“เงิน”เป็นปัจจัยสำคัญชี้ขาด “ผลการเลือกตั้ง” 2 ก.พ.57 ได้จริงหรือ?


“...ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือกสูงถึงร้อยละ 48.62 ขณะที่ผู้ที่ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้นมีถึง ร้อยละ 46.79 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผมการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน...”


แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้กับ ประชาชน เพื่อเลือกรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

โดยระบุวันเลือกตั้งครั้งใหม่ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้

แต่ดูเหมือนข้อเสนอแบบ “ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ออกมาดังกล่าว

จะไม่ได้รับการตอบสนองจาก “มวลมหาประชาชน” ผู้ชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มากเท่าไรนัก

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ชุมนุม ต่างเบือนหน้าหนีกับข้อเสนอดังกล่าว

เพราะมองว่า “การเลือกตั้ง” ยังไม่ใช่ทางออกของสังคมไทย

“ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ สุดท้ายพวกเขา ก็ต้องกลับเข้ามาบริหารใหม่ได้อีก เพราะระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย มักจะมีการเรื่องการใช้จ่ายเงิน และการทุจริตมากที่สุด สุดท้ายถ้าเขากลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อยู่ดี ปัญหาทุกอย่างก็จะวนเวียนต่อไปแบบนี้ ไม่รู้จบ เราจะไม่มีวันกำจัดระบอบทักษิณ ให้หมดไปจากบ้านเมืองไปได้”

คำถามที่น่าสนใจคือ “เงิน” “ทุจริตการหาเสียงเลือกตั้ง” เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาด “ผลการเลือกตั้ง” ได้จริงหรือ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำการรวบรวมข้อมูล สถิติ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และบทวิเคราะห์ของนักวิชาการต่าง ๆ มานำเสนอ ดังนี้

จากสถิติการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยจากทั้งหมด 40 พรรค พบว่า

พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัคร 124 ราย ค่าใช้จ่ายที่พรรคสามารถใช้ได้ 186,000,000 บาท แต่ใช้จริง 93,846,296.45 บาท

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งผู้สมัคร 125 ราย ค่าใช้จ่ายที่พรรคสามารถใช้ได้ 187,500,000 บาท แต่ใช้จริง 165,420,868.94 บาท

โดยข้อมูลสถิติข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่กล่าวไว้ในรายการ “เจาะข่าวตื้น” ตอนที่ 99 ว่า หลัง ๆ มานี้ ถ้าพูดกันตามตรงน่ะ เขาใช้เงินน้อย ผมไม่บอกว่าเราใช้เงินมากกว่านะ มันกลับหัวกลับหาง ผมบอกถ้าอย่างนั้นอย่ามาพูดว่าแพ้เพราะเงิน

“เลือกตั้งหลังสุดอาจจะเป็นเพราะเราใช้เงินมากกว่าเขาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดประเด็นนี้อีกต่อไป วันนี้จะมาดูว่าจะแก้ปัญหาของเราอย่างไร เพราะถ้าเรามัวแต่โทษคนอื่น คุณปรับตัวไม่ได้หรอก” นายอลงกรณ์ ระบุ

ทั้งนี้ มีคนหลายกลุ่มปรามาศว่าคนส่วนใหญ่ที่เลือก “พท.” มักไร้การศึกษา จริงหรือ ?

ในงานวิจัยผลการเลือกตั้งในปี 2554 ของ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในงานเสวนา “พลวัตองค์ความรู้และมายาคติว่าด้วยการเลือกตั้งและชนบทไทย” ระบุว่า

คนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา เลือก พท. 55.2 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 35.6 เปอร์เซ็นต์

คนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา – อาชีวะศึกษา เลือก พท. 54.5 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 34.7 เปอร์เซ็นต์

คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เลือก พท. 40.1 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 46.5 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ คนที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี เลือก พท. 50.3 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 32.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วนในเรื่องการรับเงินซื้อเสียงนั้น ก็มีการกล่าวหากันว่า “คนเหนือ – อีสาน” ซื้อเสียงได้ง่ายที่สุด ซึ่งผลวิจัยดังกล่าว ระบุว่า เมื่อมีการรับเงินซื้อเสียง คนที่จะไปเลือกพรรคที่ซื้อเสียงให้นั้นมี

กรุงเทพมหานคร 2.1 เปอร์เซ็นต์

ภาคกลาง 12.2 เปอร์เซ็นต์

ภาคใต้ 19.3 เปอร์เซ็นต์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.6 เปอร์เซ็นต์

และภาคเหนือ 7 เปอร์เซ็นต์

เช่นเดียวกันกับงานวิจัย“การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง” ของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พบว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตนเองนั้น ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป

โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือกสูงถึงร้อยละ 48.62 ขณะที่ผู้ที่ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้นมีถึง ร้อยละ 46.79 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผมการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน

งานวิจัยดังกล่าว ระบุอีกว่า การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300 – 500 บาท ไม่มากเหมือนสมัยก่อน

“ผู้สมัครที่ยังใช้เงินก็รู้ว่าได้ผลน้อย แต่ที่ยังต้องจ่ายเพราะกลัวแพ้หรือกลัวว่าอีกฝ่ายให้เงินจึงต้องให้ด้วย” งานวิจัยดังกล่าว ระบุ

ส่วน ดร.จักกริช สังขมณี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวไว้ในงานสัมมนา “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ผ่านบทความ “ย้อนคิดว่าด้วยชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน : การเมืองในชนบทที่มากกว่าการเลือกตั้งและการชุมนุมประท้วง” ว่า มายาคติหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจภาวะเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ มายาคติว่าด้วยการซื้อสิทธิ์ – ขายเสียงของคนชนบท ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมที่มักจะให้ภาพการซื้อขายเสียงในลักษณะที่ตื้นเขิน และอ้างเอาความยากจน การไม่รู้เท่าทันนักการเมืองและระบบอำนาจ และการรอรับอุปถัมภ์ช่วยเหลือจากภายนอกของผู้คนในชนบทเป็นพื้นฐานในการสร้างมายาคติ

มายาคติที่ว่านี้ได้ก่อให้เกิดความพึงใจต่อมโนทัศน์ของชนชั้นกลางไทย และมายาคติเหล่านี้ได้นำไปสู่การลดทอนคุณค่าของคะแนนเสียงเลือกตั้งจากชนบท ซึ่งการยึดเอาแต่เพียงวาทกรรมการซื้อขายเสียงแบบตื้นเขินนั้น ถือว่าเป็นการลดทอนความเข้าใจการศึกษาการเมืองที่ที่อิงอยู่กับชุมชนท้องถิ่น

“มายาคติเหล่านี้เป็นเสมือนม่านบังตาที่ทำให้มองไม่เห็นว่า แท้จริงแล้วอะไรคือเจตจำนงและความมุ่งมาดปราถนาของประชาชนจากชนบท และเจตจำนงเหล่านั้นถูกแสดงออกผ่านทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เขาต้องการอย่างไร” บทความชิ้นนี้ ระบุ

ขณะที่ ศ.ดร.ผาสุก พงไพจิตร ศาสตราจารย์กิตติคุณคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และ Christ Baker นักประวัติศาสตร์ ได้เขียนบทความชื่อว่า “Vote-buying claims nothing but dangerous nonsense” หรือแปลเป็นไทยว่า “การซื้อเสียงเป็นเพียงข้ออ้างไร้สาระที่อันตราย”

โดยบทความดังกล่าว ระบุว่า การอ้างว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม เพราะชัยชนะจากการเลือกตั้งของพวกเขามาจากการซื้อเสียงนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ ไร้สาระและอันตราย อย่างไรก็ตามการซื้อเสียงอาจยังไม่หายไปไหน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครบางท่านอาจยังต้องให้เงินเนื่องจากกลัวจะถูกมองว่าเป็นคน “ขี้งก” หรือ “ไม่มีน้ำใจ” แต่ประเด็นคือเงินนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว

โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (3 ก.ค. 2554) แบบแผนของการเลือกตั้งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ละส่วนของประเทศ เขตการเลือกตั้งที่ติดกัน ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันมักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน พท. ชนะขาด ปชป. ด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่าร้อยละ 60 ขณะที่ภาคใต้ (ยกเว้นบริเวณใต้สุดที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่) ปชป. ชนะ พท. ด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละ 60

“ข้ออ้างผิด ๆ เกี่ยวกับการซื้อเสียงในปัจจุบันเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์เพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ปัญหาที่แท้จริงคือประชาชนที่เข้าใจคุณค่าของคะแนนเสียงกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง” บทความดังกล่าว ระบุ

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นยังคงมีอยู่จริงในสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากผลวิจัยของ รศ.สิริพรรณ และ ผศ.ดร.ปริญญา เป็นต้น

ทว่าเป็นการซื้อเสียงที่อาจเรียกได้ว่า “เสียเปล่า” เนื่องจากประชาชนแทบไม่ได้เล็งเห็นความจำเป็นใด ๆ อีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตามจากบทวิเคราะห์ต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนที่เป็นคนต่างจังหวัดไม่ได้เป็น “เครื่องมือ” ของนักการเมืองอีกต่อไป แต่พวกเขาเหล่านี้ “ต้องการ” ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างของประเทศเช่นเดียวกับ “มวลมหาประชาชน” ทั้งหลายอีกด้วย

คำถามที่น่าสนใจต่อมา คือ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง ที่คนในประเทศไทย ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วที่ชัดเจนแบบนี้ "กลุ่มคนรากหญ้า" ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองอื่น

จึงคิดเห็นหรือตัดสินใจอย่างไร กับปัญหา "บ้านเมือง" ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

โดยเฉพาะมุมมอง และกรอบความคิด ที่จะนำมาใช้ในการมองปัญหา

เพราะบางเรื่องบางเหตุการณ์ ในสถานการณ์แบบนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ีควรต้องอาศัย "ข้อมูลข้อเท็จจริง" เป็นหลักในการตัดสินใจ

มากกว่าการอาศัยแค่ความรู้สึก "รัก ชอบ เชื่อ หลง" หรือ เพียงเพราะคำพูด คำบอกเล่า (หลอกลวง) ของใครบางคน เท่านั้น

เพราะวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการชี้ชะตากรรมของประเทศไทย ว่า จะเดินทางไปสู่แสงสว่าง

หรือ จะยัง "วนเวียน" อยู่ใน "วังวน" แห่งความขัดแย้งแบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ที่มา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org