"นพ.เหวง โตจิราการ"ความเห็นเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์สามแง่สามมุม



ทีมข่าว นปช.
10 ตุลาคม 2556


วันนี้(9ตุลาคม2556)มีการประชุมกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ มีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงสามคนมาให้ความเห็นแลกเปลี่ยนกัน คือ คุณศศิน เฉลิมลาภ อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด และ คุณวีรกร คำประกอบ ทั้งสามท่านให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์มากครับ
ผมขอนำข้อสรุปสั้นๆมาเรียนเพื่อนๆ(ในความเข้าใจของผมนะครับ ดังนั้นอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรืออาจจะคลาดเคลื่อนจากเจ้าตัวก็ได้ แต่ผมก็จะพยายามให้ใกล้เคียงที่สุดครับ)
อ.ปราโมทย์ไม้กลัด ท่านมีความเห็นว่า รัฐบาลดำเนินการโดยไม่รอบคอบรัดกุม ไม่ครบถ้วน และผิดกฏหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ท่านเรียกร้องให้ทำให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือให้ศึกษารายละเอียด ของทุกกลุ่มโครงการ(โมดูลทั้งเก้าโมดูล) และท่านเน้นว่า โมดูลที่A1เป็นโมดูลที่มีปัญหามาก เพราะไม่ได้ศึกษาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์รอบคอบรัดกุม ท่านว่าเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ในการป้องกันน้ำท่วมได้ และก็แก้ปัญหาน้ำแล้งก็ไม่ได้ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเงินจำนวนหนึ่งหมื่นสามพันล้าน ท่านเรียกร้องให้ รัฐบาลต้องใช้เวลาศึกษาโครงการทั้งเก้าโมดูลทั้งEIA EHIAให้เรียบร้อย ท่านบอกว่า ไม่ผ่านมาต่อเนื่องเกือบยี่สิบปีแล้ว
คุณศศิน จุดหนัก อธิบายเรื่องความสำคัญ ของป่าบริเวณที่จะต้องสูญเสียไปเมื่อนำไปทำเขื่อนแม่วงก์เป็นผืนป่าที่สำคัญที่จะ รักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าตะวันตก ซึ่งรวมไปถึง ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งหมดด้วย และให้รายละเอียดว่า ผืนป่าแห่งนี้มีเสื่อโคร่งอยู่อย่างน้อย200ตัว เป็นแหล่งที่สองของโลก รองจากอินเดียวเท่านั้น และในโลกวันนี้ใครจะศึกษาเรื่องเสือโคร่ง ก็ต้องมาศึกษา บริเวณป่าที่จะทำเขื่อนแม่วงก์นี้ ซึ่งจำเป็นต้องอนุรักษ์ผืนป่าที่จะทำเขื่อนแม่วงก์ไว้ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกโซ่ของอาหารจะสูญหายไป เสือก็อาจจะสูญพันธ์ไป และการทำเขื่อนจะเปิดช่องให้ พวกทุจริต ขยายพื้นที่ในการทำลายป่าให้กว้างออกไป และการทำเขื่อนไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้
คุณวีรกรคำประกอบ ได้อธิบายอย่างละเอียดว่า ชาวบ้านลาดยาวยังชีพได้ด้วยการปลูกข้าว และปัญหาเรื่องน้ำท่วมลาดยาวเป็นปัญหาที่ร้ายแรงของชาวบ้าน ในปีนี้ ก็มีน้ำท่วมลาดยาวแล้วเก้าครั้ืง และน้ำท่วมแต่ละครั้งก็มาอย่างฉับพลันและใหญ่โต คุณวีรกรยกตัวอย่างว่า ค่ำคืนหนึ่งที่เขาขับรถกลับบ้าน น้ำทะลักมาท่วมถึงครึ่งคันรถ
ดังนั้นชาวบ้านเขาต้องการมาตรการในการป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบัน เขาทำกันเองตามยถากรรม ดังนั้นเขาก็จะเที่ยวสร้างเขื่อนปิดกั้นไม่ให้น้ำเข้าท่วมนาของพวกเขา ทำให้ขัดแย้งกันและไล่น้ำไปท่วมบริเวณอื่น
คุณวีรกรบอกว่า เขาโตที่นั่น ป่าผืนที่จะทำเขื่อนนั้น เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นป่าที่คนสร้างขึ้นในช่วง20ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็เป็นอุทยานแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยคน เมื่อนับจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว ก็รวมเป็นหลายร้อย จึงเป็นไปไม่ได้ที่เสื่อจะมาเพ่นพ่านในระยะ4กม.รายรอบบริเวณที่เจ้าหน้าที่อยู่ และวีรกรบอกว่า ผืนป่าใหญ่ตะวันตกทั้งหมดพื้นที่เกือบ 12 ล้านไร่ แต่ที่จะกันไปทำเขื่อนประมาณ9,000ไร่เท่านั้น คิดเป็นไม่ถึง 0.07%จึงไม่ทำให้ความเป็นป่าผืนตะวันตกสูญเสียไป และ ยังเหลือพื่นที่อีกกว่า11ล้านไร่ที่เสือ200ตัวสามารถดำรงชีพและขยายพันธุ์ได้อย่างแน่นอน และป่าผืนที่ทำเขื่อนก็ทำใหม่ได้โดยใช้พื้นที่โดยรอบปลูกป่าขึ้นมาสามเท่า วีรกรเชิญศศินให้ไปร่วมปลูกป่าด้วย
ก็กระจ่างชัดครับ ทุกท่านก็เห็นเจตนาดีของคุณศศินที่จะอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า แต่การทำเขื่อนไม่ได้ทำลายสัตว์ป่าให้สูญสิ้นไปเช่นเสือ200ตัวดังกล่าว และสามารถปลูกป่าโดยมนุษย์จำนวนสามเท่าได้ เพราะป่าที่จะถูกนำไปสร้างเขื่อนก็เป็นป่าที่มนุษย์สร้างเองอยู่แล้ว
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกัน ให้รัฐบาลไปดำเนินการศึกษาเรื่อง EIA EHIA ให้เรียบร้อยและ อธิบายเรื่องต่างๆให้ประชาชนเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหตุให้ไปปลุกระดมโค่นล้มรัฐบาลได้
ส่วนตัวผมเองให้ความเห็นว่า เรื่องนี้หาจุดบรรจบที่บรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้ คือ ทั้งรักษาอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฝนแล้งได้
เพราะในโลกนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือคน
ประเทศไทยประสบเคราะห์กรรมรุนแรงในปี54 ดังนั้นต้องจัดการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ประเทศไทยต้องรับมือกับน้ำ จำนวน 4หมื่นล้านคิว ให้ได้
รับมือกับน้ำจำนวน 5000 คิวต่อวินาทีที่จะไหลลงภาคกลางให้ได้
เจ้าพระยารับได้เพียง 3500 คิวต่อวินาที จึงต้องมีฟลั๊คเวย์สองข้างเจ้าพระยา อย่างน้อย 1200 คิวต่อวินาที ยังเหลือน้ำอีก 3800 คิวต่อวินาทีที่จะไหลลงมาท่วมภาคกลาง
ดังนั้นจะปล่อยให้น้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรังซ้ำเติมเจ้าพระยาอีก 800 คิวต่อวินาทีไม่ได้ เขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้รับมือกับน้ำจำนวน 800คิวต่อวินาที ไม่ให้มาสร้างความพินาศกับลุ่มเจ้าพระยา(ตามข้อมูลของรองปลอดประสพ)
แต่คุณวีรกรบอกว่า เขื่อนแม่วงก์ทำหน้าที่เพียงป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ลาดยาวเท่านั้น และแก้ปัญหาน้ำแล้งลาดยาวเช่นกัน
ที่จริงมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย ถ้าจะเขียนให้หมดคงต้องยาวกว่านี้อีกสามสี่เท่า ผมเชื่อว่าเพื่อนๆคงเบื่ออ่านแน่นอน ผมจึงเล่าเพียงคร่าวๆนะครับ และจะถอดเทปรวบรวมเป็นเล่มและส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้นำไปพิจารณา และจะนำเสนอทางรัฐบาล ให้เปิดพื้นที่สื่อสารให้ทั้งสามท่านได้พูดให้ประชาชนทั้งประเทศฟัง เช่นเดียวกับที่ได้พูดในที่ประชุมกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐครับ
นพ.เหวง โตจิราการ 9ตุลาคม 18.02น.