ข่าวสด
8 สิงหาคม 2556
นับแต่เช้าวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ก้าวเข้าสู่อีกบาทก้าว 1 ของกระบวนการต่อสู้ในทางการเมือง
แตกต่างไปจากยุคของ นายชวน หลีกภัย
ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ในการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินไปในลักษณะของ อีแอบ
เป็น แนวหลัง มิได้เป็น แนวหน้า
ขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในเดือนพฤษภาคม 2535 คลี่คลาย พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลังเลที่จะปล่อยทีเด็ดผ่านวาทกรรม
จำลองพาคนไปตาย
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กำชัยในการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2535 ในขอบเขตทั่วประเทศ กระทั่งได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับคำขวัญ
เราเชื่อมั่นระบบรัฐสภา
กล่าวสำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังยึดแนวทางหลักของพรรคอย่างมั่นแน่ว
เห็นได้จากการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหาร 2549
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการ ล้ม รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเต็มที่แต่ก็ดำเนินไปในแบบ แนวหลัง ตั้งใจหนุนช่วย
เป็นการช่วยในการ เติมคน
หรือเมื่อแพ้การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 และมีการต่อต้านรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 เป็นต้นมา ก็ยังยึดหลักซุ่มซ่อนยาวนานไม่แปรเปลี่ยน
กระทั่งได้เป็น รัฐบาล
ครั้นมาถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย ครานี้พรรคประชาธิปัตย์มิอาจครองความเยือกเย็นเอาไว้ได้
เมื่อปะเข้ากับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ตอนแรกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังกระมิดกระเมี้ยน ดำเนินการผ่าน เวทีผ่าความจริง ในต่างจังหวัด แต่ต่อมาก็รุกคืบเข้ามาในกทม.
เชิญชวน มวลชน เข้าร่วมอย่างเปิดเผย
วางเป้าหมายไม่เพียงแต่จะต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากแต่ยังมุ่งหวังถึงขั้นให้สถานการณ์นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ใช้ ม็อบ ใช้ มวลชน เป็น เครื่องมือ
พัฒนาการการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพัฒนาการอันควรศึกษา วิเคราะห์
หากพรรคประชาธิปัตย์สามารถระดม มวลชน เรือนแสนมาเป็นกระแสคลื่นสาดใส่จนล้มรัฐบาลลงได้ อาจกลายเป็นมิติใหม่ทางการเมือง มิติใหม่พรรคประชาธิปัตย์
คำถามอยู่ที่ว่า มวลชน จะเอาด้วยหรือไม่