ทีมข่าว นปช.
24 มกราคม 2557
วันนี้ (24 ม.ค.)เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าวชั้น 6 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดแถลงข่าวในสถานการณ์พิเศษ
โดยวันนี้อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช.กล่าวว่า ความขัดแย้งที่แท้จริงตอนนี้คือความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายอำมาตย์กับประชาชน อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกำลังถูกรังเกียจ อำนาจของกองทัพ ตุลาการ และองค์กรอิสระ ถูกสถาปนาเป็นอำนาจที่ 4 เข้าควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การรัฐประหาร ไม่ว่าจะโดยกองทัพ หรือรัฐประหารเงียบโดยใช้กฎหมาย หรือละเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้มีผลไม่เป็นคุณกับฝ่ายประชาธิปไตย ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เท่ากับไม่มีการเลือกตั้ง คือการรัฐประหาร เวลาที่เลื่อนออกไป เปิดช่องให้องค์กรอิสระทั้งหลายลงดาบรัฐบาล ในคดีต่างๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เมื่อนั้นอำนาจรัฐก็จะตกอยู่ในมือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
อ.ธิดา กล่าวต่อว่า กรณีมีคำแถลงของท่านจุฬาราชมนตรี ต่อการบุกปิดมัสยิดที่ จ.ตรัง ของ กปปส. และนายสุเทพ ออกมาตอบโต้โดยใช้กรณีตากใบ แต่กรณีตากใบผ่านกระบวนการศาลแล้วว่าไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมือง เป็นปัญหาเรื่องการสั่งการและการปฏิบัติ และกรณีที่บอกว่านปช.ไปบุกมัสยิดที่ซอยเพชรบุรี 7 เราขอบอกว่าไม่ใช่ฝีมือ นปช.แน่นอน
"สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 26 ม.ค. นี้ หากยังสามารถเกิดขึ้นได้ ในสถานที่จัดการเลือกตั้งที่สำคัญ เช่น เขตบางกะปิ บางขุนเทียน และดินแดง จะมีประชาชนมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ขอให้ นปช. กรุงเทพฯ โปรดช่วยสังเกตการณ์ ส่วนการนัดชุมนุมใหญ่ วันที่ 29 ม.ค. นี้ยังอยู่ในระหว่างปรึกษาหารือ รูปแบบการชุมนุม ว่ามีกี่จุด ที่ไหน บ้าง แต่เนื้อหาหลักก็คือการ ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนการเลือกตั้งและการดำเนินการตามวิถีประชาธิปไตย" ประธาน นปช. กล่าว
ด้านนพ.เหวง โตจิราการ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นทำได้หรือไม่ และเป็นอำนาจขององค์กรใด ระหว่าง กกต.และคณะรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ระบุถึงกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร
ดังนั้นการขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจึงต้องมีความขัดแย้งที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกับกกต. ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ให้อำนาจกกต.ในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง อีกทั้งมาตรา 108 ยังให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 45-60 วันหลังจากที่มีการยุบสภาฯ และการยุบสภาฯ ก็ทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียว ซึ่งแสดงว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในกรณีนี้มีได้เพียงครั้งเดียว รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง
ส่วนตัวมองว่า การรับเรื่องครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าการวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ เนื่องจากการรับเรื่องไว้พิจารณานั้นไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น
นพ.เหวง ยังได้กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์และองค์ประกอบในขณะนี้ยังไม่เข้าขั้นร้ายแรงเพียงพอ แต่รัฐบาลควรเน้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวถือว่าอัปยศสิ้นดี เพราะสมัยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่ไม่มีความรุนแรง อาทิ กรณีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง นำคนเสื้อแดงบุกเข้าไปในสภาฯ เพราะเห็นว่ามีคนถืออาวุธสงครามเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นั้น กสม.ไม่ได้ออกมาคัดค้านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กรณีที่มีการประกาศใช้กระสุนจริงในปี 2553 นั้น ก็ไม่เคยเห็นกสม.ออกมาคัดค้าน แต่วันนี้กปปส.นำมวลชนปิดสถานที่ราชการ ปิดล้อมไม่ให้มีการรับสมัคร มีการใช้ความรุนแรง รวมถึงมีการปาระเบิดในที่ชุมนุมของกปปส. และดูเหมือนว่าจะยังคงเดินหน้าปิดสถานที่ราชการไม่หยุด ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ไม่อาจดำเนินการได้ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยากถามกสม.ว่าจะให้รัฐบาลใช้เครื่องมืออะไรในการดูแลความสงบหากไม่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน