ศาลไต่สวนคดี ‘ฮิโรยูกิ’ เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุมปี 53 เบิกความ ‘อนุดิษฐ์’

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ธ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยพนักงานอัยการนำ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รักษาการ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าเบิกความ

 น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 พยานเป็น ส.ส.กทม. เขต 13 พรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยประชาชน (ศชปป.) ในเดือนมี.ค.2553 โดยมอบหมายให้พยานเป็นเลขานุการ ศชปป. ในศูนย์จะมีการมอนิเตอร์สังเกตการณ์ตลอด 24 ชม. เหตุการณ์รุนแรงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผอ.ศอฉ. ได้สั่งการให้ใช้กำลังทหารเข้ามาสลายการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนเอ็ม 16 ทาโวร์ ปืนสั้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้เฮลิคอปเตอร์โยนแก๊สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย

 น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความต่อว่า การปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงเวลา 16.00 น. ก่อนจะเริ่มอีกครั้งในเวลา 18.00 น. จากการปฏิบัติการดังกล่าว พยานเห็นว่า ไม่เป็นไปตามกฎการใช้กำลัง โดยปกติการสลายการชุมนุมตามหลักสากลจะดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งขั้นสูงสุดจะใช้ได้แค่กระสุนยาง แต่การสลายการชุมนุมดังกล่าวกลับใช้กระสุนจริง แม้จะยิงขึ้นฟ้าก็ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเมื่อกระสุนขึ้นไปในอากาศแล้วตกลงมา อัตราความเร็วของกระสุนปืนก็สามารถทำอันตรายให้ถึงแก่ชีวิตได้เทียบเท่ากับการยิงในแนวระนาย ส่วนการโยนกระป๋องแก๊สน้ำตาที่มีน้ำหนักมาก เมื่อตกจากที่สูงลงมาก็สามารถทำให้บาดเจ็บได้เช่นกัน

 น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความอีกว่า นอกจากนี้ การปฏิบัติการในเวลากลางคืนก็ยังผิดหลักกฎการใช้กำลัง แต่เป็นการปฏิบัติการทางทหารที่ใช้กับอริราชศัตรู แต่หากเป็นการใช้กำลังกับเพื่อนร่วมชาติด้วยกันจะต้องทำในเวลากลางวันคือตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อการสลายการชุมนุมยุติลงในช่วงดึก ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน จำนวน 20 คน และเจ้าหน้าที่ทหาร จำนวน 5 คน สำหรับผู้ตายทั้ง 3 ในคดีนี้ พยานทราบว่า เสียชีวิตบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ โดยถูกยิงจากกระสุนปืนความเร็วสูง หลังจากเกิดเหตุการณ์ พยานได้รวบรวมคลิปวิดีโอเหตุการณ์จากแหล่งต่างๆ รวมถึงเอกสารและภาพถ่ายไว้ นอกจากนี้ ช่วงบ่ายของวันที่ 11 เม.ย.2553 พยานได้ไปตรวจดูในที่เกิดเหตุ พบว่าบ้านเรือนประชาชนบริเวณถนนดินสอมีร่องรอยถูกกระสุนปืนยิง รวมถึงที่ตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งถนนดินสอก็มีร่องรอยของกระสุนปืนเช่นกัน

 จากนั้นทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า จากการติดตามสถานการณ์เห็นว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่มี ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า พยานทราบได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง พยานเบิกความว่า จากการดูคลิปวิดีโอพบว่า หากใช้กระสุนซ้อมรบจะต้องมีอแดปเตอร์ติดที่ปลายกระบอกปืน เพื่อปรับความดันให้สามารถยิงได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้กลับไม่มีติดไว้ และยังปรากฏว่ามีการคัดปลอกกระสุนออกจากรังเพลิงด้วย

 ต่อมาทนายญาติผู้ตายให้พยานดูรูปถ่ายที่มีเจ้าหน้าที่ทหารยืนถือปืนเล็งไปด้านหน้า ก่อนถามพยานว่า ลักษณะท่าทางดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ถือปืนอยู่ในระดับใด และสามารถทำอันตรายได้หรือไม่ พยานเบิกความว่า อยู่ในแนวราบ หากกระสุนปืนถูกอวัยสำคัญก็สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดพร้อมเพื่อบริหารจัดการคดีใหม่ในวันที่ 26 ธ.ค. เวลา 09.00 น.

ที่มา ข่าวสด