หมายเหตุมติชน : หยุดเพื่อส่วนรวม



ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... หรือเรียกย่อๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เดิมมีหลักการตามที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพวกเสนอ คือให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อที่กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยหลักการดังกล่าวมีการตอกย้ำหลายครั้ง ทั้งที่เป็นมติของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นคำอภิปรายในการพิจารณาวาระ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตรา 3 ขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงผู้สั่งการ และแกนนำการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกกันว่า "สุดซอย" หรือ "เหมาเข่ง" ซึ่งอาจมีแกนนำพรรคได้รับประโยชน์ด้วยและแตกต่างจากเนื้อหาเดิมที่เสนอต่อสภา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเบื้องแรก คือนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ไม่รวมผู้สั่งการและแกนนำ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการนิรโทษกรรมผู้สั่งการและแกนนำด้วย สังคมและสาธารณชน ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เตรียมความคิดมาก่อน ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ จึงเกิดปฏิกิริยาและคำถาม ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งควรจะเป็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่ความปรองดอง กลับกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุการณ์ตึงเครียด กระทั่งน่าหวาดวิตกว่า จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำรอยเดิม

"มติชน" มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดจากความเห็นต่าง และผลกระทบ ที่จะเกิดจากร่าง พร.บ.นี้ โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง บางคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ และบางคดีกำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ผลการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแต่ละคดีจะออกมาเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรตีตนไปก่อนไข้หรือคาดการณ์ในเชิงลบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง ปฏิเสธกระบวนการนี้

สังคมไทยผ่านความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาการฟื้นฟูความบอบช้ำ เสียหายในด้านต่างๆ ไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างเงื่อนไข ผลักมิตรเป็นศัตรู เพิ่มบรรยากาศของความเป็นปฏิปักษ์

"มติชน" จึงขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทบทวน ยุติ ระงับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในแนวทางที่เป็นปัญหานี้ทันที และกลับคืนสู่แนวทางอันเป็นที่ยอมรับ หรือแนวทางที่สภารับหลักการในวาระที่ 1 โดยคำนึงถึงเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น และยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงในการสร้างสังคมไทยให้กลับคืนสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง

 (ที่มา:มติชนรายวัน 31 ต.ค.2556)