ศาลไต่สวนคดีชายไม่ทราบชื่อ ถูกยิงตายช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อปี 53

วันที่ 6 ธ.ค.  ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา ถ. รัชดา ศาลนัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการเสียชีวิตของ ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล   ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถ.ราชดำริ ในเหตุการณ์สลายชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553  โดยอัยการนำพยานขึ้นเบิกความ 2 ปาก

พยานปากที่ 1 เป็นทหารยศพันเอก สังกัดกรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ จ.สระบุรี เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 23 รักษาพระองค์ จ.สระบุรี ขึ้นตรงกับกรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ เดือน ก.พ. 53 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลัง 2 กองร้อย ไปตั้งจุดตรวจร่วมกับตำรวจบน ถ.พหลโยธิน ย่านพระอินทร์ราชา เพราะมีมวลชน นปช.เดินทางมา หลังจากนั้นย้ายไปป้องกันรัฐสภา บริเวณแยกการเรือน ก่อนจะย้ายไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และย้ายมาที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 เม.ย. 53 โดยระหว่างนี้กำลังพลมีเพียงอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ได้แก่ หมวก โล่ และกระบอง

พยานปากที่ 1 เบิกความอีกว่า หลังวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้บังคับบัญชาแจ้งเตือนให้ระวังบุคคลที่สวมใส่ชุดดำ หรือแต่งกายคล้ายทหารและมีอาวุธสงครามร้ายแรง และได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังพลไปที่ ถ.สีลม โดยให้มีอาวุธประจำกายคือ นายทหารใช้ปืนพกขนาด 11 มม. นายสิบใช้ปืนเอชเค 33 และพลทหารมีปืนลูกซอง ซึ่งปืนเอชเคและปืนลูกซองมีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง แต่กระสุนจริงที่ใช้กับปืนเอชเคนั้นเก็บใส่ลังล็อกกุญแจไว้ พยานเปิดได้คนเดียว และจนจบภารกิจไม่มีการใช้กระสุนจริงส่วนนี้

พยานเบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 53 หน่วยของพยาน ตั้งกำลังอยู่บริเวณสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ ถ.วิทยุ ใกล้กับสถานทูตญี่ปุ่น รับผิดชอบภารกิจตรวจการณ์ด้วยกล้องส่องทางไกล ดูผู้ชุมนุมที่อยู่ห่างออกไป 400-500 เมตร บริเวณแยกสารสิน ทั้งนี้ก่อนวันที่ 19 พ.ค. 53 ไม่มีทหารอยู่ภายในสวนลุมพินี แต่มีกำลังไม่ทราบฝ่ายแต่งกายชุดดำ หรือชุดคล้ายทหารอยู่ภายใน จึงรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา และวันที่ 18 พ.ค. 53 ได้รับแจ้งเตือนให้เพิ่มการเฝ้าระวัง เนื่องจากจะมีรถมูลนิธิ หรือรถพยาบาลขนอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และระหว่างนี้ก็ได้ยินเสียงคล้ายปืน หรือประทัดยักษ์ดังมาจากทางบ่อนไก่ และสวนลุมพินีอยู่ตลอด กระทั่งวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งได้รับแจ้งว่าจะมีสลายชุมนุมโดยทหารซึ่งเคลื่อนไปจากแยกศาลาแดง จึงได้ยินเสียงปืนมาจากทิศทางดังกล่าว พยานเห็นมีทหารเข้าไปในสวนลุมพินีทางประตู 2 หลังเวลา 13.00 น.ไปแล้ว ส่วนก่อนหน้านี้จะมีทหารเข้าไปทางประตูอื่นหรือไม่ พยานไม่ทราบ ในการปฏิบัติงานพยานรับคำสั่งจากผู้บังคัญบัญชาเท่านั้น ไม่มีการสื่อสารกับทหารหน่วยอื่น

ด้านพยานปากที่ 2 เป็นทหารยศพันเอก เบิกความโดยสรุปว่า ช่วงที่เกิดเหตุ เป็นผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 28 กองพลทหารม้าที่ 1 ได้รับคำสั่งให้จัดกำลัง  1 กองร้อยมารักษาความสงบในกทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 53 กระทั่งประมาณวันที่ 22 เม.ย. ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสถานีศาลาแดง หลังจากนั้นย้ายไปบริเวณแยกอังรี-ดูนัง ตั้งแต่วันที่ 24เม.ย.-18 พ.ค. ก่อนจะได้รับคำสั่งจาก บก.ควบคุมให้ไปตรวจสอบพื้นที่สวนลุมพินี เนื่องจากเชื่อว่ามีการซ่องสุมอาวุธอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 06.00 น. เริ่มเคลื่อนกำลังเข้าไปในสวนลุมพินีทางประตู 3 ฝั่งถ.พระราม 4 มีอาวุธได้แก่ โล่ กระบอง ปืนลูกซอง และปืนเอ็ม 16 โดยปืนลูกซองมีทั้งกระสุนจริงและกระสุนซ้อมรบ ส่วนปืนเอ็ม 16 ไม่ได้เบิกกระสุนจริงมาใช้ ทั้งนี้ นอกจากหน่วยของพยานแล้ว ยังมีหน่วยของกองพันทหารม้าที่ 13  และกองพันทหารม้าที่ 15 เข้าปฏิบัติการในวันดังกล่าวด้วย แต่เข้าคนละประตูกัน หน่วยของพยานเคลื่อนที่ไปทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยหยุดอยู่ห่างแนวรั้วประมาณ 300 เมตร ระหว่างที่เคลื่อนไปไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือบุคคลต้องสงสัย แต่ทราบภายหลังว่ามีหน่วยอื่นพบปลอกกระสุนปืน และหลุมระเบิดภายในสวนลุมพินี อย่างไรก็ตาม ระหว่างปฏิบัติงานพยานได้ยินเสียงคล้ายปืนหรือประทัดยักษ์ดังมาจากฝั่ง รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่ในหน่วยของพยานไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และไม่มีใครใช้กระสุนชนิดใดเลยในวันดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 20 ธ.ค. เวลา 09.00 น. โดยจะเป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย อัยการจะนำพยานขึ้นเบิกความ 2 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพนักงานสอบสวน

ที่มา ข่าวสด