า 30 แฟ้ม ทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุในที่เกิดเหตุ 

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. กล่าวถึงความคืบหน้าการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ว่า สั่งเร่งรัดติดตามตัวพยานมาสอบปากคำเพิ่มเติมแล้ว และได้รับเพิ่มอีก 3 สำนวนจากดีเอสไอ แล้ว คือ สำนวนนายอินแปลง เทศวงศ์ ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 บริเวณถนนพระราม 4 นายเสน่ห์ นิลเหลือง ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 บริเวณถนนพระราม 4 และ นายวุฒิชัย วราห์คำ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 บริเวณถนนพระราม 4 คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1 เดือน รวมกับ 4 สำนวนเดิมที่อยู่ระหว่างสอบสวนเป็น 7 สำนวน 

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล อายุ 25 ปี คนขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และ นายประจวบ ประจวบสุข ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 โดยพนักงานอัยการนำพยานขึ้นเบิกความ 2 ปาก

นายทหารระดับผู้บังคับกองร้อย ค่ายอดิศร จ.สระบุรี เบิกความว่าเข้ามาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.2553 โดยประจำอยู่ที่ถนนสีลม มีผู้ใต้บังคับบัญชา 150 นาย ทหารที่ประจำอยู่ในหน่วยของพยานมีอาวุธประจำกายที่แตกต่างกัน นายทหารชั้นสัญญาบัตร ตั้งแต่ยศร้อยตรีถึงร้อยเอก มีอาวุธปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 และกระสุนขนาด 5.56 ม.ม. ที่ไม่มีกระสุนบรรจุ แต่มีลูกกระสุนซ้อมที่เป็นดินปืนทำให้เกิดเสียงดัง ไม่มีหัวกระสุน และไม่มีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินประมาณ 10 กระบอก ทหารชั้นประทวนบางส่วนมีปืนลูกซองยาว บรรจุกระสุนยาง ประมาณ 20-30 กระบอก ส่วนกำลังที่เหลือมีกระบองหวายและโล่พลาสติก โดยมีมาตรการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ตามกฎการใช้อาวุธของกองทัพไทย

พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 14 พ.ค.2553 เคลื่อนกำลัง 100 นาย ไปยังสวนลุมพินี ก่อนได้รับคำสั่งให้ไปกระชับพื้นที่คืนจาก กลุ่มนปช.ประมาณ 1,000 คน ที่ตั้งสิ่งกีดขวาง อาทิ ยางรถยนต์ และแท่งปูนแบร์ริเออร์บนถนนพระราม 4 ทั้ง 2 ฝั่งบริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนให้ ผู้ชุมนุมเปิดเส้นทาง แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมจึงตั้งแถวเป็นแบบหน้ากระดาน 20 แถว ร่วมกับทหารหน่วยอื่นๆ โดยแถวของพยานอยู่แถวที่ 10 ไล่ต้อนกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมจนถอยร่นไปบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ก่อนจะตั้งกำลังอยู่ที่หน้าศูนย์รถยนต์วอลโว่ พร้อมวางเครื่องกีดขวางถนนพระราม 4 ทั้ง 2 เลน เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมเดินผ่าน ระหว่างนั้นมีการยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่บนจุดที่อยู่ เจ้าหน้าที่จึงตั้งบังเกอร์บริเวณดังกล่าว และในคืนวันที่ 14 พ.ค. มีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง จนถึงเช้าวันที่ 15 พ.ค.2553

ผู้บังคับกองร้อยเบิกความอีกว่า จากนั้นในวันที่ 15 พ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวขวัญเสียเป็นอย่างมาก จึงมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้กระสุนซ้อมรบ เพื่อป้องปรามกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยการยิงขึ้นฟ้า แต่ก็ยังมีเสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงประทัดยักษ์ ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมขวางประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ เห็นแต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่สวมหมวกกันน็อก จุดไฟเผายางรถยนต์อยู่หลังแนวยาง โดยที่ไม่เห็นว่าใครใช้อาวุธแต่อย่างใด จนเมื่อไปดูคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ยูทูบ จึงเห็นชายแต่งชุดลายพรางคล้ายทหาร ถืออาวุธยืนอยู่ในกลุ่ม ผู้ชุมนุม

พยานเบิกความอีกว่า ถัดมาวันที่ 16 พ.ค.2553 สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น กลุ่ม ผู้ชุมนุมจุดไฟเผายางรถยนต์ ทำให้ไฟลามไปยังอาคารที่ตั้งอยู่ริมถนนพระราม 4 ควันยังปกคลุมทำให้ไม่สามารถมองเห็นอะไรได้ชัด นอกจากนี้ยังมีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลา 14.00-16.00 น. ยังไม่เห็นกลุ่มคนเสื้อแดงก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ในขณะนั้นไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต จนเมื่อมาดูวิดีโอเมื่อตอนเข้าให้การกับคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรอง ดองแห่งชาติ (คอป.) ถึงรู้ว่ามีผู้เสียชีวิต เมื่อดูจากคลิปทำให้ทราบว่าผู้ตายที่อยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 เสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงจากทิศทางด้านซ้าย หรือทิศทางด้านขวา ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นอยู่บริเวณทิศทางด้านหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม 

"ระหว่างปฏิบัติการผมไม่ได้ใช้อาวุธปืนแต่อย่างใด ใช้แต่เพียงแก๊สน้ำตาเท่านั้น ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่มีใครใช้อาวุธปืน เนื่องจากไม่ได้รับคำสั่งจากผม นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับ คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้กระสุนจริง ทั้งยังไม่ทราบว่ามีกองกำลังคุ้มกันอยู่บนตึกสูงด้วย แต่ยืนยันได้ว่าระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่เห็น หรือพบชายชุดดำ และบุคคลอื่นแฝงตัวเข้ามาก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด" พยานกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากมีพยานอีกหลายปากที่ยังต้องสอบปากคำเพื่อหาข้อเท็จจริง ศาลจึงนัดเบิกความอีก 10 นัด จากพยาน 20 คน ในวันที่ 8 ต.ค., 9 ต.ค., 10 ต.ค., 15 ต.ค., 16 ต.ค., 24 ต.ค., 29 ต.ค., 30 ต.ค. และ 31 ต.ค. 

นอกจากนี้ ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า 2 ผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดยทั้ง 3 คนถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ 

วันเดียวกัน นายเทพพนม นามลี ประธานนปช.สุรินทร์ เปิดเผยว่าทราบข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ จะมาจัดเวทีผ่าความจริงที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย.ที่จะถึง ดังนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงสุรินทร์จะจัดเวทีคู่ขนาน เนื่องจากคนเสื้อแดงสุรินทร์ 5 ราย เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 เพื่อทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลในขณะนั้น  (ที่มา:ข่าวสดรายวัน 18 มิ.ย.2556)