ม็อบชักสะดุด ลุ้นชี้ขาด 20 พ.ย.


ข่าวสด การเมือง

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกวุฒิสภาลงมติเอกฉันท์ฝังเข่งไปแล้วเรียบร้อย

ในจังหวะขานรับเป็นทอดๆ สภา ผู้แทนฯ ดำเนินการถอนร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันที่ค้างวาระพิจารณาอีก 6 ฉบับออกไปจนหมด

ด้านรัฐบาลและพรรคร่วมก็พร้อมใจปลดชนวน

ลงสัตยาบันยืนยันเป็นสัญญาประชาคม จะไม่นำร่างดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีกแม้จะผ่านพ้นช่วงเวลา 180 วันไปแล้วก็ตาม

แต่ม็อบราชดำเนินที่มีนกหวีด เป็นสัญลักษณ์ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมทั้งอดีตส.ส.และส.ส.ประชาธิปัตย์อีกจำนวนหนึ่งเป็นแกนนำ

ยังประกาศเดินหน้าชุมนุมต่อไป

นายสุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก คือ การเคลื่อนขบวน ผู้ชุมนุมจากสามเสนมาปักหลักยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายสุเทพขอมติผู้ชุมนุมที่อุปโลกน์เป็น?ศาลประชาชน" ตัดสินเดินหน้าสู้ต่อไป ท่ามกลางหลายคนที่ยังสับสนใน เป้าหมายการต่อสู้ครั้งนี้อยู่ก็ตาม

นายสุเทพประกาศมาตรการ ?อารยะขัดขืน" 4 ข้อ ประกอบด้วย

ให้บริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษา หยุดงานและหยุดการเรียนการสอนวันที่ 13-15 พ.ย.

ให้นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าซึ่งอยู่ในช่วงการชำระภาษีกลางปี ชะลอการชำระภาษีดังกล่าว

ให้ประชาชนพกธงชาติและนกหวีดติดตัว และหากพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ให้เป่านกหวีดใส่ทันที

นายสุเทพยังประกาศนำทีมสมาชิกพรรค 8 คนลาออกจากส.ส. คือ นายถาวร เสนเนียม นาย อิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

เพื่อออกมาร่วมนำม็อบเต็มตัว

ทว่า มาตรการอารยะขัดขืนดังกล่าว เป็นการ ยกระดับที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง

เนื่องจากร่างพ.ร.บ.เหมาเข่งถูกวุฒิสภาขุดหลุมฝังไปเรียบร้อยแล้วก่อนอารยะขัดขืนเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ

ผู้ชุมนุมบางส่วนที่มีจุดยืนเป้าหมายแจ่มชัด เริ่มฉุกคิด รู้สึกเห็นตรงกันว่าเมื่อร่างเหมาเข่งตายสนิทแล้วตามเงื่อนไขข้อเรียกร้อง

เรื่องก็ควรจบเสียที

การที่แกนนำฝ่ายการเมืองพยายามนำพลังบริสุทธิ์ของประชาชนเรือนหมื่นออกมาใช้

ไปตีขลุมเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล หรือเรื่องใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

จึงไม่ใช่เรื่องถูกต้อง

สิ่งสะท้อนว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐ ที่นายสุเทพหวังใช้เป็นไม้ตายกดดันรัฐบาล

จนกลายเป็นบูมเมอแรงหมุนวนกลับมาหาตัวเอง

นอกจากปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ค่อยๆ ลดระดับจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด

มาตรการอารยะขัดขืนยังถูกกระหน่ำคัดค้านจากบรรดาภาคองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก

ต่างมีความเป็นห่วงตรงกันว่า การชุมนุมที่บานปลายยืดเยื้อออกไปแทนที่จะหยุดอยู่แค่พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความสุ่มเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนของประเทศเสียหายอย่างมาก

ขณะที่ภาครัฐวิสาหกิจ ตลอดจนสถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งต่างแสดงจุดยืนในนามองค์กร ไม่ขอมีส่วนร่วมกับอารยะขัดขืนตามคำสั่งนายสุเทพ

ด้วยเพราะเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่เกิดผล กระทบใดๆ ต่อรัฐบาล แต่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ต้องแบกรับผลร้ายที่ตามมาด้วยตัวเองโดยฝ่ายการเมืองตัวต้นคิดไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตามการที่มาตรการอารยะขัดขืน กลายเป็นมุขแป้ก ไม่ได้สร้างความท้อถอยให้แกนนำผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

นายสุเทพยังคงถือคติความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

ประกาศเดินหน้ายกระดับการชุมนุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พ.ย.

โดยครั้งนี้สั่งระดมจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มา จากภาคใต้ ส่วนในกรุงเทพฯ มีการสั่งการผ่านเครือข่ายนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นระดมครบทั้ง 50 เขต

ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

นายสุเทพประกาศเป็นนัยว่าการชุมนุมจะดำเนินไปต่ออีกไม่นาน

ภายในสิ้นเดือนนี้น่าจะ?ปิดเกม"ได้

คําประกาศของนายสุเทพ ทำให้เกิดการวิเคราะห์กันยกใหญ่ว่าอะไรคือสาเหตุ

ได้รับสัญญาณอะไรมาหรือไม่

เรื่องนิรโทษกรรมกับเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น ตัดออกไปได้ เพราะในทางปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องผ่านจุดวิกฤตไปแล้ว ไม่เหลือปมให้ขยายต่อได้อีก

ฉะนั้นสิ่งที่ใครต่อใครหลายคน รวมถึงกลุ่มนปช.คนเสื้อแดงที่เดินสายจัดชุมนุมใหญ่แสดงพลังปกป้องรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ คาดการณ์กันไว้ก็คือ

ท่าทีนายสุเทพ น่าจะเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. ซึ่งจะรู้ผลชี้ขาดกันในวันที่ 20 พ.ย.ว่า

พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบพรรครอบ 3 หรือไม่

ทั้งยังอาจมีส่วนโยงใยไปถึงกรณีเครือข่ายแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล ที่จู่ๆ ก็ออกมาจุดพลุเปิดประเด็น?นายกฯ มาตรา 7" และการยื่นถวายฎีกาจัดตั้ง?สภาประชาชน"

รวมถึงศึกซักฟอกรัฐบาลที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติต่อประธานสภาไว้แล้ว เป้าหมายอยู่ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ กับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย

คาดว่าจะเปิดอภิปรายได้ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสภาปิดสมัยประชุมปลายเดือน

หากวัดกันที่น้ำหนักความน่าตื่นเต้นเร้าใจ น่าจะมุ่งไปยังเรื่องแรกคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า ส่วนการอภิปรายซักฟอก ฝ่ายค้านน่าจะแค่พอทำเป็นพิธี

เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนแล้วว่า

มุ่งล้มรัฐบาลด้วยวิถีนอกสภา มากกว่าจะ "เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา"

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ประเมินว่าผลตัดสินศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกมาใน?ทางบวก" สำหรับรัฐบาล

บังเอิญตรงกับข้อมูลวงในล่าสุดที่ว่า

ศาลรัฐธรรมนูญจะยึดแนวทางเดียวกับศาลโลกที่วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหาร

นั่นคือผลคำตัดสินนอกจากเป็นส่วนสำคัญในการช่วยคลี่คลายวิกฤตชาติบ้านเมืองแล้ว

ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมสุมไฟความขัดแย้งหรือเป็นชนวนก่อความแตกแยกรอบใหม่ขึ้นมาในสังคมเสียเอง

ที่มา ข่าวสด