7 ปี 19 กันยา ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน หลังรัฐประหาร


ประชาชาติธุรกิจ 19 กันยายน 2556



โดย เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว


"รัฐประหาร 2549" เสมือนผักตบชวา หากมันขึ้นที่ใดแล้ว แม้จะกำจัดอย่างไรก็ยากที่มันจะหมดลง

จากวันนั้นถึงวันนี้ 7 ปี สังคมไทยกลับเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป นอกจากผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น แต่ที่มากกว่านั้น คือ ปัญหาความแตกแยกในสังคมและการเมืองของไทย ที่เด่นชัดยิ่งกว่ายุคไหนๆ

บานปลายเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม สะสมเป็นความเกลียดชัง... พัฒนาสู่ความรุนแรง

เพราะหลังจากห้วงเวลาดังกล่าว สังคมไทยได้รับรู้ถึงความรุนแรง ความโหดร้าย ความทารุณ จากเหตุการณ์การต่อสู้ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551, เมษายน 2552, และขั้นรุนแรง เหตุการณ์ที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนเมษายนต่อเนื่องพฤษภาคม 2553 จากนั้นการกระทบกระแทกกันของกลุ่มที่มีความเห็นต่างกันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่สังคมไทยต้องจ่าย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ กลับเป็นความสูญเสียของพี่น้องประชาชน

เวลา 7 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก มีทั้งดีและร้าย ส่วนสิ่งที่น่ายินดี คือ ประชาชนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นของตัวเอง และมีการแสดงออกมากขึ้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ในวาระครบรวบ 7 ปี 19 กันยายน 2549 "ชั่ว 7 ปี ดี 7 หน" สุขทุกข์ปะปนกันมา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นหลากหลายแง่มุม ทั้งมุมมองทางรัฐศาสตรร์ มุมมองภาคประชาชน และมุมมองทางประวัติศาสตร์การเมือง ได้พูดคุยกับคนหลายวงการ

อีกด้านหนึ่งของคนที่เจนจัดทางการเมืองในฐานะนักวิชาการอย่าง *ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์* นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ แสดงทรรศนะว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชนชั้นนำเก่า พวกอนุรักษนิยมและทหารกลับเมาสู่ระบบอำนาจอีกครั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม ทำให้การเมืองระบบรัฐสภาหยุดชะงักอย่างมากนับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ที่เป็นการแบกกันอย่างเด็ดขาดระหว่างกองทัพและระบบการเมือง

"ทว่าพลังของชนชั้นนำแบบเดิมอ่อนล้าลงไปมาก เนื่องจากระบอบการเมืองหลังจากปี 2549 ไม่มีประสิทธิภาพ และล้มเหลวเชิงนโยบายในการบริหารทางการเมืองและเศรษฐกิจแทบทุกเรื่อง ตอนนี้มีกระบวนการฟื้นฟูระบบรัฐสภาให้เข้มแข็งขึ้น ฉะนั้น หนทางรัฐสภาดูน่าจะเลวร้ายน้อยที่สุด" ศิโรตม์วิเคราะห์

ศิโรตม์กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดการเชิงสถาบันของทหารอย่างจริงจัง ในอนาคตรัฐประหารย่อมกระทำได้เสมอ เพราะทหารยังควบคุมบางอย่าง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ มีการแต่งตั้งโยกย้ายที่ตกลงกันเอง และกองทัพตั้งอยู่ในเขตหวงห้าม ปัจจัยดังกล่าวทำให้คิดได้ว่ารัฐประหาร สามารถทำได้

"รัฐประหารสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าหากความไม่มั่นคงของสถาบันหลัก การไม่เชื่อประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาหรือไม่ และนักการเมืองรังแกข้าราชประจำหรือไม่ นี่จึงเป็นตัวแปรสำคัญของการเกิดรัฐประหาร" ศิโรตม์ เผยอย่างท้อใจ


 

ณ ห้างสรรพสินค้าย่านลาดพร้าว หลังจากจัดแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันพุธ ในห้องพักรับรองสีแดงเข้ม *ธิดา ถาวรเศรษฐ* ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. มองว่าบทเรียนที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 เห็นได้ชัดว่าประชาชนไม่ได้เตรียมพร้อมว่ะเกิดการรัฐประหาร แต่ก็เกิดขึ้น จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องตระหนักว่าการยึดอำนาจนั้นเกิดขึ้นได้เสมอในสังคมไทย และฝายประชาชนเองต้องเตรียมพร้อมต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ให้เกิดในสังคมไทยได้อีก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ การรัฐประหารจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้อีกอย่างไร ในเมื่อประชาชนทั่วไปคิดว่ากระบวนการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำอย่างนี้สิ้นสุดลงอย่างราบคาบ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!

"ประเทศไทยเสียหายและเสียเวลานับ 10 ปี ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เพราะยังไม่มีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังนั้น เวลานี้ประเทศไทยเสียหายทุกด้าน อาจพูดได้ว่าเป็นประเทศที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" ธิดาแสดงทรรศนะถึงผลของเหตุการณ์ 19 กันยา

และบอกว่า ข้อดีของการรัฐประหารคือ ประชาชนระดับรากหญ้าตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดเป็นการต่อสู้ของคนเสื้อแดงขึ้นมา

แล้วถ้ามองจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 19 กันยายน เป็นต้นเหตุให้เกิดการพัฒนาแบบ "ถอยหลังลงคลอง" หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ยิงไปยัง *ผศ.ดร ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์* ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต

ธำรงศักดิ์ตอบสวนทันทีว่า เหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2549 คือ ความพยายามย้อนไปสู่ระบอบอำนาจนิยมเก่าของกลุ่มทหาร กลุ่มราชการประจำ รวมทั้งพวกอนุรักษนิยม เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดังนั้น จึงชี้ให้เห็นว่าความพยายามควบคุมอำนาจยังอยู่กับความคิดเดิมในการเมืองไทย

"ในทางการเมือง ทุกกลุ่มย่อมต้องรักษาอำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองไว้ แต่ทว่ากลับถูกทำให้เชื่อว่าทำไปเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น การทำรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนให้ตระหนักว่าอุปสรรคต่อประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่การโต้เถียงในรัฐสภา ไม่ใช่การประท้วงบนท้องถนน แต่อุปสรรคที่ขัดขวางประชาธิปไตย คือ กลุ่มทหาร และอำนาจนิยม" รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ฟันธงด้วยน้ำเสียงสุขุม

ด้วยวิถีทางแห่งความเป็นประชาธิปไตย ประดุจดั่งกระแสธารหลักซึ่งอานาอารยประเทศยอมรับนับถือ ประพฤติปฏิบัติกัน แล้วเพราะเหตุใด สังคมไทยยังคงมีอำนาจไม่ชอบธรรม เช่น การรัฐประหาร แล้วกระบวนการนี้จะหลอกหลอนสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหน คำตอบไม่อาจฟันธงได้ ตราบใดที่สังคมเรายังไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ให้ความเห็นต่อไปว่า การเมืองไทยอยู่ในระบบทหารมากกว่า 60 ปี การปลูกฝังค่านิยมของทหารได้ส่งทอดความใฝ่ฝันจากรุ่นสู่รุ่น ว่าการยึดอำนาจทำได้ตลอดเวลา โดยมักใช้ข้ออ้างของสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้ออ้างการคอร์รัปชั่น ข้ออ้างความไม่สามัคคี เมื่อสถานการณ์อยู่ในภาวะตึงเครียด ฝ่ายที่ใช้สถานการณ์นั้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อกระโจนสู่อำนาจ แต่เมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นไป คนเริ่มตระหนักแล้วว่าคนที่อยู่หลังฉากคือกลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และรักษาสถานะทางอำนาจของตัวเอง โดยแอบอ้างอุดมการณ์ปกป้องพิทักษ์ชาติ ทำเพื่อประโยชน์ของชาติไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต นิ่งคิดสักพัก ก่อนอธิบายว่า รัฐประหาร 2549 ทำให้คนฉุกคิดขึ้นได้ว่าสิ่งที่น่าจะตายจากสังคมไทยแล้วแต่ยังไม่ตาย ซ้ำร้ายยังพร้อมคืนชีพตลอดเวลา เหมือนผักตบชวาที่แม้จะเหี่ยวเฉาเหมือนใกล้ตาย แต่มันก็ไม่เคยหายไปเสียที

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต่างกรรมต่างวาระ เช่นในอดีตการยึดอำนาจทำได้ง่ายเพราะมีเครื่องมือสื่อสารไม่มาก จึงขาดพลังประชาชนในการขัดขวาง

ต่างจากปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารมีมากขึ้น ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ทำให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็ว

ฉะนั้น ปัจจัยนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือต่อต้านการรัฐประหารได้มากขึ้น หากมีคณะบุรุษ/สตรีผู้กล้าคิดจะได้อำนาจอย่างฉับพลัน โลกออนไลน์ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือ จะกลายเป็นคมดาบหันมาตัดตอนอุปสรรคซึ่งขัดขวางวิถีของระบอบประชาธิปไตย