Facebook นพ.เหวง โตจิราการ
เรื่องการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่....) พ.ศ........เพื่อยกเลิกม.309
ผมเขียนเหตุผลในการ ยื่นร่างรธน.แก้ไขเพิ่มยกเลิก ม.309 ให้กรรมการยุทธศาสตร์ พิจารณา ในตอนเช้าเวลา 9.00 น. ผมรอจนประมาณ 13.00 น.ได้พบ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า พรรคมีมติให้ชะลอไปก่อน ผมอธิบายว่า “ผมยื่นในฐานะเอกสิทธิ์ของสส. ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย”ท่านบอกว่า “ทำได้”แต่ให้ ปรึกษา อีกท่านหนึ่ง ผมก็ไปปรึกษา ท่านก็เข้าใจ ว่าสามารถทำได้
เวลาประมาณ14.00น.ผมจึงไปแถลงข่าวกับนักข่าว ว่าวันอังคารที่15ตุลาคม2556 เวลา 9.30น.ผมจะไปยื่นให้ประธานสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งผมได้ติดต่อเลขาของท่านแล้ว จากนั้นผมก็เข้าร่วมประชุมพรรค
ประมาณ 15.00 น.มีหนังสือจากผู้ใหญ่ของพรรคเขียนถึงผม มาแนะนำว่า “ผมควรชะลอไปก่อน” ผมจึงตัดสินใจ “ชะลอ หรือเลื่อนไปก่อน” ครับ
ผมจึงต้องไปแถลงนักข่าวเพื่อบอกนักข่าวว่า “ขอชะลอไปก่อน” โดยให้เหตุผลว่า
ในช่วง14.00น.ผมได้รับไฟเขียวให้ยื่นส่วนตัวได้ แต่หลังจากนั้นพรรคได้ไตร่ตรองกันอีกครั้ง แล้วมี “คำแนะนำให้ผม ชะลอ หรือเลื่อนไปก่อน แต่ยื่นแน่ ภายหลัง เรื่องใหญ่ๆผ่าน เช่น ม.190 ม. 68+237 งบ 2ล้านล้าน พรบ.นิรโทษเป็นตัน “ “เมื่อพรรคให้คำแนะนำมาอีกที ผมจึงต้องน้อมรับ และผมขอชะลอไปก่อน เลื่อนไปก่อนจนกว่า พรบ.ต่างๆดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปด้วยดี และผมก็ได้ประสานไปยังเลขาของประธานสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ให้ยกเลิกนัดหมาย วันที่15 ตุลาคม2556เวลา 9.30น.ครับ
จึงเรียนมาเพื่อเข้าใจข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าผมชะลอการยื่นยกเลิกม.309ไปก่อน
ท้ายข้อเขียนนี้ ผมนำเอา “เหตุผลที่ต้องยกเลิกม.309 ที่ผมยื่นให้กรรมการยุทธศาสตร์มาให้พี่น้องอ่านกันครับ
มีข้อคิดเห็นอะไรจะแนะนำวิพากษ์วิจารณ์ ผมยินดีน้อมรับครับ
นพ.เหวงโตจิราการ 14 ตุลาคม 17.30น.
เหตุผลที่ต้องยื่น “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับที่....)พศ......เพื่อ ยกเลิก มาตรา309 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ในเร็ววัน
นพ.เหวง โตจิราการ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ 1. ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2.ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้.......................ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฎ”
ภายหลังจากที่คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)ได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชนชาวไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ได้ ใช้ประกาศฉบับที่ 3 ประกาศล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ล้มล้างวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร์ คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ
“ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3
ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้เรียบร้อยแล้วนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในการปกครองประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงให้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สิ้นสุดลง
2. วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ”
การกระทำของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นการกระทำที่เป็นกบฏตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา113 ดังที่ได้แสดงไว้แล้ว จากนั้นพวกเขา ก็ได้ใช้อำนาจที่พวกเขายึดมาทำการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 เพื่อคุ้มครองการกระทำทั้งปวงของพวกเขาดังที่คัดมาจากราชกิจจานุเบกษาต่อไปนี้
“
หน้า ๑๓
เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๐๒ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙และ
หน้า ๑๔
เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๐๒ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
มาตรา ๓๖ บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน
พุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดและไม่ว่าจะประกาศหรือ
สั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปและ
ให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ
หรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติ
ที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๗ บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจ
การปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการ
ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของ
บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูป
การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่ง
จากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมา
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ
รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ
ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
ภายหลังจากนั้นพวกเขายังตราความคุ้มครองการกระทำที่กล่าวได้ว่า “เป็นการกบฏ”เอาไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550ในมาตรา309ของรัฐธรรมนูญ2550 ดังนี้
มาตรา ๓๐๙ บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา309จึงเท่ากับเป็นการรับรองว่า “การยึดอำนาจรัฐประหารซึ่งเป็นการกบฏตามมาตรา113ประมวลกฎหมายอาญา เป็นการกระทำที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้” เท่ากับเป็นการรับรองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็น “หลักการสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้ดำรงไว้อีกต่อไป”
ประกอบกับ ทางพรรคเพื่อไทยของเราได้ ให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งไว้ว่า “คืนความสุขให้คนไทย คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน”
แม้ว่า พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการไปในหลายเรื่องที่เป็นไปตามสัญญาประชาคมแล้วก็ตาม
แต่การยกเลิกมาตรา309ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว
“เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการ คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน”
ประกอบกับ ภายหลังจากที่ทาง สส.เพื่อไทยได้ร่วมกันผลักดันให้ “แก้ไขมาตรา291เพื่อให้มีการเลือกตั้งสสร.จากประชาชนมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รับฟังความเห็นระหว่างร่างและทำประชามติ ภายหลังร่างเสร็จแล้ว”ก็ได้รับการยับยั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในคำวินิจฉัยรวมได้ ชี้ทางไว้ว่า ถ้าจะยกร่าใหม่ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ทำการแก้ไขเป็นรายมาตราก็เห็นจะเป็นการเหมาะสม
การยกเลิกมาตรา309 จึงเป็นการแก้เป็นรายมาตราตามคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกมาตรา309 จึงมีประโยชน์อเนกอนันต์ต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน
1.เป็นการบอกให้ผู้ที่เดินแนวทางรัฐประหาร เห็นเป็นตัวอย่างว่า แม้ว่าพวกรัฐประหารนิยมสามารถยึดอำนาจได้จากปลายปากกระบอกปืน แต่หลังจากที่ประชาชนต่อสู้กับพวกเขาจนได้ประชาธิปไตยคืนมาแล้ว การกระทำของพวกเขาก็จะต้องถูกลบล้างไป
2.อำนาจทางการเมืองที่เกิดจากมาตรา309ที่กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางและทำลายล้างการก้าวเดินไปข้างหน้าของระบอบประชาธิปไตยจะได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยเสียที อาทิเช่นองค์กรอิสระต่างๆที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือ ด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้องการรัฐประหารก็ต้องได้รับการแก้ไขรวมทั้งจะเป็นการยกเลิก “ตุลาการภิวัฒน์”ให้หมดไปจากประเทศไทย
3.เป็นมาตรการอันสำคัญหนึ่งในการป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีกต่อไปไม่ว่าจะด้วยกำลังอาวุธหรือ ทางตุลาการภิวัฒน์ก็ตาม
ในการดำเนินการในครั้งนี้ ผมดำเนินการ ในฐานะที่เป็น สส.คนหนึ่งริเริ่มดำเนินการ และได้รับความกรุณาจากเพื่อนสส.จำนวน116ท่าน (ครบตามเงื่อนไขของมาตรา291) เหตุผลสำคัญที่ผมใช้การดำเนินการในฐานะที่เป็นเอกสิทธิ์ของสส. เพราะผมได้ขอความคิดเห็นจากเพื่อนสส.ในพรรคและก็ได้รับคำแนะนำและได้รับการสนับสนุนและแนะนำให้ดำเนินการในนามส่วนตัว
ผมจึงเรียนมา เพื่อยืนยันที่จะเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่....)พศ......ในเร็ววันนี้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรรมการยุทธศาสตร์ คงจะให้การสนับสนุนผมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
14ตุลาคม 2556 นพ.เหวง โตจิราการ