วิพากษ์...จ.ม.เปิดผนึก "ปชต.กับอนาธิปไตย"

มติชน 24 สิงหาคม 2556




หมายเหตุ - เสียงสะท้อนของนักวิชาการต่อกรณี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง ประชาธิปไตย กับ อนาธิปไตย (On Anarchy and Democracy)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์เสนอเป็นจดหมายเปิดผนึก พอเป็นจดหมายเปิดผนึกก็จะกลายเป็นว่าไม่ใช่ส่วนตัวของ อ.ชาญวิทย์กับคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ผมคิดว่า อ.ชาญวิทย์น่าจะมุ่งนำเสนอในทางสาธารณะด้วย และมองว่าสังคมมีความสำคัญกว่าคนที่ถูกจดหมายเปิดผนึก เพราะข้อความที่ อ.ชาญวิทย์เตือนก็คืออาจจะมีซ้ำรอย

เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาเกิดความยุ่งเหยิง สภาที่ให้ความน่าเชื่อถูกตกต่ำลง ในแง่นี้จะเป็นการเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกได้ ซึ่งนายชวนเองในฐานะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ควรจะต้องประคับประคอง ทำระบบรัฐสภา กลายเป็นพื้นที่ที่มีเหตุผล สำหรับการคุย ถกเถียงกันอยู่ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่ตอนนี้ใช้เหตุผลอะไรไม่ได้แล้ว ลำพังตัว อ.ชาญวิทย์ส่งจดหมายเปิดผนึกคงจะไม่มีพลังมาก

แต่ถ้าสังคมเห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะของ อ.ชาญวิทย์ ก็คงจะต้องช่วยกันทำหรือกดดัน ส.ส.ให้ทำอย่างไรให้อยู่กับร่องกับรอย ฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายเสียงข้างมากหรือฝ่ายเสียงข้างน้อย ต้องปรับให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย อย่างน้อยสภายังเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอยู่ และต้องยอมรับกฎเกณฑ์กติกาที่วางอยู่

การที่จะกลับไปเหมือนยุคที่มีการรัฐประหารอีก คงไม่ง่ายอีกต่อไป แต่มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าใครทำรัฐประหาร คงจะยุ่งยากมากขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอย่างมาก นอกจากบทเรียนในปี 2549 และตัวอย่างของต่างประเทศในขณะนี้ ซึ่งประเทศนั้นกำลังลุกเป็นไฟ ถ้าสมมุติว่าเราใช้อำนาจ โดยไม่คำนึงถึงความเห็นของประชาชน ความขัดแย้งจะรุนแรงมากขึ้นก็ได้



(จากซ้ายไปขวา) สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ตระกูล มีชัย, วิโรจน์ อาลี

ในระบบรัฐสภา ยังคงไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ ภายใต้ระบบการเมืองตอนนี้ ผมคิดว่าระบบรัฐสภา เป็นระบบที่มองเห็นเป็นที่จัดการความขัดแย้ง ของบรรดาความเห็นต่างในสังคม ไม่เลือกระบบแบบนี้ เราจะเลือกระบบแบบไหน ผมคิดว่าไม่มีทางเลือก

ถ้าฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยยังกังวลว่ามีการโกงกิน ฝ่ายเสียงข้างน้อยเองก็ต้องพยายามรณรงค์สังคมให้พรรคตัวเองได้รับการสนับสนุน เพียงแต่ว่าเสียงตอบสนองยังไม่มาเป็นเสียงทางการเมือง ฉะนั้นก็ต้องรณรงค์ต่อไปเรื่อยๆ สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในระยะยาว ผมคิดว่าระบบรัฐสภายังเป็นฐานที่มั่น แม้จะรัฐประหาร ก็ต้องรีบประกาศให้มีรัฐธรรมนูญ และให้มีการเลือกตั้ง

ตระกูล มีชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมไม่ได้วิจารณ์ข้อเขียนของ อ.ชาญวิทย์ แต่มองดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน สิ่งที่อาจารย์กล่าวถึงในจดหมายอาจจะถูกต้องในการเมืองในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดการรัฐประหาร นั่นเป็นห้วงเวลากาลหนึ่งในมิตินั้น

แต่ว่าข้อเขียนของ อ.ชาญวิทย์ ผมคิดว่าเอามาเปรียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามันเทียบไม่ได้ เพราะว่าการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ในกรณีนี้เป็นเกมของการต่อสู้คัดค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ในกระบวนการของการต่อสู้แบบนี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังจะต่อสู้บนวิถีทางรัฐสภา กฎเกณฑ์และกติกาในสภาเป็นเรื่องของการชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมกันอยู่ระหว่างการเมือง 2 ฝ่าย

เพราะฉะนั้นการจะตัดสินว่าใครถูก ผิด ใครยึดถือกฎเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร ผมคิดว่าตัดสินไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้เกมในการเล่น สังเกตได้ว่าการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ที่มีความดุเดือด เป็นเกมที่เผชิญกัน และใช้ทุกรูปแบบในการต่อสู้กัน พอหลังจากนั้นอีกวันหนึ่ง เกมการต่อสู้ก็เบาลง เพราะฉะนั้นหากจะตำหนิ ผมตำหนิทั้งระบบว่า คุณกำลังต่อสู้เอาชนะซึ่งกันและกัน

โดยกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับการประชุมนั้นก็เพียงแค่ข้อบังคับ ที่มีเอาไว้อ้างเพื่อเอาชนะกันเท่านั้นเอง ฉะนั้นผมจึงมองว่าการต่อสู้ และลักษณะการเมืองไทย เราจะพบหลายๆ ครั้งว่าการต่อสู้กันเชิงการเมืองมักจะใช้เทคนิคในการต่อสู้เพื่อจะมุ่งสู่จุดหมายของตัวเองกันทุกฝ่าย ผมมองอย่างนั้น ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ อ.ชาญวิทย์เขียนมาถึงคุณชวนจะมาเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

อนาธิปไตยมีหลายรูปแบบ ในยุคปัจจุบันก็อาจจะเกิดอนาธิปไตยรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของอนาธิปไตยของเสียงข้างมาก อนาธิปไตยของเสียงข้างน้อย คำว่าอนาธิปไตยคือการที่ไม่ยึดถือในกฎเกณฑ์กติกาที่มีอยู่ จะสังเกตได้ว่าในการเมืองแบบนี้ ผมคิดว่าแต่ละฝ่ายไม่มีใครยึดกฎเกณฑ์กันสักคนหนึ่ง

เพราะฉะนั้นถ้าจะตำหนิก็ตำหนิทั้งหมดทุกคนไม่ได้ยึดกฎเกณฑ์เลย คือทุกคนจะยึดกฎเกณฑ์ก็ต่อเมื่อสามารถเอากฎเกณฑ์นั้นมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายก็พยายามใช้สิ่งนี้ และสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกๆ ฝ่าย ณ เวลานั้น ผมคิดว่าทุกคนเห็นเหมือนกันหมด และวิพากษ์เหมือนกันหมดว่า ประมาณ พ.ศ.2548-2549 ที่เกิดปรากฏการณ์นี้ และทุกคนก็คิดว่าปรากฏการณ์นี้มันไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และทุกคนก็อ้างเหตุผลนี้ว่า กลัวว่ามันจะเกิดขึ้นมาอีก

จริงๆ แล้ว สภาผัวสภาเมียจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเผื่อทั้งผัวและเมีย หรือพี่หรือน้องมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง และมีความเป็นอิสระไม่เข้าฝักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ การเมืองบนพื้นฐานวัฒนธรรมทางการเมืองไทยก่อให้เกิดปัญหา เมื่อเกิดปัญหาเราก็เขียนกฎเกณฑ์กติกาป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา โดยวางกฎเกณฑ์และข้อห้ามเอาไว้ การเมืองไทยมีเรื่องแบบนี้ตลอดทุกที เมื่อมีปัญหาตรงนี้ เราก็จะวางกฎเกณฑ์แก้ไขตรงนี้ โดยมูลเหตุที่แท้จริงของเราทั้งหมด เกิดจากตัวพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองแต่ละคน แต่ละฝ่าย ที่พยายามที่จะหาช่องทาง หาช่องโหว่นั้น เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อเอาชนะทางการเมือง แค่นั้นเอง

นักการเมืองคิดในสิ่งที่ใกล้ตัวมากกว่าไกลตัว สิ่งที่ใกล้ตัวคือผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง สิ่งที่ไกลตัวคือผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์สาธารณะ


วิโรจน์ อาลี
รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เห็นด้วยกับจดหมายเปิดผนึกของนายชาญวิทย์ เพราะถือเป็นความห่วงใยต่อบ้านเมือง ซึ่งนายชาญวิทย์ได้สะท้อนมุมมองด้านประวัติศาสตร์ให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากรัฐสภายังมีความวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการที่สภาเกินความวุ่นวายขึ้นนั้น เพราะประชาธิปัตย์เลือกใช้เทคนิคเพื่อสร้างความขัดแย้ง ซึ่งไม่ส่งผลดี เพราะส่งผลให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในระบบรัฐสภา ที่ประชาธิปัตย์ทำอยู่ในขณะนี้ไม่ต่างอะไรกับการกระทำก่อนเดือนกันยายน ปี 2549 คือไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาก็ไม่รับ เช่น การบอยคอตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าขณะนี้ท่าทีของกองทัพยังไม่ถึงขั้นคิดการรัฐประหาร เพราะการเมืองยังไม่เข้มข้นขนาดนั้น

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ที่ฝ่ายค้านกลัวว่าจะกลับกลายเป็นสภาผัวเมียนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอย่างประชาธิปัตย์กล่าวหา แต่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหามากนัก เรื่องดังกล่าวต้องดูตามหลักการและเหตุผล หากสามารถก้าวพ้นเหตุผลทางการเมืองได้ ก็ไม่น่าจะมีอะไร และต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งนั้นยึดโยงกับประชาชนได้มากกว่า นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการสรรหา ส.ว.ด้วย แต่ต้องไม่ใช่การสรรหาของคนกลุ่มเล็กๆ อย่างไรก็เชื่อว่าสภาจะสามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาพของรัฐสภา ต้องมีการคุยกัน ถ้าไม่อย่างนั้นสภาในประเทศไทยจะกลับกลายเป็นเหมือนสภาในไต้หวัน ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย และเป็นอุปสรรคกับการพิจารณากฎหมายสำคัญในอนาคต สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นด้วยกับการแก้ไขทั้งฉบับ หรือไม่ก็กลับไปใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถือว่ามีความชอบธรรม


คลิกอ่าน ...ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร่อนจม.เปิดผนึกถึง"ชวน หลีกภัย" ชี้ภัยปลุกอนาธิปไตย มุ่งสู่"ยึดอำนาจ"


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คกับมติออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline