ออกกม.นิรโทษกรรมให้กับพี่น้องคนไทยเราด้วยกัน เถอะครับ บทความโดย นคร พจนวรพงษ์ นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลยุติธรรม

มติชน  3 กันยายน 2556 



กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ตราออกมาใช้เนื่องในโอกาสสำคัญๆ ซึ่งมีหลักการและเหตุผลพิเศษที่น่าสนใจอันอาจจะนำมาเป็นแนวทางหรือแบบอย่าง ในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่อๆ ไป ที่เห็นควรนำเสนอมี 3 ฉบับ ได้แก่

1.ฉบับเนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 2,500 ปี และให้อภัยทานระงับเวรด้วยการไม่จองเวร คือ 

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2500 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 3 สมัยที่ 7 (จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 8 สมัย) ได้ตราออกมาใช้ "....เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ ทางราชการจะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ การให้อภัยทานถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าความผิดฐานกบฏจลาจลนั้น เป็นความผิดที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลหรือเกี่ยวกับการปกครองของรัฐบาล จึงน่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวรตามพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อให้ผู้รับนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัย และปฏิบัติตนอยู่ในหลักพระธรรม ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ตนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม"

การนิรโทษกรรมครั้งนี้นอกจากจะให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังนิรโทษครอบคลุมไปถึงกล่าวคือ ถ้าผู้ใดประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์ เพื่อดำเนินการขอพระราชทานคืนให้ต่อไป และถ้าเป็นบุคคลที่เคยได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมาแล้ว ก็ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามเดิม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 11 วันที่ 29 มกราคม 2500) 

อานิสงส์หรือคุณประโยชน์ของการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวรต่อกัน และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติแล้ว ยังเป็นการให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บุคคลเหล่านั้นถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวในความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการจลาจล หรือความผิดตามกฎหมายอื่นทำนองเดียวกันและถูกขังหรือถูกควบคุมตัวมานานหลายปี ในเหตุการณ์ต่างๆ อันได้แก่

(1) กบฏเสนาธิการ (พ.ศ.2491)

(2) กบฏวังหลวง (พ.ศ.2492)

(3) กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ.2494)

(4) กบฏสันติภาพ (พ.ศ.2495) เป็นต้น

สำหรับกบฏสันติภาพ (เรียกร้องสันติภาพก็เป็นกบฏ) ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ มีการจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นด้วยการพูดการเขียนต่างๆ ไว้ประมาณ 100 คน แต่ถูกส่งฟ้องศาล 42 คนในข้อหากบฏ ศาลตัดสินจำคุก 38 คน เป็นเวลาคนละ 13 ปี 6 เดือน เมื่อถูกจำคุกอยู่นาน 4 ปีเศษก็ได้รับการนิรโทษกรรม นักเขียนนักพูดหรือ "สันติชน" ที่ถูกปล่อยตัวในครั้งนั้นผู้เขียนขออนุญาตยกมากล่าวถึง 2 ท่านคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา "ศรีบูรพา" และ นายเปลื้อง วรรณศรี บ.ก.นิตยสาร "ปิตุภูมิ" ผู้ยึดมั่นเรียกร้องสันติภาพมากกว่าการทำศึกสงคราม (ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือรัฐประหาร ของโรม บุนนาค) 

การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมืองหรือเหตุดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นเรื่องดี เพื่อสร้างความสามัคคีให้คนในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป


2.ฉบับเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา นับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และเพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ คือ

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 พ.ศ.2520 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 15 ได้ตราออกมาใช้ "....เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 ซึ่งนับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิด.....เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป" (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 121 ฉบับพิเศษ 3 ธันวาคม 2520)

เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้ก่อการคือ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ประหารชีวิตและถูกถอดยศ (มีการประหารชีวิตทันที่ในวันที่ออกคำสั่ง) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 ในคำสั่งมีความตอนหนึ่งดังนี้

"...อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต นายฉลาด หิรัญศิริ และให้จำคุกตลอดชีวิต พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ และ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ให้กระทรวงมหาดไทยปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยเร็ว...." และภายหลังยังมีบุคคลอื่นอีก 8 คน ถูกคำสั่งให้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และอีก 11 คน ให้ได้รับโทษจำคุกลดหลั่นลงไป แต่ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2520 ทุกคนก็ได้รับการนิรโทษกรรมถูกปล่อยตัว อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติตามหลักการและเหตุผลของการนิรโทษกรรมดังกล่าวข้างต้น 

ผู้เขียนขออนุโมทนายินดีด้วยและขออนุญาตนำถ้อยคำที่ว่า "ฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้ ก็ทหารไทยด้วยกันอย่าฆ่าฟันกันเลย" มาเสนอไว้ในโอกาสนี้ด้วย


3.ฉบับเนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก และเพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ คือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 พ.ศ.2531 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2531 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 17 ได้ตราออกมาใช้ "....เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในมหามงคลสมัยที่ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของชนในชาติ ... เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป" (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 156 ฉบับพิเศษ 27 กันยายน 2531)

การก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองในครั้งนี้ เกิดขึ้นในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โรม บุนนาค เขียนเล่าไว้ในหนังสือ คู่มือรัฐประหาร สรุปความได้ว่า มีการขนเอาอาวุธขนาดหนักมายิงกันกลางเมืองอย่างเมามัน เพื่อแย่งชิงอำนาจกัน โดยไม่คำนึงว่าจะไปถูกคนที่ไม่รู้ไม่เห็นและไม่เกี่ยวข้องด้วย หลังจากเหตุการณ์ยุติจากการสอบสวน มีการจับกุมนายทหารยศพลเอก 5 คน และนายทหารอื่นๆ อีก จับผู้นำแรงงานซึ่งมาจากสหภาพแรงงานและผู้เกี่ยวข้อง 35 คน และปรากฏว่าการเข้ายึดอำนาจครั้งนี้มีเจ้ามือแชร์ที่กำลังโด่งดังในตอนนั้นหอบเงินมาให้เป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย จึงมีผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมกระทำความผิดจำนวนมาก 

กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมหรือยกโทษให้หรือล้างความผิดให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ และให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปตามหลักการและเหตุผลข้างต้นดังกล่าวแล้ว 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลจากการตรากฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ทุกครั้งทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่ามีฉบับใดก่อให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้นมาอีก หรือก่อความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกแต่อย่างใดเลย แต่กลับเป็นผลดีมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ยิ่งในยามนี้หรือปัจจุบันนี้ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะของการแตกแยกร้าวลึกอย่างที่ไม่เคยมีมาแต่กาลก่อน การนิรโทษกรรม การปรองดอง หรือการให้อภัยซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นหลักการสำคัญที่ฝังอยู่ในจิตใจที่ควรหยิบยกขึ้นมาใช้หรือนำมาปฏิบัติของผู้นำหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ท่าน ส.ส. ท่าน ส.ว. ท่านผู้นำฝ่ายค้าน ท่านหัวหน้ารัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ท่านผู้มีบทบาทในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ท่านข้าราชการ ท่านทหาร ท่านตำรวจ ท่านนักธุรกิจ ท่านพ่อค้า ท่านผู้นำมวลชน ฯลฯ และที่สำคัญยิ่งก็คือท่านประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกคน ต้องร่วมมือร่วมใจกันตั้งใจด้วยจิตบริสุทธิ์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป

ในโอกาสนี้ขออนุญาตอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532

"ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทยที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระและเจริญมั่นคงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"