เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความเห็นชาวอีสานต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานยังไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง และเห็นว่าการเร่งรีบผ่านวาระ 3 เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ฉุดคะแนนความนิยมพรรคเพื่อไทยในอีสานลง 10% จาก 44% เหลือ 34% แต่วอนให้เร่งนิรโทษกรรมมวลชนที่มีปัญหากับคดีความอยู่
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสาน ต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง ที่พึ่งผ่านวาระ 3 โดยสภาผู้แทนราษฎร โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,190 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง ที่นิรโทษกรรมคนทุกกลุ่ม อันดับหนึ่งร้อยละ 46.6 ไม่เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 31.6 เห็นด้วย และอีกร้อยละ 21.8 ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามว่า หากสามารถเลือกได้ ต้องการให้นิรโทษกรรมให้คนกลุ่มใดบ้าง โดยมีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 8 กลุ่มให้พิจารณา พบว่า
1) สำหรับมวลชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันดับหนึ่งร้อยละ 53.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 27.9 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 18.7 ไม่แน่ใจ
2) สำหรับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อันดับหนึ่งร้อยละ 67.7 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 16.7 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 15.6 ไม่แน่ใจ
3) สำหรับมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง อันดับหนึ่งร้อยละ 46.0 ต้องการให้นิรโทษกรรม รองลงมาร้อยละ 41.0 ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอีกร้อยละ 13.0 ไม่แน่ใจ
4) สำหรับแกนนำคนเสื้อแดง อันดับหนึ่งร้อยละ 51.6 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 35.9 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 12.5 ไม่แน่ใจ
5) สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม อันดับหนึ่งร้อยละ 57.0 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 22.2 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 20.8 ไม่แน่ใจ
6) สำหรับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อันดับหนึ่งร้อยละ 52.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 36.7 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 10.9 ไม่แน่ใจ
7) สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณอันดับหนึ่งร้อยละ 72.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 13.1 ไม่แน่ใจ
8) สำหรับผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันดับหนึ่งร้อยละ 71.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 14.1 ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ผู้ที่ถูก คตส. และ ปปช. ดำเนินคดี จากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ ปี 2549 ควรถูกดำเนินการอย่างไร อันดับหนึ่งร้อยละ 36.5 เห็นว่าควรดำเนินการกระบวนยุติธรรมต่อไป รองลงมาร้อยละ 25.0 ให้นิรโทษกรรม ร้อยละ 17.5 ต้องการให้เริ่มกระบวนการยุติธรรมใหม่ทั้งหมด และอีกร้อยละ 21.0 ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า การผ่านวาระ 3 อย่างเร่งรีบของร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย โดยสภาผู้แทนราษฎร ท่านคิดเห็นอย่างไร อันดับหนึ่งร้อยละ 44.1 คิดว่าไม่เหมาะสม รองลงมาร้อยละ 28.3 ไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 27.6 คิดว่าเหมาะสม
และเมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.4 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (สิ้นไตรมาส 3 ปี 2556 ร้อยละ 44.3) รองลงมาร้อยละ 32.3 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ร้อยละ 14.7 จะโหวตโนไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 10.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ และอีกร้อยละ 8.2 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์
"จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานยังไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยหรือเหมาเข่ง และเห็นว่าการเร่งรีบผลักดันฉบับสุดซอยผ่านวาระ 3 โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่คนอีสานแล้วอยากให้ทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เว้นแต่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่คนอีสานจำนวนมากอยากให้มีการนิรโทษกรรมให้ เนื่องจากหลายคนกำลังติดคุกอยู่หรือหลบหนีคดีอยู่ โดย พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยส่งผลให้คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงทันทีประมาณ 10% จาก 44% เหลือเพียง 34% โดยคนอีสานที่เปลี่ยนใจจากพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าจะไปเลือกพรรคอื่นแทนที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์แทนหรือบางกลุ่มก็เลือกโหวตโน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้นเพื่อปรับกลยุทธ์การสร้างความปรองดองในชาติโดยยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมเพื่อให้มีข้อขัดแย้งน้อยที่สุด" ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มา มติชน