วิกฤตการเมืองไทย และทางออกประเทศไทย โดย อ. ธิดา ถาวรเศรษฐ

(หมายเหตุ เอกสารชุด "วิกฤติการเมืองไทย และทางออกประเทศไทย" ฉบับนี้ เป็นเอกสารที่ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้นำเสนอและแจกจ่ายในที่ประชุมงานเสวนา "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน" ณ​ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2556 เพื่ออธิบายทรรศนะของ อ.ธิดาต่อวิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบัน และทางออกของปัญหา)
...............

"วิกฤตการเมืองไทย และทางออกประเทศไทย"

ธิดา ถาวรเศรษฐ

14 ธันวาคม 2556

การเมือง : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
เศรษฐกิจ : ทุนนิยมเสรีที่มีการวางแผน และสร้างรัฐสวัสดิการอย่างมีขั้นตอน
สังคม : ความคิดเสรีนิยม เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
ที่สำคัญคือ หลักนิติธรรม และความเท่าเทียมกัน

ขณะนี้ สำคัญคือ วิกฤตการเมืองที่มีเป้าหมายทางการเมืองต่างกัน

กลุ่มหนึ่งยึดถือระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความเสมอภาคทางการเมืองและหลักการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ภายใต้ความเท่าเทียมกันคือ หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง ในทางการเมือง การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตย

อีกกลุ่ม ไม่ให้ความเท่าเทียมกันทางการเมืองจึงไม่อาจยอมรับเสียงส่วนใหญ่ได้ เพราะมีคนดี เป็นคนส่วนน้อย จึงต้อง สงวนอำนาจไว้ให้เป็นของคนดี จึงไม่ยอมรับวิถีทางประชาธิปไตย และไม่อาจเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยได้ จึงเสนอตัวแทนจากการคัดสรรตามอาชีพ และการแต่งตั้ง อาจมีการเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง กระทั่งไม่มีเลย ดังนั้น เป้าหมายจึงเป็นอภิชนาธิปไตยและการเสนอสภาของอภิชน ไม่ใช่สภาประชาชน และไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ตามที่เรียกขาน แต่ตรงข้าม เพราะเป็นสภาอภิชน เพียงแต่ไม่กล้าเรียกชื่อตามที่ตนเองพูดไว้จริง

บังเอิญว่า กลุ่มผู้เสนอความคิดนี้มีพรรคการเมืองที่ เป็นตัวแทนความคิดไม่ประสบชัยชนะจากการเลือกตั้งอันเป็นกระบวนการประชาธิปไตย ซ้ำซากหลายครั้ง จึงกลายเป็นข้อสรุปว่า ไม่อาจใช้กระบวนการเลือกตั้งอันเป็นวิถีทางหนึ่งในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ตามระบอบประชาธิปไตย มาวันนี้จึงต้องการล้มเลิกการเลือกตั้ง หันไปใช้สภาแต่งตั้งและคัดสรร อันเป็นลักษณะเผด็จการแทนการเลือกตั้งทั่วไปที่ถือเป็นการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศตามกติกาสากลในระบอบประชาธิปไตย

ผู้เสนอสภาประชาชน อ้างมวลชนที่ถูกเรียกว่า “มวลมหาประชาชน” ที่มีระดับแสนคน มาเป็นความชอบธรรมเพื่อ ที่จะไม่ปฎิบัติตามกฏหมาย และตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลนี้และรัฐสภานี้มาจากการเลือกตั้งทั่วไปของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 กว่าล้านคน จากประชาชน 65 ล้านคน

คำว่า “สภาประชาชน” นั้นมีที่มาจากการที่มีการปฏิวัติในประเทศที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยม ในยุคที่มีการปกครองของกษัตริย์ ทรราชย์ หรือเผด็จการ จะเป็นการตั้งชั่วคราว นี่เป็นเหตุการณ์ในอดีต และเราพบว่า ก็จะเป็นการจัดตั้งของเผด็จการฟาสซิสต์ หรืออีกกลุ่มที่เป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเผด็จการต่อชนชั้น จึงตั้งสภาประชาชน ล้วนเป็นการคัดสรรจากคณะผู้นำการปฏิวัติ ชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้นำเผด็จการชนชั้นนำขวาจัด

ดังนั้นเมื่อคณะกปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ใช่คณะปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพหรือชั้นล่างในสังคม ก็เรียกได้ว่า เป็นการจัดการระเบียบการเมืองโดยต้องการเปลี่ยนแปลงจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบอื่น ถือเป็นเผด็จการชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ที่ต้องการล้มสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และมุ่งสถาปนาระบอบอื่นแทน โดยการจัดตั้ง สภาอภิชนของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมแล้ว ต้องการปฎิรูปการเมืองโดยหมุนกลับให้อำนาจการเมืองการปกครองกลับมาอยู่กับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเช่นในอดีต

ดังนั้นข้อเสนอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนลาออกจากรักษาการ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รัฐบาลรักษาการใหม่ ที่จะได้รับการยอมรับนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นเชิง เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับของชนชั้นอนุรักษ์นิยม หาใช่การยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศไม่ นอกจากขาดความชอบธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอที่สองที่ให้ จัดตั้งสภาประชาชน นอกจากไม่ชอบธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพราะนั่นคือการแต่งตั้งจากคณะบุคคลที่อุปโลกตัวเองว่ามีอำนาจอธิปัตย์ แทนประชาชน จึงมีฐานะเป็นคณะผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม โดยไม่มีประชาชนมอบอำนาจให้จริง แล้วยังไม่มีกฎหมายและรัฐธรรมนูญรองรับ เพราะรัฐธรรมนูญและกฏหมายรองรับเฉพาะสภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น ข้อเสนอที่สามที่ให้ปฏิรูปการเมืองโดยใช้สภาประชาชนก่อน โดยให้เลื่อนหรือยกเลิกการเลือกตั้งทั่วไป ออกไป ก็ไม่ชอบทั้งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและไม่ชอบด้วยกฏหมายเช่นกัน

ขณะนี้นอกจากมีพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฏีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

การอ้างการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งก็เป็นเพียงกลยุทธ ที่พูดให้ฟังดูดี ที่แท้ต้องการใช้อำนาจเผด็จการ ใช้สภาของชนชั้นนำเผด็จการ เขียนกติกาใหม่ของประเทศเพื่อไม่ให้อำนาจไปอยู่ในมือของประชาชน จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งตลอดมา

ทั้งหมดนี้คือการฉีกรัฐธรรมนูญเก่า เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็นอนุรักษ์นิยมถอยหลังยิ่งกว่าเดิม เพื่อคงอำนาจชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไว้ จึงไม่มีเหตุอันใดที่ต้องปฏิบัติตามกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเสนอในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งเป้าหมายและวิธีการ

ทางออกคือ
1.ต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
2.รักษากฎหมาย ความสงบในบ้านเมือง เพื่อความสงบสุขของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อขจัดอนาธิปไตย และการก่อการร้าย การก่อการจลาจล อันมีผลต่อความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ และทางเศรษฐกิจ สังคม
3.ทำประชามติพร้อมกันในวันเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชน ลงมติว่า “จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่”
4.การปฎิรูปประเทศไทย และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้จัดเป็นเวทีหาทางออกประเทศไทยร่วมกันหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ไม่อาจทำแบบลวกๆ แบบเผด็จการ ในเวลาสั้นๆได้ เพราะอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้น ถือเป็นพันธะสัญญาร่วมกันที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ สำหรับประชาชน

ส่วนข้อคิดเห็นของพวกอนุรักษ์นิยมที่เป็นประโยชน์ ก็สามารถนำมาร่วมได้เช่น การต่อต้านคอรัปชั่น การกระจายอำนาจ การปฏิรูปต่างๆ แต่ต้องเป็นการทั่วไปทั่วด้าน ไม่ใช่อคติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และต้องได้ประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะพวกชนชั้นนำ

วิกฤตการเมืองไทย และทางออกประเทศไทย โดย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ