เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทน ราษฎรนัดพิเศษ ลงมติ 310 ต่อ 0 เสียง งดออก เสียง 4 เสียง ผ่านวาระ 3 ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ว่า ในส่วนของดีเอสไอยังคงต้องเดินหน้าสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนจากสถานการณ์ รุนแรงทางการเมืองในปี 2553 อย่างต่อเนื่อง โดยขั้นตอนหลังจากนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาอีก จากนั้นต้องรอจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ และตราพระราชกฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้เป็นทางการ
นายธาริตกล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอจำเป็นต้องสอบสวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบต่อไป จนกว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้จึงยุติการสอบสวนคดี ขณะนี้พนักงานสอบสวนยังคงสามารถเรียกตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศอฉ.ในฐานะผู้ต้องหามาให้ถ้อยคำและรับทราบข้อกล่าวหาได้ตลอด
"ส่วนสำนวนคดีที่ศาลมีคำสั่งและส่งมาถึงมือดีเอสไอขณะนี้แล้ว 13 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดในคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลกลุ่ม ผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมปีཱ ที่มาร้องดีเอสไอ กว่า 1,000 ราย เพื่อให้ดําเนินคดีข้อหาพยายาม ฆ่ากับนายอภิสิทธิ์และนาย สุเทพ" อธิบดีดีเอสไอกล่าว
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผบ.สำนักคดีความมั่นคงดีเอสไอ เผยว่า วันที่ 5 พ.ย. นี้ เวลา 14.00 น. จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงญี่ปุ่น และผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญา กรรมญี่ปุ่น เดินทางเข้าพบนายธาริตและพนักงานสอบสวนเพื่อสอบถามความคืบหน้าผลการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อนถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อช่วงค่ำ 10 เม.ย. 2553 ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ
ที่มา ข่าวสดรายวัน