อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลยุติธรรม
"ศาล" คือสถานที่ชำระความ ส่วน ศาลเจ้า คืออาคารขนาดเล็กใช้เป็นที่อัญเชิญวิญญาณที่ผู้คนเคารพนับถือให้สิ่งสถิตเพื่อบวงสรวงขอความคุ้มครอง
การยื่นคำร้องขอใช้สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในหมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กรณีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องด้วยการอ้างว่า "บุคคล คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองผู้ถูกร้องกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" การใช้สิทธิเช่นนั้นได้หรือไม่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ผู้ใดใครอื่นหรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านจะตีความขยายความเป็นอย่างอื่น โดยหลักการแล้วย่อมกระทำมิได้ เว้นแต่จะตะแบงไปข้างๆ คูๆ โดยพลการเท่านั้น
การกราบไหว้นำเครื่องเซ่นไหว้ศาลเจ้าเพื่อบวงสรวงขอความคุ้มครอง ขอพรต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวเช่น ขอให้หายเจ็บหายป่วย ขอให้พ้นทุกข์พ้นภัย ขอให้ร่ำให้รวย ขอให้อายุยืนหมื่นๆ ปี ฯลฯ ซึ่งท่านอาจจะกราบไหว้ร้องขออะไรต่างๆ ต่อศาลเจ้าที่ท่านเคารพนับถือก็ได้ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ของศาลเจ้าหรือข้อกำหนดห้ามขอหรือร้องขอแต่อย่างใด ท่านร้องขอได้อย่างเต็มที่แล้วแต่ท่านจะขอ
แต่การที่มีบุคคลผู้ร้องหรือคณะผู้ร้องโดยเฉพาะผู้ร้องหน้าเดิมๆ หรือขาประจำเดิมๆ และก็ร้องขอซ้ำซากในประเด็นเดิมๆ คือ ร้องขอตามมาตรา 68 โดยมิได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน (ฝ่าฝืนหรือขัดมาตรา 68 วรรคสอง) โดยยื่นข้าม อัยการสูงสุดไป แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนี้สมัยนี้บางท่านก็ยังออกความเห็นให้รับเรื่องไว้พิจารณาอีก ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนั้นอาจจะคิดว่าท่านมีอำนาจล้นฟ้า ใครๆ ก็ไม่อาจมาแตะต้องยับยั้งท่านได้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจเช่นนี้ จึงอาจจะเป็นช่องทางทางหนึ่งที่ทำให้ขาประจำผู้ร้องทั้งหลายได้ใจและลำพองใจ อะไรๆ ก็จะยื่นร้องตะพึดตะพือ และถ้าสื่อมวลชนให้ความสนใจอีก เขาก็จะกระหยิ้มยิ้มย่องอวดตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถ โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมเลย ยิ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่ลุแก่อำนาจให้ท้ายผู้ร้องด้วยการออกความเห็นรับเรื่องไว้ให้พิจารณาอีกด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ การยื่นคำร้องในลักษณะเช่นนี้จึงได้พรั่งพรูออกมาเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างไม่หยุดยั้งไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ผู้ถูกร้อง เช่นประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไป วุ่นวายสับสนกันไปหมด
คำร้องบางคำร้องระบุผู้ถูกร้องซึ่งเป็น ส.ส. และ ส.ว.ไว้จำนวนมากถึง 312 คน ในข้อหาว่าการเสนอและพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงอาจมีความผิดฐานเป็นกบฏ และอาจถูกระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตได้ ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน มีสภาพเหมือนตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
กรณีเช่นนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อการบริหารบ้านเมืองของฝ่ายบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่ามือไม่พายยังเอาเท้าราน้ำอีก
ท่านสุภาพชนผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยขอท่านได้โปรดช่วยกันพิจารณาดูว่าพวกเขาเหล่านั้นควรจะได้ตั้งข้อรังเกียจจากสังคมหรือไม่ ท่านสื่อมวลชนที่มีอุดมการณ์ก็ขออย่าได้ยกย่องยกยอตีข่าวให้บุคคลเหล่านั้นอีกเลย อย่าส่งเสริมให้พวกเขากระทำการในทางที่ผิดๆ พวกเขาทำลายหลักการประชาธิปไตย ทำลายการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการอย่างไม่รู้ตัว การกระทำของพวกเขาดังกล่าวเหล่านั้นต่างหากที่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การร้องอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ระวังจะถูก รุกฆาต ขุนอาจจะจนต้องแพ้เพราะเบี้ยหงายกลางกระดานหมากรุกก็ได้ โจทก์จะกลับกลายเป็นจำเลย ผู้ร้องจะกลายเป็นผู้ถูกร้อง ผู้กล่าวหาอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในโอกาสต่อไป ระวัง ศาล หรือ ศาลเจ้า ท่านเฮี้ยนขึ้นมาจะลงโทษเอาถึงตายหรือเสียผู้เสียคนก็ได้ ขออะไรไม่ขอดันไปขอและมีผลทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ตั้งใจจะทำงานเพื่อประเทศชาติต้องหยุดชะงัก และเสียเวลามาสาละวนกับคำร้องที่ไร้สาระเหล่านี้ โปรดระวังศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น เจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย (มาตรา 208 วรรคสาม) และศาลรัฐธรรมนูญก็เป็น ศาล ผู้กระทำหรือผู้ร้องอาจจะโดนข้อหาใดข้อหาหนึ่ง หรือหลายข้อหาหรือหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 3 อันเป็น ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ว่าด้วย ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และหมวด 2 ว่าด้วย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นต้น
การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งยื่นมามากมายนับเป็นสิบๆ คำร้อง และศาลรัฐธรรมนูญท่านได้มีคำสั่ง "ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" โดยเฉพาะคำสั่งในปี พ.ศ.2556 เช่นคำสั่งที่ 28/2556, 23/2556, 22/2556, 21/2556, 19/2556, 18/2556, 16/2556, 15/2556, 14/2556, 13/2556, 12/2556 เป็นต้น ทุกคำร้องต่างก็ร้องตามมาตรา 68 ทั้งสิ้น
สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ (1) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหาและคณะ (2) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ปชป. และ (3) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กรณีร้องในประเด็นตามมาตรา 68 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ (ที่มาของ ส.ว.) เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 25 และ 27 กันยายน 2556 นั้น
กรณีนี้ขอให้ย้อนกลับไปดู คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ของศาลรัฐธรรมนูญแห่งเดียวกันนี้ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ในคำวินิจฉัยฉบับดังกล่าว กล่าวคือ คำวินิจฉัยคดีส่วนกลาง วินิจฉัยว่า "ให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้อง" นั่นก็คือแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับก็สามารถทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้โดยชัดแจ้งตรงไหนเลย แต่กลับวินิจฉัยยืนยันให้ยกคำร้องของผู้ร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับของผู้ร้องทั้งห้าคำร้องนั้นเสีย
และในคำวินิจฉัยฉบับที่ 18-22/2555 นี้ ยังวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 3 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งอีกด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลแห่งเดียวกันนี้ ข้อกฎหมายคือรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาตราเดียวกันนี้ ข้อเท็จจริงคือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ฉบับเดียวกันนี้ (แก้ไขรายมาตรามิได้แก้ไขทั้งฉบับอีกด้วย) ข้อเท็จจริงมิได้เปลี่ยนแปลง ข้อกฎหมายมิได้เปลี่ยนไป คำวินิจฉัยก็น่าจะเหมือนเดิม
นั่นก็คือคำวินิจฉัยน่าจะออกมาในรูปการกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ แต่อย่างใด
สําหรับกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว. จะอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี ให้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้านั้นกรณีนี้ (ที่มาของ ส.ว.) มีนักกฎหมายอาวุโสท่านหนึ่งเขียนหลักการเอาไว้น่าฟังมากคือ ถ้ากฎหมายไม่ให้อำนาจย่อมไม่มีอำนาจ เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้โปรดดู คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ คำสั่งที่ 4/2554 (ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554
เรื่อง ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ยกมาเฉพาะคำสั่งตอนท้าย)
"....ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 โดยบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่าให้ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ ทั้งมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น "ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย"
ลงนาม นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ลงนาม นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่นเดียวกับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามคำสั่งที่ 4/2554 ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันและเหมือนกัน การอ้างข้อกฎหมายของผู้ร้องก็อ้าง มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) เช่นเดียวกัน คำสั่งก็น่าจะต้องเป็น ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย เช่นเดียวกัน
สำหรับประเด็นสุดท้ายว่า ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นจะต้องส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้าหรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ดั่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 แล้วนั้น ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นหรือคำร้องก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) แต่อย่างใด ท่านประธานท่านไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ ท่านมีอำนาจและมีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยในทางที่ถูกที่ควรตามตัวบทกฎหมาย
การที่ฝ่ายผู้ร้องบางกลุ่มบางคนกล่าวอ้างข่มขู่ต่างๆ นานา ว่าจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่นั่น จะยื่นฟ้องร้องไปที่นี่วุ่นวายไปหมด ก็ปล่อยให้เขาดิ้นไปเถอะครับพวกเขากำลังจะเข้าตาจน ก็ปล่อยให้เขาได้ผ่อนคลายระบายออกบ้าง สังคมอย่าเพิ่งไปเอือมระอาพวกเขานักเลย แล้วสักวันหนึ่งเขาอาจจะรู้ตัวว่าเขาได้ทำอะไรไป
(ที่มา:มติชนรายวัน 8 ต.ค.2556)