นิวยอร์กไทมส์ชื่นชม 'ปู' แนะอียิปต์ปรองดอง ตามแนวทาง 'ยิ่งลักษณ์'

ข่าวสด 24 สิงหาคม 2556


นิวยอร์กไทมส์ชูแนวทาง'ปู'

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สื่อชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความชื่อ "อียิปต์จะเรียนรู้จากไทยได้หรือไม่?" เขียนโดยนายโจนาธาน เทปเปอร์แมน บรรณาธิการของนิตยสาร "ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส" ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ

นายเทปเปอร์แมนระบุในบทความดังกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลที่สามารถต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ในการเมืองไทย และพลิกสถานการณ์จากสภาวะความไม่สงบต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนประเทศไทยกลับมาดำรงเสถียรภาพได้ ต่างจากประเทศอียิปต์ยังอยู่ในวิกฤตวุ่นวายจากการเดินหน้าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล

นายเทปเปอร์แมนกล่าวว่า ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยเริ่มขึ้นจากรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพ กลุ่มนิยมสถาบัน และกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองที่พยายามพิทักษ์ระบอบ "กึ่งศักดินา" ในไทย กับฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในต่างจังหวัดและเขตเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ

ยุติรุนแรง-มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ

บทความระบุอีกว่า เกิดความวุ่นวายทางการเมืองมาตลอด จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90 ราย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชนะการเลือกตั้งในปีถัดมา ซึ่งผลที่ตามมาคือไทยพลิกกลับมาอยู่ในความสงบ เศรษฐกิจเติบโต และการท่องเที่ยวก็คึกคักอีกครั้ง โดยความสำเร็จของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาจากการปราบปรามพฤติกรรมทุจริต ต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม และมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 

โดยนายเทปเปอร์แมนมองว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์เริ่มแผนการช่วยเหลือคนจนในประเทศจากการสร้างเสถียรภาพก่อน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีรถคันแรก ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ทำให้ชนชั้นล่างและกลางพอใจ ขณะเดียวกันก็ลงทุนด้านสาธารณูปโภคและลดภาษี เพื่อเอาใจกลุ่มธุรกิจและคนร่ำรวย

"นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยไม่แตะต้องกองทัพซึ่งมีบทบาทในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ชนชั้นสูงต่อต้านกลับมายังประเทศ ไทยเช่นกัน"

ยอมต่อรองเพื่อความสงบ

ผู้เขียนระบุด้วยว่า การยอมต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ทำให้อำนาจไม่เป็นประชาธิป ไตยเข้ามาจำกัดบทบาทของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลก็ยอมให้มีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ด้านครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ต่างไม่พอใจเพราะเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จริงจังในการดำเนินคดีกับผู้สั่งการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกระทบที่ย่ำแย่

นายเทปเปอร์แมนวิเคราะห์ว่า แต่สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่มีการต่อสู้กันบนท้องถนน ประเทศไทยก็มีโอกาสพัฒนาประชาธิป ไตยในระยะยาวได้ต่อไป
"ความไม่สมบูรณ์ของการต่อรองครั้งใหญ่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์สะท้อนว่าเป็นการต่อรองที่ดี เพราะแสดงว่าทุกคนรู้สึกว่าตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งก็แปลว่าไม่มีใครได้สิ่งที่ตัวเองต้องการทุกอย่าง" นายเทปเปอร์แมนระบุ

ชี้เป็นความยุ่งยากที่'อียิปต์'ฝันถึง

บ.ก.ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส สรุปว่า ถึงแม้การต่อรองนี้เป็นสันติภาพที่เปราะบาง เพราะอาจเกิดความวุ่นวายได้หากพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับไทย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศเพิ่มพูนขึ้นกว่านี้ แต่ก็ยังดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะเดินหน้าชนกับฝ่ายตรงข้ามท่าเดียว

"แน่นอนว่าการต่อรองนี้มีความยุ่งยากอยู่ แต่ก็เป็นความยุ่งยากที่ประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์ เวเนซุเอลา ซิมบับเว ได้แต่ฝันถึงในขณะนี้" นายเทปเปอร์แมนสรุป