บทบรรณาธิการนสพ.วอชิงตันโพสท์ชี้ “การประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศไทยสมควรได้รับคำตำหนิจากสหรัฐฯ”

คำแปล : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสท์ 16 มกราคม 2557 ชี้ “การประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศไทยสมควรได้รับคำตำหนิจากสหรัฐฯ”



การประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยกลายเป็นความโน้มเอียงที่ไม่เหมาะสมซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเนื่องจากการเลือกตั้งไปท้าทายกลุ่มชนช้ันนำที่ฝังรากลึกในสังคม กรณีล่าสุดคือประเทศไทยที่ผู้ประท้วงหลายพันคนยึดครองถนนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มกราคม พ.ศ.2557-ผู้แปล) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันบริสุทธิ์ยุติธรรมลาออก ให้สภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนและให้ยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในเดือนหน้า ยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ชุมนุมคือก่อกวนกรุงเทพฯจนถึงจุดที่รัฐบาลรู้สึกว่าถูกบีบให้ลาออกหรือถูกทหารไล่ออกไป

ยุทธวิธีแบบเดียวกันเคยประสบผลสำเร็จในการขับไล่รัฐบาลที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มผู้สนับสนุนมาแล้ว 2 ชุด และชุดที่ 3 โดยคำตัดสินของศาลที่น่าเคลือบแคลง ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรยืนหยัดมั่นคงท่ามกลางอย่างที่ควรจะเป็น แต่เธอควรจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกามากกว่านี้ในการปฏิเสธทางออกจากวิกฤตินี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างมากที่สิ่งที่เหมือนเป็นความพยายามก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากบุคคลหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ ปัญหาของพรรคนี้กับระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่การแพ้เลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 2001ที่ขบวนการของทักษิณสามารถขึ้นสู่อำนาจได้เป็นครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพ

ทักษิณซึ่งเป็นนักธุรกิจพันล้านที่ต้องลี้ภัยอยู่ต่างแดนในเวลานี้เป็นนักประชานิยมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวไทยกลุ่มที่เคยถูกทอดทิ้งมาก่อน ได้แก่กลุ่มคนจนในเมืองและชนบททางอีสาน แม้ว่าเขาจะใช้อำนาจเกิดขอบเขตและเคยละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่เขาอยู่ในตำแหน่ง แต่รัฐบาลของเขาได้รับการเลือกตั้งมาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เช่นเดียวกับรัฐบาลของยิ่งลักษณ์

ในช่วงสิบปีแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งบนท้องถนนที่ผ่านมา ขบวนการฝ่ายทักษิณดูเหมือนจะมีวุฒิภาวะมากขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นจนกระทั่งเธอพยายามผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งจะอนุญาตให้พี่ชายของเธอกลับบ้านได้ แต่ในขณะเดียวกันฝ่านค้านก็กลายเป็นพวกหัวรุนแรงมากขึ้น ในยามนี้พวกผู้นำฝ่ายค้านเลิกอ้างตนว่าเป็นนักเสรีประชาธิปไตยที่พยายามแค่จะแก้ไขการทำผิดของทักษิณอย่างที่เคยทำมาก่อนแล้วแต่มุ่งหมายอย่างชัดเจนที่จะจัดตั้งระบอบที่จะให้อำนาจชนกลุ่มน้อยและ “ลบล้าง”ทักษิณและตระกูลของเขาจากการเมือง

การต่อต้านแนวทางดังกล่าวควรจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงกับประเทศไทย แต่เช่นเดียวกับตอนที่ชาวอียิปต์บางส่วนพยายามยั่วยุให้เกิดรัฐประหารเพื่อโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว การตอบสนองจากรัฐบาลที่นำโดยโอบามาถือว่าอ่อนแรงมาก โฆษกกระทรวงต่างประเทศได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาขอให้มีการแก้ไขวิกฤติการณ์ผ่าน “กระบวนการประชาธิปไตย” และชื่นชม “ความอดทน”ของรัฐบาลในการจัดการกับผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม คณะบริหารชุดนี้ (คณะบริหารของประธานาธิบดีโอบาม่า – ผู้แปล) ยังไม่ได้สำแดงให้ชัดว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยทหารหรือจากการจลาจลบนท้องถนนเป็นสิ่งที่สหรัฐฯรับไม่ได้ หรือแจ้งว่าการรัฐประหารจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องหยุดความช่วยเหลือและความร่วมมือด้านความมั่นคงเพราะกฎหมายสหรัฐฯบังคับให้ต้องตัดความช่วยเหลือในกรณีเช่นนั้น ทว่าตั้งแต่คณะบริหารชุดนี้ไม่ทำตามข้อบังคับดังกล่าวตอนที่เกิดรัฐประหารโดยทหารในอียิปต์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กลุ่มติดอาวุธต่อต้านประชาธิปไตยในไทยอาจฮึกเหิมด้วยรู้สึกว่าคณะบริหารของโอบาม่าจะอดทนต่อพวกเขาเช่นเดียวกัน พวกเขาไม่ควรได้รับการส่งเสริมเช่นนั้น ชัยชนะของพลังฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยรังแต่จะนำไปสู่ความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพมากขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่กรุงไคโร

(ผู้สนใจสามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่บทความ Thailand’s anti-democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S.)