ถ้อยแถลงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดย นพ.เหวง โตจิราการ





ถ้อยแถลงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ

โดย นพ.เหวง โตจิราการ อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

1.คำร้องที่สว.ไพบูลย์นิติตะวันยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้ อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ซึ่ง บัญญัติไว้ว่า"สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรหรือสมาชิกวุฒิสภา.....มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา..แล้วแต่กรณีและให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

เป็นการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ต้องยื่นเฉพาะสมาชิกแห่งสภานั้นเท่านั้น หมายความว่า สส.ยื่นเรื่องของสส. สว.ยื่นเรื่องของสว.เท่านั้น หาใช่ สส.ยื่นเรื่องของสว. หรือสว.ยื่นเรื่องของสว.หาได้ไม่

สว.ไพบูลย์นิติตะวัน เป็นสว. จึงไม่สามารถยื่นเรื่องเพื่อกล่าวโทษต่อ สส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเป็นการยื่นเรื่องที่

"กระโดดข้ามห้วย รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจในการดำเนินการไว้"
นอกจากนี้ในขณะที่ยื่นเรื่อง10มีนาคม2557 นส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีสถานภาพของสส.อยู่อีกต่อไป จึงยิ่งไม่สามารถที่จะกล่าวอ้างมาตรา91ของรัฐธรรมนูญได้อย่างแน่นอน

การยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี(ผู้ถูกร้อง)ก็ไม่อาจจะทำได้ เพราะ ตามความในพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อวันที่9ธันวาคม2556 มีผลทำให้ สภาผู้แทนราษฎร หมดสิ้นไปอันทำให้ความเป็นสมาชิกสภาผุ้แทนราษฏรหมดสิ้นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา106(1)ซึ่งนส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตรย่อมไม่ได้เป็นสส.นับแต่วันที่9ธันวาคม2556

และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา180(2) ดังนั้น นส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร ย่อมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป

การยื่นเรื่องของสว.ไพบูลย์ นิติตะวันจึงเป็นการยื่นในเรื่อง "ที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป" เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะดำเนินการวินิจฉัยได้ เฉกเช่นเดียวกับ การยื่นเรื่องให้ วินิจฉัยว่า "ประเทศไทยตั้งอยู่บนดวงจันทร์"เป็นต้น
2.รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองการโยกย้ายที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือกฏหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา268

กรณีของนายถวิลเปลี่ยนสี ประชาชนไทยทุกคนต่างทราบดีว่า เป็นเลขาศอฉ.ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ดังนั้นจึงมีส่วนร่วมและเห็นด้วยกับ นโยบายการสลายการชุมนุมเมื่อปี2553ด้วยการใช้กำลังทหารที่ติดอาวุธสงครามจำนวนหกหมื่นนายใช้กระสุน120,000นัดกระสุนสไปนเปอร์กว่า2,000นัดจนเป็นเหตุให้ประชาชนสองมือเปล่าถูกทหารใช้อาวุธสงครามสังหารเกือบร้อยศพ

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งไม่มีนโยบายให้ทหารใช้อาวุธสังหารประชาชนที่มาชุมนุมกันสองมือเปล่าจึงต้องโยกย้ายนายถวิลเปลี่ยนสีไปตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่เลขาธิการสมช.
3.หลักนิติธรรมเรื่อง "ความผิดเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำผิดลงโทษเฉพาะผู้นั้น" มาตรา3ของรัฐธรรมนูญบังคับไว้ให้ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า "การโยกย้ายนายถวิลเปลี่ยนสีเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" ผู้ที่ร่วมในการดำเนินการนี้คือ "คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชุดแรก ไม่ใช่ชุดรักษาการในปัจจุบัน" ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้ร่วมพิจารณากับ นส.ยิ่งลักษณ์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้

4.นายไพบูลย์นิติตะวันขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ "ดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา172และมาตรา173โดยอนุโลม" นั้น เป็นสิ่งไม่สามารถทำได้

เพราะขณะนี้ "ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีสภาผู้แทนราษฏร ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีประธานรัฐสภา" จึงไม่อาจจะมีองค์กรใด หรือผู้ใดทำหน้าที่โดยอนุโลมได้

หากจะกล่าวอ้างถึง วุฒิสภานั้น ก็ไม่อาจจะดำเนินการ "โดยอนุโลม"ได้ เพราะ วุฒิสภา เกือบครึ่งหนึ่ง มาจาก "การสรรหา" หรือ "แต่งตั้ง"หรือ "ลากตั้ง" ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งดังนั้นไม่สามารถมาทำหน้าที่ สภาผู้แทนราษฏรโดยอนุโลมได้

การดำเนินการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยอนุโลมดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยตรง เป็นการ "บัญญัติบทบัญญัติใหม่ของรัฐธรรมนูญขึ้นมาเองตามใจชอบโดยตรง ซึ่งก็คือ การทำรัฐประหาร หรือการ ทำลายรัฐธรรมนูญลงไป หรือเป็นการกบฏตามมาตรา113ของประมวลกฏหมายอาญานั่นเอง"


ที่มา Facebook นพ.เหวง โตจิราการ