ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซท์ InsideThaiGOV ได้เผยแพร่ ข้อความของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยเฉพาะการนำยางพารามาทำถนนลาดยางว่า “ปชป.เรียกร้องขึงขังให้รัฐบาลเอายางพารามาทำถนน...ก็ผมนี่แหละเป็นคนผลักดันเรื่องนี้คนแรก ปชป.เป็นรัฐบาลมากี่รอบกี่ปีไม่เคยเห็นทำ ผมอนุมัติงบไว้ 85 ล้านบาท ไปดูพื้นที่แล้วที่ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีฯ หลังปรับครม.มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เลยยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง งบประมาณเดิมยังอยู่ล่าสุดนายกฯสั่งการให้เร่งเดินหน้าแล้ว ฮั่นแน่ะ! ลอกความคิดเขาแล้วยังมาขู่เขาอีก น่ากลัวเชียว"
จากนั้นนายณัฐวุฒิ ยังโพสต์ข้อความโดยอ้างอิงสกู๊ปข่าวจากเว็บไซด์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 เรื่อง “ถนนนี้-ไม่ธรรมดา ถนน"ยางพารา"แข็งแรงทนทานมากกว่าถนนลาดยางมะตอย” ดังนี้
"ถนนยางพารา" สายแรกของประเทศไทย ที่กำลังพูดถึงกันในขณะนี้ เป็นไอเดีย ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับและกระตุ้นราคายางพาราในประเทศ
วิธีการหนึ่ง คือการใช้ยางพาราแทนยางมะตอย หรือเป็นส่วนผสมหลักในการปูผิวถนน
ณัฐวุฒิเผยว่า จะใช้ถนนหมู่ที่ 2 ต.เขาขาว อ.ทุ่งสง ตัดผ่านพื้นที่ขององค์การสวนยาง ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ ไปบรรจบถนนสายบ้านคอกช้าง ต.บางขัน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 19 กิโลเมตร นำร่อง
ใช้งบประมาณจากกรมวิชาการเกษตร 85.5 ล้านบาท และขอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท มาร่วมในขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 3-4 เดือน
หลังสร้างถนนเสร็จณัฐวุฒิบอกว่าจะจัดงาน World Rubber Expo บนถนนสายนี้ เพื่อแสดงผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติที่มาจากงานวิจัย และจากผู้ประกอบการ พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากทั่วโลกมาร่วมงาน
ตั้งเป้าให้เป็นเวทีเจรจาธุรกิจยางพาราที่มีกลุ่มผู้ประกอบการจากทั่วโลกในประเทศที่เกี่ยวข้องมาพบกัน คาดว่าจะเริ่มจัดงานได้ในปีหน้า
พลันที่ไอเดียถนนยางพาราแพร่ออกไป ก็มีเสียงขานรับจากชาวนครศรีธรรมราช อาทิ สมเกียรติ ชนะศรี ชาว ต.เขาขาว อ.ทุ่งสง อาชีพรับจ้างกรีดยางพารา เล่าว่า ใช้ถนนสายนี้มานานกว่า 30 ปี รับจ้าง กรีดยางให้กับองค์การสวนยาง
จากวันนั้นถึงวันนี้ถนนสายนี้ยังเหมือนเดิม ลำบากมากเวลาหน้าฝน ลูกๆ ไปโรงเรียนก็ลำบาก ได้ข่าวว่าจะสร้างถนนรู้สึกดีใจ เพราะเท่าที่ทราบ ทางองค์การสวนยางก็ขอรัฐบาลมาหลายสมัยแล้วแต่ไม่เคยได้
ขณะที่ วิรัตน์ เพชรเกลี้ยง พนักงานองค์การสวนยางกรุงหยัน กล่าวว่า อยู่ในพื้นที่นี้มาหลายปี ตั้งแต่เกิด หลับตาเดินรู้เลยว่าเป็นแบบไหน รู้สึกดีใจหากมีการสร้างถนนสายนี้จริงๆ จะทำให้เส้นทางการคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น การขนส่งสินค้าทางการเกษตรจะดีขึ้น
คนที่ใช้เส้นทางนี้มีหลากหลายอาชีพ พอฝนตกน้ำท่วมถนนก็จะพังต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาซ่อมแซม เมื่อปีที่แล้วน้ำท่วมถนนตั้งงบซ่อมยังไม่แล้วเสร็จน้ำท่วมถนนพังหมดอีก
คือเสียงสะท้อนอยากได้ถนนดีๆ ไว้สัญจรและไม่ต้องซ่อมบ่อยๆ
ถนนยางพาราน่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้
เพราะ "ยุทธ" ผู้รับเหมาทำถนนในภาคใต้มีคำตอบให้ว่า ถนนสายนี้ อาจจะดำเนินการก่อสร้างโดยใช้ยางข้นอัตรา 5% กับยางมะตอยแบบผสมร้อนแล้วนำไปราด
ถนนที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพารา จะมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าถนนราดยางมะตอยธรรมดาและยังทนต่อการเกิดร่องล้อได้ดีกว่าถนนที่ได้จากการใช้ยางมะตอยปกติ 2.9 เท่า ภาคใต้ดูเหมือนว่าจะมีการทดลองก่อสร้างแล้ว ในถนนสาย อ.หาดใหญ่-อ.เมืองสงขลา
"การราดถนนแบบผสมร้อน ผมได้เข้ารับการอบรมและศึกษาข้อมูลจากสถาบันวิจัยยาง พบว่า ถนนตามมาตรฐานซึ่งมีความหนา 5 หรือ 8 เซนติเมตร ใช้ยางพารา อัตรา 5% ของยางมะตอย จะใช้ปริมาณเนื้อยางแห้ง (ยางพารา) 0.305 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือประมาณ 2,745 กิโลกรัมต่อถนนขนาดสองช่องทางในระยะทาง 1 กิโลเมตร"
"แม้ค่าใช้จ่ายรวมจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10-17% ตามราคาของยางพารา แต่ความแข็งแรงทนทานของถนนที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน คาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐในการซ่อมแซมถนนได้ปีละหลายพันล้านบาท"
ยุทธอธิบายถึงความคงทนเชิงวิชาการของยางพาราผสมยางมะตอย
ขณะที่ สุวิทย์ รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ยืนยันจากประสบการณ์จริงว่า ใช้ยางพาราราดถนนหน้าสำนักงาน เพราะแต่ละวันจะมีรถเข้าออกนำยางพาราแผ่นมาขาย พ่อค้ายางก็มารับซื้อ ทั้งยางแผ่น ยางสด
จึงต้องมีถนนที่ทำเป็นพิเศษ เพื่อรองรับน้ำหนักรถทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้ การลงทุนทำถนนแบบนี้คุ้มมากๆ เพราะมีความเหนียวแน่น และรองรับน้ำหนักเป็นอย่างดี
"เพราะในน้ำยางสดจะมีน้ำผสมอยู่ด้วย 65% ยางธรรมชาติ มีคุณสมบัติที่ดี คือมีความคงตัวสูง ความยืดหยุ่นดี และทนความล้าดี ดังนั้น การใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ราดถนน สามารถช่วยปรับปรุงคุณสมบัติยางมะตอยให้ดีขึ้นได้ สามารถยืดอายุการใช้งานของถนนได้นานขึ้น" สุวิทย์กล่าว
และยังระบุว่า ในต่างประเทศก็ใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย
ในอนาคตหากมีการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนเพิ่มมากขึ้น นอกจากทำให้ถนนมีความทนทานมากขึ้นและอายุการใช้งานยาวนานขึ้นแล้ว
ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาถนนได้ค่อนข้างมาก และเป็นแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศมากขึ้น
นั่นคือความเห็นจากสุวิทย์ เป็นอีกเสียงที่สะท้อนถึงผลดีของการใช้ยางพาราทำถนน
เทคนิคที่จะใช้กับถนนยางพาราสายแรก จะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม
นอกจากจะส่งผลต่อราคาและความต้องการใช้ยางแล้ว
เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ใครๆ คงอยากนำรถไปซิ่งสัมผัสด้วยตนเองว่า จะนิ่มนวลแข็งแรงขนาดไหน