ด่วน!!! อ.วรพล พรหมิกบุตร เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน



วันนี้(12 พ.ย.2556) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ​ ประธาน นปช.​แดงทั้งแผ่นดิน และ นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเพิ่งได้รับแจ้งข่าวที่น่าเศร้าอย่างยิ่งคือ อ.วรพล พรหมิกบุตร อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้รักประชาธิปไตย และยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เพิ่งเสียชีวิตในวันนี้ที่โรงพยาบาลภูมิพลด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

อ.ธิดาและ นพ.เหวง ในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของ อ.วรพลมา ณ ที่นี้

ในวาระนี้ ทีมงาน นปช.จึงขอนำคลิปการปราศรัยครั้งสุดท้ายของ อ.วรพล พรหมิกบุตรที่ โรงเรียน นปช. เทคนิคดอนเมือง เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งได้อธิบายถึงหลักการ และยุทธศาสตร์ที่คนเสื้อแดงควรปฏิบัติในการต่อสู้เพื่อให้การต่อสู้ของประชาชนได้รับชัยชนะของประชาชน





ประวัติ อ.วรพล พรหมิกบุตร

อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์

สำหรับ วรพล พรหมิกบุตร เกิดเมื่อปี 2499 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาได้ศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2525 เป็นผู้เขียนวิทยานิพนธ์ความยาว 229 หน้า หัวข้อ "ความเป็นจริงทางสังคม: ปัญหาการวิเคราะห์และความเป็นศาสตร์ของสังคมวิทยา" (อ่านบทคัดย่อได้ที่นี่)

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรพลได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตในปี 2530 หัวข้อวิทยานิพนธ์คือ "The logic of foreign AID : a case study of its impact on Thailand's postwar development"

สำหรับความสนใจทางวิชาการของเขาระหว่างที่สอนอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ การวิเคราะห์ระบบสื่อสารมวลชนไทยและผลกระทบเชิงสังคม-วัฒนธรรม ประเด็นความสาคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจการเมืองต่อวิถีชีวิตสังคมและชุมชน การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ฯลฯ



ร่วมต้านรัฐประหาร - ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 วรพล พรหมมิกบุตร เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา และร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง ในปี 2550 หลังเหตุการณ์ 22 ก.ค. 2550 หรือการสลายการชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งทำให้แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. 8 ราย ถูกตำรวจควบคุมตัว ในวันที่ 29 ก.ค. 2550 วรพลเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมกับ "แนวร่วมนักกฎหมายนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน" แถลงข่าวที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำ นปก.

ในปี 2553 ในช่วงการชุมนุมใหญ่ของ นปช. เขาตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ 19/2553 ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 โดยเขาได้มามอบตัวที่กองปราบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกับตำรวจกองปราบในวันที่ 14 มิ.ย. 53 ทั้งนี้เขายืนยันว่าไม่มีเจตนาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขึ้นปราศรัยเพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม และเรียกร้องรัฐบาลว่าไม่ควรใช้อำนาจเกินเลย โดยวรพลถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 7 วัน ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี ก่อนถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา

นอกจากนี้ เขายังมีรายชื่อปรากฏอยู่ท้ายคำสั่ง ศอฉ.ที่ 49/2553 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2553 ห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ศอฉ. จึงมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว



ต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และบทความเรื่องสุดท้าย

วรพล แสดงความเห็นและร่วมอภิปรายทางการเมืองอยู่เป็นระยะ ล่าสุดนั้นเขาแสดงความเห็นคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ หรือฉบับเหมาเข่งด้วย โดยในบทความหัวข้อ "การเมืองไทยปลาย 2556 : พายุใหญ่และวิกฤตประชาธิปไตย" เขาเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่มีการแก้ไขนั้นเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาแตกต่างอย่างขัดหลักการกับฉบับวรชัย เหมะ ที่สภามีการลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 และเห็นว่าการเคลื่อนไหวผลักดันให้ผ่านในวาระที่ 2 และ 3 ถือเป็นการ "ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐนิติธรรม และฝ่าฝืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย"

ล่าสุดวรพล ยังร่วมการชุมนุมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2556 ที่แมคโดนัลด์ สาขาอมรินทร์พลาซ่า และที่แยกราชประสงค์ เพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง (การอภิปรายของวรพล) และในวันที่ 10 พ.ย. 2556 เขาเดินทางไปเป็นวิทยากรให้กับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในระหว่างการจัดกิจกรรมโรงเรียนการเมือง นปช. ที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองด้วย (การอภิปรายของวรพล)

ทั้งนี้วรพล ยังเขียนบทความขนาดสั้น จั่วหัวว่า "การเมืองไทยปลาย 2556" เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทเป็นระยะ และล่าสุดในวันนี้ (12 พ.ย.) เขาได้ส่งบทความหัวข้อ "การเมืองไทยปลาย 2556: กองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย" มาให้เผยแพร่ด้วย นับเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขา

ที่มา ประวัติอ.วรพล พรหมิกบุตร ประชาไท