ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวน 2 สำนวนคดีสลายม็อบเสื้อแดง รวม 5 ศพ คดียิง 3 ศพในสวนลุมฯ

ข่าวสด 9 ตุลาคม 2556

 ศาลอาญายกฟ้อง"หรั่ง เทวรัตน์"คนสนิทเสธ.แดง คดีอาวุธที่ถูกทหารล่อจับเมื่อปี 2553 ระบุพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์มีข้อพิรุธสงสัย ขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวน 2 สำนวนคดีสลายม็อบเสื้อแดง รวม 5 ศพ คดียิง 3 ศพในสวนลุมฯ ผอ.สำนักตรวจที่เกิดเหตุ นิติวิทยาศาสตร์ ระบุมีแนวยิงด้วยกระสุนเอ็ม 16 จากประตูฝั่งถ.วิทยุไปประตูฝั่งลาน ร.6 ตลอดรั้วริมถ.พระราม 4 เป็นแนวระนาบไม่มีจากมุมสูง บาดแผลศพเป็นไปได้ทั้งกระสุนความเร็วสูง-ต่ำ ส่วนคดี 2 ศพใต้ทางด่วนพระราม 4 ช่างภาพทีวีเบิกความเห็นเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงระดมยิงผู้ชุมนุม

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ ผู้ตายที่ 1 นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 และนายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ ผู้ตายที่ 3 ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสวนลุมพินี ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. วันที่ 14 พ.ค.2553

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความสรุปว่า วันที่ 3 ต.ค. 2555 เข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุบริเวณสวนลุมพินี ตั้งแต่ประตู 4 ใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 จนถึงประตู 2 ด้านถ.วิทยุ บริเวณประตู 2 พบรอยกระสุนปืนที่ตู้อะลูมิเนียม ใกล้สระน้ำ ห่างจากจุดพบศพ ผู้ตายที่ 1 และ 2 ประมาณ 65 เมตร มีขนาด 0.5-0.7 ซ.ม. น่าเชื่อว่าเป็นรอยจากกระสุนขนาดไม่เกิน 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 โดยมีแนววิถีกระสุนมาจากทางประตู 2 ฝั่งถ.วิทยุ

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์เบิกความต่อว่า ส่วนบริเวณประตู 4 พบรอยกระสุนตามแนวรั้วฝั่ง ถ.พระราม 4 และที่เครื่องออกกำลังกาย มีขนาดใกล้เคียงกับที่พบที่ตู้อะลูมิเนียม โดยมีวิถีกระสุนมาจากถ.พระราม 4 ทั้งนี้รอยกระสุนที่พบทั้งหมดอยู่ในแนวระดับ และไม่มีทิศทางการยิงจากมุมสูง

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน เบิกความสรุปว่า ปืนเอ็ม 16 ที่ใช้กันทั่วไป คือ ชนิด เอ 1 และ เอ 2 โดยชนิด เอ 1 จะใช้กระสุนชนิดเอ็ม 193 ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นหัวทองแเดงหุ้มตะกั่ว ปืนเอชเค 33 ก็ใช้กระสุนชนิดนี้ จัดเป็นกระสุนปืนความเร็วสูง มีระยะหวังผลไม่เกิน 400 เมตร หากกระทบกับวัตถุหรือร่างกายระยะ 50-150 เมตร จะเกิดการแตกตัวเป็นเศษหัวกระสุนชิ้นเล็กๆ ถ้ายิงในระยะใกล้มากจะไม่แตกตัวและอาจทะลุได้ แต่ถ้าเข้าไปยังร่างกายแล้วกระทบกับของแข็ง เช่น กระดูกสามารถแตกตัวได้เช่นกัน

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์เบิกความต่อว่า ส่วนปืนเอ็ม 16 ชนิดเอ 2 จะใช้กระสุนปืนชนิดเอ็ม 855 ขนาด.223 (5.56 ม.ม.) มีแกนสแตนเลสที่ปลายหัวกระสุน และมีความเร็วมากกว่าชนิดเอ็ม 193 แต่มีระยะหวังผลและการแตกตัวเช่นเดียวกับกระสุนปืนชนิดเอ็ม 193

พ.ต.ท.ปกรณ์ วศินรัตน์ นายแพทย์ (สบ3) สถาบันนิติเวชวิทยา ร.พ.ตำรวจ เบิกความสรุปว่า วันที่ 14 พ.ค.2553 บช.น.ส่งศพนายประจวบ ศิลาพันธ์ มาให้สถาบันนิติเวชวิทยา พยานผ่าชันสูตรพลิกศพวันที่ 15 พ.ค.2553 จากการตรวจบาดแผลภายนอกพบ 2 บาดแผล บาดแผลที่ 1 มีลักษณะฉีกขาดรูปกลมรี ขนาด 0.3 คูณ 0.2 ซ.ม. บริเวณหน้าอกขวา ส่วนบาดแผลที่ 2 มีลักษณะเป็นรูปรี ขนาด 0.3 คูณ 1.5 ซ.ม. บริเวณหลังด้านขวา สันนิษฐานว่า เป็นบาดแผลเกิดจากกระสุนปืน

พ.ต.ท.ปกรณ์เบิกความต่อว่า บาดแผลที่ 1 เป็นบาดแผลทางเข้า โดยกระสุนทะลุกลางอกระดับซี่โครงที่ 7 มีทิศทางจากหน้าไปทางด้านขวา ทะลุเยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจด้านขวา ทะลุกะบังลมและเนื้อตับฉีกขาด ผ่านกระดูกไขสันหลังมีทิศทางค่อนไปด้านขวา ทะลุปอดออกบาดแผลที่ 2 บาดแผลมีทิศทางจากบนลงล่าง หน้าไปหลัง และซ้ายไปขวาเล็กน้อย ตรวจพบเศษโลหะตะกั่วขนาดเล็กที่กล้ามเนื้อหลังด้านขวา จึงสรุปความเห็นว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจและตับ เสียโลหิตปริมาณมากในร่างกาย

อัยการถามพยานว่า จากบาดแผลคาดว่าเกิดจากกระสุนปืนความเร็วสูงใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า อาจเกิดจากกระสุนปืนความเร็วต่ำหรือกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงจากระยะไกลก็ได้ เนื่องจากบาดแผลฉีกขาดไม่รุนแรง ส่วนที่พบเศษโลหะ หากถูกกระสุนความเร็วต่ำกระทบกับของแข็งภายในร่างกาย เช่น กระดูก กระสุนจะแตกตัวได้เช่นเดียวกับกระสุนปืนความเร็วสูง

อัยการถามต่อว่า ที่ระบุว่าบาดแผลมีทิศทางจากบนลงล่างนั้น ผู้ตายจะถูกยิงขณะอยู่ในลักษณะใด พยานเบิกความว่า ต้องอยู่ในลักษณะยืนตรงเท่านั้น โดยวิถีกระสุนจะมาจากที่สูงกว่า อัยการถามอีกว่า หากผู้ตายอยู่ในลักษณะหมอบ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะถูกยิงจากแนวเดียวกัน พยานเบิกความว่า เป็นไปได้ ถ้ากระสุนมาจากแนวระนาบ

ภายหลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่ 9 ต.ค. เวลา 09.00 น.

วันเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ขอให้ไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล อายุ 25 ปี คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และนายประจวบ ประจวบสุข ผู้ชุมนุมกลุ่มนปช. ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วน ถ.พระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553

พนักงานอัยการเบิกตัวพยานช่างภาพสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งขึ้นเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์บริเวณถ.พระราม 4 ตั้งแต่เชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยม ไปจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4 พร้อมกับผู้สื่อข่าว 2 คน และผู้ช่วยช่างภาพ 1 คน ตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. ระหว่างวันที่ 11-19 พ.ค. ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารตั้งกำลังอยู่บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี เชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยม ส่วนผู้ชุมนุมอยู่บริเวณบ่อนไก่ ระหว่างถ่ายภาพเกิดเหตุการณ์ปะทะกันต่อเนื่อง โดยทหารตั้งแนวป้องกันเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมเป็น 2 แนว แนวหน้ามีอาวุธประจำกาย คือ โล่และกระบอง ขณะที่แนวหลังมีอาวุธประจำกายเป็นปืนเอ็ม 16 ส่วน ผู้ชุมนุมใช้พลุ ตะไล และเผายางรถยนต์เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ โดยไม่เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน

พยานเบิกความต่อว่า ระหว่างวันที่ 11-14 พ.ค. นั้น ผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนตัวมายังจุดที่เจ้าหน้าที่ประจำการ ทำให้เกิดการปะทะกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 14 พ.ค. มีการปะทะกันอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ใช้โล่ กระบอง และแก๊สน้ำตาสกัดกั้นผู้ชุมนุม และระหว่างผลักดันกันอยู่นั้นเห็นเจ้าหน้าที่ยิงปืนเอ็ม 16 ใส่ผู้ชุมนุม และยิงขึ้นฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ใจว่าเป็นกระสุนชนิดใด แต่เข้าใจว่าคงเป็นกระสุนยาง จากนั้นเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น พยานเข้าไปถ่ายภาพที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ เห็นเจ้าหน้าที่ประมาณ 40-50 นาย ระดมยิงปืนเอ็ม 16 ใส่ผู้ชุมนุมต่อเนื่อง ทั้งยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม และยิงขึ้นฟ้า หลังจากนั้นเห็นรถพยาบาลวิ่งเข้าออกบริเวณจุดที่ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่วันละ 7-8 รอบ เพื่อรับตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บส่งยังร.พ. กลุ่มผู้ชุมนุมยิงพลุ หนังสติ๊ก ตอบโต้เจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังมีลูกระเบิดไม่ทราบว่ายิงจากทิศทางใดตกบริเวณถ.พระราม 4 ทำให้พยานได้รับบาดเจ็บ ทราบจากเจ้าหน้าที่บริเวณดังกล่าวว่าเป็นลูกระเบิดเอ็ม 79

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. ผู้สื่อข่าวที่มาด้วยกันบอกว่าเจ้าหน้าที่สั่งการให้นำกระสุนจริงมาใช้ และให้ผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย พยานจึงออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ระหว่างบันทึกภาพเหตุการณ์ ไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต รวมทั้งการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณและนายประจวบ ซึ่งมาทราบภายหลังหลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน แต่ระหว่างซูมภาพเข้าใต้ทางด่วนพระราม 4 ห่างประมาณ 200 เมตร ใกล้ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เห็นมีผู้บาดเจ็บและกองเลือด และมีรถพยาบาลเข้ามารับตัวผู้บาดเจ็บไป จึงเข้าไปถ่ายภาพและสอบถามผู้ชุมนุม ทราบว่าผู้ถูกยิงเป็นชายสูงอายุถูกยิงด้านหลังศีรษะ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่าถูกยิงจากพลซุ่มยิงที่อยู่บนตึกฝั่งเดียวที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยานในช่วงบ่ายไม่มาศาลตามนัด แต่เนื่องจากพยานปากดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานสำคัญ จึงเห็นควรให้เลื่อนไต่สวนออกไป และนัดไต่สวนพยานปากต่อไปวันที่ 9 ต.ค. เวลา 09.00 น.

วันเดียวกันที่ศาลอาญา ศาลพิพากษายกฟ้อง นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 29 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ อดีตคนสนิทพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง จำเลยความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำหน่ายวัตถุระเบิดและอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ คดีนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2553 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกมีและขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด หรือลูกระเบิด ที่ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีที่เกี่ยวเนื่องตั้งแต่ 6 เม.ย.2553 เข้าเป็นคดีพิเศษ หนึ่งในนั้นมีคดีนี้ด้วย

การพิจารณาคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพยานเบิกความว่า สืบทราบว่าจำเลยค้าอาวุธสงครามซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงดำเนินการล่อซื้ออาวุธสงครามราคา 60,000 บาท และนัดส่งมอบสินค้ากันที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อถึงเวลานัดจำเลยขนอาวุธใส่รถยนต์มาส่งให้ พยานจึงนำอาวุธสงครามมาส่งมอบผู้บังคับบัญชาพร้อมรายงานว่าล่อซื้ออาวุธสงครามมาแต่ไม่ได้จับกุมทันที เมื่อพิจารณาคำเบิกความแล้วเห็นว่าไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ และในการล่อซื้อไม่มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วมวางแผนด้วย อีกทั้งจำเลยไม่ได้สนิทกับทหารที่ล่อซื้อ จึงไม่น่าเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้เสนอขายอาวุธเอง พยานหลักฐานโจทก์ในการล่อซื้อมีพิรุธพอสมควร และโจทก์ไม่ได้นำพยานบุคคลที่เห็นเหตุ การณ์มาเบิกความถึงพฤติกรรมของจำเลยว่ากระทำผิดตามฟ้องอย่างไรบ้าง จึงเป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ และให้ริบอาวุธสงครามของกลาง