นปช.ออกแถลงการณ์ 9 ข้อให้ ศาล รธน.ยุติการใช้อำนาจนอกเหนือ รธน.




ทีมข่าว นปช.
4 เมษายน 2557


วันที่ 4 เมษายน ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้อ่านแถลงการณ์ นปช. ต่อกรณีการใช้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญว่า ตามที่ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และมีผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลายเรื่อง ปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจที่นอกเหนือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีลักษณะเป็นการสมประโยชน์ของฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลอด และล่าสุดมีการรับคำร้องของกลุ่ม ส.ว. ที่ขอให้วินิจฉัยสถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนั้น

นปช.ได้ติดตามการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังคงใช้อำนาจตีความขยายเขตอำนาจของตนเองตามอำเภอใจโดยไม่ยึดรัฐธรรมนูญ และความถูกต้องยุติธรรมเป็นที่ตั้งแล้ว จะทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ จึงขอแถลงการณ์เพื่อทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ จะใช้อำนาจเพื่อขยายเขตอำนาจของตนไปแทรกแซงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นเพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้

2. ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจของตนล้มล้างการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภามาแล้ว ด้วยการสั่งห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้มาตรา 291 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือแก้เป็นรายมาตราก็ตาม ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

3. ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจล้มล้างอำนาจของอัยการสูงสุด ที่กำหนดว่าการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุด แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่ายื่นคำร้องโดยตรงต่อตนเองก็ได้ ซึ่งต่อมาก็มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ทำให้อำนาจของอัยการสูงสุดตามมาตรานี้ไม่มีการใช้บังคับอีกต่อไป

4. ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจล้มล้างอำนาจของประชาชนจำนวนกว่า 20 ล้านคน ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกำหนดวันการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้ว่าปัญหาที่จัดการเลือกตั้งไม่ครบ เพราะการขัดขวางของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

5. มาวันนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กับพวก ที่ขอให้วินิจฉัยสถานภาพของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ก็โดยมีเจตนาจะล้มรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอ ก็จะมีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจล้มล้างอำนาจฝ่ายบริหารนั่นเอง

6. เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง อันจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และตามรัฐธรรมนูญเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็ถือว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งแล้ว เพียงแต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 181 เพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่เท่านั้น จะให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งซ้ำสองอีกไม่ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรับคดีไว้วินิจฉัย แต่ก็ยังรับ กรณีเช่นนี้เปรียบเทียบกับการที่ขอให้วินิจฉัยความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงแล้วจึงให้จำหน่ายคดี

7. หากศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนั้น ต่อไปนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนก็อาจจะถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พ้นจากตำแหน่งทุกคน

8. ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง เห็นได้จากคำร้องที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลได้รับไว้ทั้งหมดทั้งที่ไม่มีอำนาจ และเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่คำร้องของอีกฝ่ายที่มีการยื่นคำร้องกรณีการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. เกือบ 10 ราย ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการรับไว้พิจารณา ทั้งที่ชื่อกลุ่ม กปปส. และเจตนาของการกระทำปรากฎชัดว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 แต่ศาลกลับบอกว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ และไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

9. การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร อัยการสูงสุด และอำนาจของประชาชนดังที่กล่าวมา ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง และเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 68 ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69

 ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ยุติการใช้อำนาจที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการรัฐประหารโดยการใช้อำนาจตุลาการแล้ว

กรณีดังกล่าวถือว่าร้ายแรงยิ่งกว่าการรัฐประหารโดยใช้กำลังทหารเสียอีก เพราะเป็นการใช้กฎหมายซึ่งมีไว้เพื่อผดุงความยุติธรรมของสังคมไปบิดเบือนเพื่อให้เกิดผลทางการเมืองของฝ่ายที่ต้องการช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ จะป่าวประกาศแต่เพียงว่า เมื่อศาลตัดสินอย่างไรย่อมเป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์นั้นไม่ได้อีกต่อไป
                     
ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน 2557 นปช. แดงทั้งแผ่นดิน