สื่อมะกันจี้ "โอบามา" ช่วยปกป้องประชาธิปไตยในไทย - พร้อมประณามการประท้วงอย่างรุนแรง


 

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เสนอบทวิเคราะห์การเมืองไทย ชื่อ Thailands anti-democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S. หรือการประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยของไทยสมควรจะถูกสหรัฐอเมริกาประณามอย่างรุนแรง มีเนื้อหาว่า การเดินขบวนประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสที่น่าเสียดายที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งต้องถูกท้าทายจากกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจมายาวนาน อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรีลาออกเพื่อให้คณะที่ปรึกษาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทน และยกเลิกการเลือกตั้งที่กำหนดไว้เดือนหน้า เห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ของผู้ประท้วงคือการทำให้กรุงเทพฯ ยุ่งเหยิงและถึงจุดที่รัฐบาลรู้สึกถูกขับไล่จนลาออกหรือกองทัพก่อรัฐประหาร

 วอชิงตันโพสต์ระบุว่า เทคนิคคล้ายกันนี้เคยทำสำเร็จมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อครั้งโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และของผู้สนับสนุนตั้งแต่ปี 2549 ส่วนครั้งที่ 3 เป็นผลมาจากคำตัดสินที่น่ากังขาของศาล ในเวลานี้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงหนักแน่นเท่าที่จะทำได้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้นถ้าสหรัฐอเมริการ่วมปฏิเสธผลลัพธ์จากวิกฤตดังกล่าวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 บทความนี้ยังกล่าวต่อว่า เป็นเรื่องน่าขำที่การสนับสนุนความพยายามให้เกิดรัฐประหารมาจากสมาชิกหลายคนของพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน โดยพรรคนี้มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตย เพราะแพ้การเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณขึ้นสู่อำนาจครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ตลอดจนนักธุรกิจที่มีเส้นสายวงใน

 พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นนักธุรกิจพันล้านและปัจจุบันลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เป็นคนที่ได้รับความนิยมสูงจากคนยากจนในชนบท โดยเฉพาะจากภาคอีสาน ซึ่งแต่ก่อนไม่มีปากเสียงในสังคม ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจโดยมิชอบและละเมิดสิทธิมนุษยชนสมัยดำรงตำแห่นง รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างเสรีและและยุติธรรมเช่นเดียวกับรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์

 วอชิงตันโพสต์ชี้ว่า ท่ามกลางการประท้วงและความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณจะสุกงอมเต็มที่ เมื่อคณะรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์สืบทอดอำนาจพี่ชายได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งน.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรัฐสภาที่จะเปิดทางให้พี่ชายกลับประเทศ ฝ่ายค้านขณะนั้นได้ปลุกกระแสความรุนแรง โดยไม่ได้ต้องการเพียงแก้ไขการลุแก่อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณอย่างที่หัวหน้าพรรคอ้างไว้อีกต่อไป ขณะนี้พวกเขามุ่งจะถอนรากถอนโคนรัฐบาลที่ให้อำนาจคนกลุ่มน้อย และพยายามกำจัดพ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวออกจากการเมือง

 การต่อต้านประชาธิปไตยอย่างนี้ น่าจะทำให้สหรัฐอเมริกาที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงออกมาแสดงท่าทีได้ง่าย แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ ซึ่งมีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อกลางปีก่อนเช่นกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐก็ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวใดๆ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพียงเรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตผ่านกระบวนการประชาธิปไตยและชื่นชมรัฐบาลที่อดกลั้นต่อการประท้วง

 วอชิงตันโพสต์ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ทำให้ชัดเจนว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยกองทัพหรือผู้ประท้วงเป็นสิ่งที่สหรัฐรับไม่ได้ หรือจะนำไปสู่การระงับความช่วยเหลือและความร่วมมือด้านความมั่นคง เมื่อสหรัฐไม่ยอมตรวจสอบความชอบธรรมตามกฎหมายหลังจากกองทัพอียิปต์ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนก.ค.ปีก่อน นักสู้ที่ต่อต้านประชาธิปไตยของไทยจึงอาจลำพองใจเชื่อว่าพวกตนก็จะไม่โดนด้วยเช่นกัน และรัฐบาลของนายโอบามาจะรับได้ ซึ่งไม่สมควรจะเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ ชัยชนะของฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยมีแต่นำไปสู่ความรุนแรงและไร้เสถียรภาพยิ่งขึ้น

 ลิงก์บทความต้นฉบับ
http://www.washingtonpost.com/opinions/thailands-anti-democracy-protests-merit-a-rebuke-from-the-us/2014/01/15/ca2205a8-7e1b-11e3-95c6-0a7aa80874bc_story.html