ปูเปิดเกมใหม่ ปฏิรูปการเมือง

ข่าวสด 4 สิงหาคม 2556



บรรยากาศการเมืองเดือนส.ค. ต้องจับตากันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง

บู๊ล้างผลาญแบบเลือดท่วมจอหรือ หักมุม จบแบบไม่มีอะไรในกอไผ่

มีสิทธิ์ออกได้ทั้งสองหน้า

โดยเฉพาะการชุมนุมม็อบแช่แข็ง ภาค 2 ที่ออกแนว "เลื่อนลอย" ผิดปกติวิสัยม็อบทั่วไป แกนนำแจ้งนัดหมายเวลาและสถานที่ล่วงหน้าแค่ 1 วันก่อนการชุมนุมจะเริ่ม

ถึงรัฐบาลจะวางตนบนความไม่ประมาท ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ 3 เขต ได้แก่ เขตพระนคร ดุสิต และป้อมปราบ ศัตรูพ่าย

เขตที่ตั้งสถานที่สำคัญทั้งทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และเขตพระราชฐาน กำหนดระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 10 ส.ค. ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 224 กองร้อย เข้าประจำจุดเสี่ยง 11 จุดในพื้นที่ 3 เขต

จนทำให้ดูเหมือนรัฐบาลตกใจกับม็อบแช่แข็งเกินกว่าเหตุ

แต่เบื้องหลังการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อรับมือสถานการณ์ม็อบ ต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังจะสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ 7 ส.ค.

ตามรายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทีมยุทธศาสตร์เพื่อไทยและทีมงานฝ่ายความมั่นคง

ดูเหมือนว่าม็อบแช่แข็งไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้รัฐบาลมากเท่ากับความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์

เหมือนอย่างที่ "จับกัง 1" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ใช้คำว่าเปิดหน้าเล่น จัดเต็มจัดหนัก แตกเป็นแตก หักเป็นหัก ตายเป็นตาย เตรียมนกหวีดกันทั้งพรรค

แค่รอเวลาเป่าปรี๊ด

ข้อวิเคราะห์ของ "จับกัง 1" ตรงกับที่ทีมงานการเมืองและฝ่ายความมั่นคงประเมินไว้ ว่าหากลำพังม็อบ แช่แข็งหรือต่อให้มีกลุ่มหน้ากากเข้ามาสมทบ

ผู้ร่วมชุมนุมน่าจะอยู่แค่หลักพัน

ตัวแปรหนักเบาแท้จริงอยู่ที่มวลชนภาคการเมืองมากกว่า ถ้าหากมีการเกณฑ์กันเข้ามาจริงๆ น่าจะทะลุหลักหมื่นไปจนถึงหลายหมื่น

เพราะแค่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ร้อยละ 80 เป็นเขตอิทธิพลการเมืองของประชาธิปัตย์ทั้งส.ข. ส.ก. และส.ส. ไม่รวมผู้ว่าฯ กทม.

ไอแค็กเดียวก็มากันเกิน 5,000 คน

แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า การที่ประชาธิปัตย์เปิดหน้าเล่น รัฐบาลก็น่าจะสบายใจได้ เพราะศัตรูในที่สว่างย่อมอันตรายน้อยกว่าศัตรูในมุมมืด

อย่างไรก็ตามในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยัง "ไม่นิ่ง" เหมือนกัน

โฟกัสไปยังท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคที่เคยประกาศลุยต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย ทั้งในสภาและนอกสภา

เป้าหมายวันที่ 7 ส.ค. สภาผู้แทนฯ จะประชุมพิจารณาร่างวาระแรก

แต่ล่าสุดบนเวทีผ่าความจริง พุธที่ผ่านมา นายสุเทพกล่าวปราศรัยกึ่งรุกกึ่งถอยว่า

จะขอสู้ในสภาวันที่ 7 ส.ค.นี้ก่อน และตามไปสู้ในชั้นกรรมาธิการวาระ 2 โดยจะแปรญัตติทุกมาตรา ทุกตัวอักษร

จากนั้นก็จะกลับมาสู้ในสภาวาระ 3 อีกที ซึ่งก็คงจะแพ้อีก ถึงวันนั้นจะร่วมเป่านกหวีดยาว ช่วงระหว่างนี้ขอให้ประชาชนมาชุมนุมเลี้ยงกระแสไว้ก่อน

"มีคนเสนอว่าหากแก้ในสภาวาระ 3 ขอให้ร่วมหยุดงานกันทั้งประเทศ ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาลนี้อีกต่อไป"

จับสัญญาณผ่านนายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมเล่นเกมแตกหัก

ส่วนอะไรเป็นสาเหตุให้เปลี่ยนจังหวะเล่น มีความเป็นไปได้หลายอย่าง

อย่างแรกคือจากการหยั่งกระแสผ่านเวทีผ่าความจริง พบว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอ

ประชาชนยังไร้อารมณ์ร่วมในการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถึงอย่างไรร่างกฎหมายก็ยังอยู่ในขั้นสภาพิจารณารับหลักการวาระแรก

เนื้อหาก็ชัดเจนว่ามุ่งนิรโทษกรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองทุกสีทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ยกเว้นแกนนำระดับสั่งการจะไม่ได้รับอานิสงส์จากพ.ร.บ. ดังกล่าว

การออกมาปลุกระดมเคลื่อนไหวกล่าวหารัฐบาลจงใจผลักดันกฎหมายล้างผิดให้ "นายใหญ่" จึงถูกมองเป็นเรื่องของกระต่ายตื่นตูม

อีกทั้งการประกาศนำม็อบเคลื่อนไหว "นอกสภา"

ยังทำให้เกิดกระแสดีดกลับกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคอย่างรุนแรง สวนทางวาทกรรม "พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" เข้าอย่างจัง

ส่วนความคิดที่ว่าหากปลุกระดมคนออกมาได้มากๆ แล้วจะเป็นเงื่อนไขให้ทหารเข้ามา "แทรกแซงการเมือง" เหมือนเมื่อปี 2549

ขนาดแกนนำพันธมิตรฯ ก็ยังไม่เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

เพราะทหารที่ผ่านมาได้รับบทเรียนมามากจากการร่วมวงโอบอุ้มพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้ตนเองต้องตกเป็นจำเลยร่วมของสังคม โดยเฉพาะ ในเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะบานปลายถึงระดับใด

เป็นฝ่ายรัฐบาลที่ชิงจังหวะเปิดเกมเล่นใหม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เปิดแถลง "ข้อเสนอทางออกประเทศไทย" ถ่ายทอดผ่านทีวีพูลไปทั่วประเทศ เหมือนจงใจให้เป็น "วาระแห่งชาติ"

เนื้อหาใจความสำคัญคือการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นตัวแทนกลุ่มบุคคล

ทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ

มาร่วมโต๊ะพูดคุย "ออกแบบประชา ธิปไตยของประเทศไทย" หาทางออกให้อนาคตของประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง

ในการแถลง นายกฯ ยังกล่าวว่า น่าเสียใจที่สุดคือการที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ถึงจะเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่การแสดงออกกลับมีท่าทีที่ไม่ยอม รับกติกาของประชาธิปไตย

มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหารและใช้ความรุนแรง

ถึงจะไม่มีการเอ่ยชื่อว่าหมายถึงม็อบแช่แข็งหรือหมายถึงพรรคการเมืองใด

แต่ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองนำพาประเทศชาติออกจากความขัดแย้งครั้งนี้

จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า

ใครคือฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า

และใครคือตัวถ่วงประเทศที่แท้จริง