นายสมคิด กล่าวยืนยันว่า ส.ส. 42 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย จะทำตามมติพรรค และพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงสัตยาบันจะไม่หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีกดังนั้น การชุมนุมจึงไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขอีก ขณะที่นายวรชัย กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีนัยยะสำคัญคล้ายกับการขับไล่รัฐบาลสมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน
นายวรชัย กล่าวว่า เนื่องจากล่าสุด ทราบมาว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ล้มรัฐบาลสมัยนายสมชาย ได้นัดพบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ จังหวะเดียวกับการที่กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 9 คน ลาออก จึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจมีการวางแผนที่จะล้มรัฐบาลหรือไม่ โดยใช้ประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ 312 ส.ส. ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว.มาเป็นเงื่อนไข ทั้งที่ศาลไม่มีอำนาจรับเรื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน และหากศาลรับเรื่องก็จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ดังนั้น เราก็ยอมรับศาลไม่ได้เหมือนกัน และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะไม่ยอมรับเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ในวันที่ 18-20 พ.ย. ที่คนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมเพื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เมืองทองธานีนั้น คาดว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ เพราะเชื่อว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุมกว่า 1 แสนคน